หมวด 5 รายงานและสำนวนความ

-------------------------

               มาตรา 46  บรรดากระบวนพิจารณาเกี่ยวด้วยการพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีแพ่งทั้งหลายซึ่งศาลเป็นผู้ทำนั้น ให้ทำเป็นภาษาไทย
               บรรดาคำคู่ความและเอกสารหรือแผ่นกระดาษไม่ว่าอย่างใด ๆ ที่คู่ความหรือศาลหรือเจ้าพนักงานศาลได้ทำขึ้นซึ่งประกอบเป็นสำนวนของคดีนั้น ให้เขียนเป็นหนังสือไทยและเขียนด้วยหมึกหรือดีดพิมพ์หรือตีพิมพ์ ถ้ามีผิดตกที่ใดห้ามมิให้ขูดลบออก แต่ให้ขีดฆ่าเสียแล้วเขียนลงใหม่ และผู้เขียนต้องลงชื่อไว้ที่ริมกระดาษ ถ้ามีข้อความตกเติมให้ผู้ตกเติมลงลายมือชื่อ หรือลงชื่อย่อไว้เป็นสำคัญ
               ถ้าต้นฉบับเอกสารหรือแผ่นกระดาษไม่ว่าอย่างใด ๆ ที่ส่งต่อศาลได้ทำขึ้นเป็นภาษาต่างประเทศ ให้ศาลสั่งคู่ความฝ่ายที่ส่งให้ทำคำแปลทั้งฉบับหรือเฉพาะแต่ส่วนสำคัญ โดยมีคำรับรองมายื่นเพื่อแนบไว้กับต้นฉบับ
               ถ้าคู่ความฝ่ายใดหรือบุคคลใดที่มาศาลไม่เข้าใจภาษาไทยหรือเป็นใบ้หรือหูหนวกและอ่านเขียนหนังสือไม่ได้ ให้ให้คู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องจัดหาล่าม

               มาตรา 47  ถ้าคู่ความหรือบุคคลใดยื่นใบมอบอำนาจต่อศาล ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้คู่ความหรือบุคคลนั้น ให้ถ้อยคำสาบานตัวว่าเป็นใบมอบอำนาจอันแท้จริง
               ถ้าศาลมีเหตุอันควรสงสัยว่า ใบมอบอำนาจที่ยื่นนั้นจะไม่ใช่ใบมอบอำนาจอันแท้จริงก็ดี หรือเมื่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยื่นคำร้องแสดงเหตุอันควรสงสัยว่าใบมอบอำนาจนั้นจะมิใช่ใบมอบอำนาจอันแท้จริงก็ดี ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้คู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้นยื่นใบมอบอำนาจตามที่บัญญัติไว้ต่อไปนี้
               ถ้าใบมอบอำนาจนั้นได้ทำในราชอาณาจักรสยามต้องให้นายอำเภอเป็นพยาน ถ้าได้ทำในเมืองต่างประเทศที่มีกงสุลสยาม ต้องให้กงสุลนั้นเป็นพยาน ถ้าได้ทำในเมืองต่างประเทศที่ไม่มีกงสุลสยาม ต้องให้บุคคลเหล่านี้เป็นพยานคือเจ้าพนักงานโนตารีปับลิกหรือแมยิสเตร็ด หรือบุคคลอื่นซึ่งกฎหมายแห่งท้องถิ่นตั้งให้เป็นผู้มีอำนาจเป็นพยานในเอกสารเช่นว่านี้ และต้องมีใบสำคัญของรัฐบาลต่างประเทศที่เกี่ยวข้องแสดงว่าบุคคลที่เป็นพยานนั้นเป็นผู้มีอำนาจกระทำการได้
               บทบัญญัติแห่งมาตรานี้ให้ใช้บังคับแก่ใบสำคัญและเอกสารอื่น ๆ ทำนองเช่นว่ามานี้ ซึ่งคู่ความจะต้องยื่นต่อศาล

               มาตรา 48  ในคดีทุกเรื่อง ให้เป็นหน้าที่ของศาลต้องจดแจ้งรายงานการนั่งพิจารณาหรือกระบวนพิจารณาอื่น ๆ ของศาลไว้ทุกครั้ง
               รายงานนั้นต้องมีรายการต่อไปนี้
               (1) เลขคดี
               (2) ชื่อคู่ความ
               (3) สถานที่ วัน และเวลาที่ศาลนั่งพิจารณาหรือดำเนินกระบวนพิจารณา
               (4) ข้อความโดยย่อเกี่ยวด้วยเรื่องที่กระทำและรายการข้อสำคัญอื่น ๆ
               (5) ลายมือชื่อผู้พิพากษา
               เมื่อมีกฎหมายบัญญัติไว้หรือเมื่อศาลเห็นเป็นการจำเป็นก็ให้ศาลจดบันทึก (โดยจดรวมไว้ในรายงานพิสดารหรืออีกส่วนหนึ่งต่างหาก) ซึ่งคำแถลงหรือคำคัดค้านในข้อสำคัญข้อตกลง คำชี้ขาด คำสั่ง หรือการอื่น ๆ หรือกระบวนพิจารณาที่ทำด้วยวาจาตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้

               มาตรา 49  ในส่วนที่เกี่ยวด้วยคำแถลงหรือคำคัดค้านของคู่ความ หรือคำให้การของพยานหรือผู้เชี่ยวชาญหรือข้อตกลงในการสละสิทธิของคู่ความนั้น ให้ถือว่ารายงานของศาลเป็นพยานหลักฐานเบื้องต้นได้ต่อเมื่อศาลได้อ่านให้คู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องฟังและได้จดลงไว้ซึ่งข้อแก้ไขเพิ่มเติมตามที่ขอร้องหรือที่ชี้แจงใหม่ ทั้งคู่ความหรือบุคคลนั้น ๆ ได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ

               มาตรา 50  ถ้าคู่ความฝ่ายใด หรือบุคคลใดจะต้องลงลายมือชื่อในรายงานใดเพื่อแสดงรับรู้รายงานนั้น หรือจะต้องลงลายมือชื่อในเอกสารใดเพื่อรับรองการอ่านหรือการส่งเอกสารเช่นว่านั้น
               (1) การลงลายมือ พิมพ์นิ้วมือ แกงได หรือเครื่องหมายอย่างอื่นที่ได้ทำต่อหน้าศาลนั้น ไม่จำต้องมีลายมือชื่อของพยานสองคนรับรอง
               (2) ถ้าคู่ความ หรือบุคคลที่จะต้องลงลายมือชื่อในรายงานดังกล่าวแล้ว ลงลายมือชื่อไม่ได้ หรือไม่ยอมลงลายมือชื่อ ให้ศาลทำรายงานจดแจ้งเหตุที่ไม่มีลายมือชื่อเช่นนั้นไว้แทนการลงลายมือชื่อ

               มาตรา 51  ให้เป็นหน้าที่ของศาลที่จะปฏิบัติดังนี้
               (1) ลงทะเบียนคดีในสