สารบาญ | ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
(ฉบับปรับปรุงล่าสุด พ.ศ. ๒๕๖๔)

----------------------------------

✅✅✅โปรดคลิกที่มาตราเพื่อดูรายละเอียด
                                                                                                            
ภาค 1 บททั่วไป

     ลักษณะ 2 ศาล
     ลักษณะ 5 พยานหลักฐาน
     ลักษณะ 6 คำพิพากษาและคำสั่ง
          หมวด 3 ค่าฤชาธรรมเนียม

ภาค 2 วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น

     ลักษณะ 2 วิธีพิจารณาวิสามัญในศาลชั้นต้น
          หมวด 2 การพิจารณาโดยขาดนัด
          หมวด 4 การดำเนินคดีแบบกลุ่ม                                                              

ภาค 3 อุทธรณ์และฎีกา


ภาค 4 วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาและการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง

     ลักษณะ 1 วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา
     ลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง
          หมวด 1 หลักทั่วไป                                                                    
               ส่วนที่ 5 การขอให้ศาลไต่สวนเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สิน
                             ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา มาตรา 277
          หมวด 2 การบังคับคดีในกรณีที่เป็นหนี้เงิน                                          
               ส่วนที่ 6 สิทธิของบุคคลภายนอกและผู้มีส่วนได้เสีย
               ส่วนที่ 9 การตั้งผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์หรือการประกอบกิจการ
               ส่วนที่ 1 การบังคับคดีในกรณีที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา
                             ต้องออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย
               ส่วนที่ 2 การบังคับคดีในกรณีที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา
                             ต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ไม้ยืนต้น ไม้ล้มลุกหรือธัญชาติ
                             หรือขนย้ายทรัพย์สิน ออกไปจากอสังหาริมทรัพย์
          หมวด 7 การบังคับคดีในกรณีที่ขอให้ศาลสั่งจับกุม

          ค่าธรรมเนียมศาลและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี


-------------------------------

พระราชบัญญัติ
ให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พุทธศักราช 2477
-------------------------

ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร
ลงวันที่ 7 มีนาคม พุทธศักราช 2477)
อนุวัตน์จาตุรนต์
อาทิตย์ทิพอาภา
เจ้าพระยายมราช
ตราไว้ ณ วันที่ 15 มิถุนายน พุทธศักราช 2478
เป็นปีที่ 2 ในรัชกาลปัจจุบัน


               โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรที่จะยกเลิกบรรดากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งต่าง ๆ ที่ใช้อยู่ ณ บัดนี้ และให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแทน

               จึ่งมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดั่งต่อไปนี้

               มาตรา 1  พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พุทธศักราช 2477”

               มาตรา 2  ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

               มาตรา 3  ให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งตามที่ได้ตราไว้ต่อท้ายพระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พุทธศักราช 2478 เป็นต้นไป
               บทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้ให้ใช้ในศาลทั่วไปตลอดราชอาณาจักร ยกเว้นแต่ในศาลพิเศษที่มีข้อบังคับสำหรับศาลนั้น และถ้ามีกฎหมายให้ใช้ธรรมเนียมประเพณีหรือกฎหมายทางศาสนาในศาลใด ให้ศาลนั้นยกธรรมเนียมประเพณีหรือกฎหมายนั้น ๆ มาใช้แทนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ เว้นแต่คู่ความจะได้ตกลงกันให้ใช้ประมวลกฎหมายนี้
               บทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้ ให้ใช้บังคับแก่คดีความทั้งปวงซึ่งค้างชำระอยู่ในศาลเมื่อวันใช้ประมวลกฎหมายนี้ หรือที่ได้ยื่นต่อศาลภายหลังวันนั้น ไม่ว่ามูลคดีจะได้เกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันใช้นั้น

               มาตรา 4  ตั้งแต่วันใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนี้สืบไป ให้ยกเลิกบรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในประมวลกฎหมายนี้ หรือซึ่งแย้งกับบทแห่งประมวลกฎหมายนี้

               มาตรา 5  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจออกกฎกระทรวง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในเรื่องต่อไปนี้
               (1) จัดวางระเบียบทางธุรการในเรื่องเจ้าพนักงานบังคับคดี รวมทั้งการกำหนดค่าธรรมเนียม นอกจากที่ระบุไว้ในตาราง 5 ท้ายประมวลกฎหมายนี้ ตลอดจนการชดใช้ค่าใช้จ่ายให้บุคคลเหล่านั้น
               (2) จัดวางระเบียบทางธุรการในเรื่องการยึดและอายัด และการจำหน่ายทรัพย์สินเป็นตัวเงินโดยวิธีขายทอดตลาดหรือโดยวิธีอื่น และในเรื่องวิธีการบังคับคดีทางอื่น ๆ ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะพึงปฏิบัติ
               กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

               มาตรา 6  ให้ประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมมีอำนาจออกข้อบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในเรื่องต่อไปนี้
               (1) การแต่งตั้ง การระบุตัว และการสาบานของล่าม ผู้แปล และผู้เชี่ยวชาญการกำหนดจำนวนค่าป่วยการ และการชดใช้ค่าใช้จ่ายให้บุคคลเหล่านั้น
               (2) จัดวางระเบียบทางธุรการในเรื่องเจ้าพนักงานศาล รวมทั้งการกำหนดค่าธรรมเนียมนอกจากที่ระบุไว้ในตาราง 5 ท้ายประมวลกฎหมายนี้ ตลอดจนการชดใช้ค่าใช้จ่ายให้บุคคลเหล่านั้น
               (3) จัดวางระเบียบทางธุรการในเรื่องการเก็บรักษาและการทำลายสารบบความ สารบบคำพิพากษา สมุดคำพิพากษา และสารบบอื่น ๆ ของศาล ตลอดจนสำนวนความทั้งหลาย
               (4) จัดวางระเบียบทางธุรการในเรื่องการยื่นเอกสารต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของศาล เพื่อยื่นต่อศาลหรือเพื่อส่งให้แก่คู่ความหรือบุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง และในเรื่องการขอร้องด้วยวาจาเพื่อให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีมโนสาเร่
               (5) จัดวางระเบียบทางธุรการในเรื่องที่คู่ความฝ่ายหนึ่งจะส่งต้นฉบับเอกสารไปยังอีกฝ่ายหนึ่ง
               ข้อบังคับนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

     ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา
                นายกรัฐมนตรี
----------------------------


พระราชบัญญัติ
ให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 2)
พ.ศ. 2543
-------------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2543
เป็นปีที่ 55 ในรัชกาลปัจจุบัน

               พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

               โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พุทธศักราช 2477

               พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 31 และมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

               จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

               มาตรา 1  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543”

               มาตรา 2  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

               มาตรา 3  ให้ยกเลิกความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พุทธศักราช 2477 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
               “มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจออกกฎกระทรวง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในเรื่องต่อไปนี้
               (1) จัดวางระเบียบทางธุรการในเรื่องเจ้าพนักงานบังคับคดี รวมทั้งการกำหนดค่าธรรมเนียมนอกจากที่ระบุไว้ในตาราง 5 ท้ายประมวลกฎหมายนี้ ตลอดจนการชดใช้ค่าใช้จ่ายให้บุคคลเหล่านั้น
               (2) จัดวางระเบียบทางธุรการในเรื่องการยึดและอายัด และการจำหน่ายทรัพย์สินเป็นตัวเงินโดยวิธีขายทอดตลาดหรือโดยวิธีอื่น และในเรื่องวิธีการบังคับคดีทางอื่น ๆ ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะพึงปฏิบัติ
               กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้”

               มาตรา 4  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พุทธศักราช 2477
               “มาตรา 6 ให้ประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมมีอำนาจออกข้อบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในเรื่องต่อไปนี้
               (1) การแต่งตั้ง การระบุตัว และการสาบานของล่าม ผู้แปล และผู้เชี่ยวชาญ การกำหนดจำนวนค่าป่วยการ และการชดใช้ค่าใช้จ่ายให้บุคคลเหล่านั้น
               (2) จัดวางระเบียบทางธุรการในเรื่องเจ้าพนักงานศาล รวมทั้งการกำหนดค่าธรรมเนียมนอกจากที่ระบุไว้ในตาราง 5 ท้ายประมวลกฎหมายนี้ ตลอดจนการชดใช้ค่าใช้จ่ายให้บุคคลเหล่านั้น
               (3) จัดวางระเบียบทางธุรการในเรื่องการเก็บรักษาและการทำลายสารบบความ สารบบคำพิพากษา สมุดคำพิพากษา และสารบบอื่น ๆ ของศาล ตลอดจนสำนวนความทั้งหลาย
               (4) จัดวางระเบียบทางธุรการในเรื่องการยื่นเอกสารต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของศาล เพื่อยื่นต่อศาลหรือเพื่อส่งให้แก่คู่ความหรือบุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง และในเรื่องการขอร้องด้วยวาจาเพื่อให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีมโนสาเร่
               (5) จัดวางระเบียบทางธุรการในเรื่องที่คู่ความฝ่ายหนึ่งจะส่งต้นฉบับเอกสารไปยังอีกฝ่ายหนึ่ง
               ข้อบังคับนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้”

               มาตรา 5  บรรดากฎกระทรวงซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พุทธศักราช 2477 ที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปโดยอนุโลมเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พุทธศักราช 2477 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะมีกฎกระทรวงหรือข้อบังคับที่ตราขึ้นใหม่ใช้บังคับแทน

               มาตรา 6  ให้ประธานศาลฎีกาและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
         นายชวน หลีกภัย
           นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 275 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมกำหนดให้สำนักงานศาลยุติธรรมเป็นหน่วยงานธุรการอิสระของศาลยุติธรรม แต่มิได้กำหนดให้กรมบังคับคดีเป็นหน่วยงานธุรการของศาลยุติธรรม กรมบังคับคดีจึงยังอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงยุติธรรม ดังนั้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พุทธศักราช 2477 ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของประธานศาลฎีกาและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
--------------------

พระราชบัญญัติ
ให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 3)
พ.ศ. 2558
---------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2558
เป็นปีที่ 70 ในรัชกาลปัจจุบัน

               พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

               โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พุทธศักราช 2477

               จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

               มาตรา 1  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558”

               มาตรา 2  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

               มาตรา 3  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (1/1) ของมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พุทธศักราช 2477 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543)
               “1/1) การกำหนดจำนวนค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเช่าที่พัก ของพยานที่ศาลเรียกมา"

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
           นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันยังมิได้มีการกำหนดค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเช่าที่พักของพยานที่ศาลเรียกมาให้ความเห็นต่อศาล ทั้งที่ความเห็นของพยานที่ศาลเรียกมานั้นเป็นประโยชน์ต่อคู่ความทุกฝ่าย ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงสมควรกำหนดค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเช่าที่พักของพยานที่ศาลเรียกมาให้ความเห็นต่อศาลให้เกิดความชัดเจนและเป็นธรรม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
----------------------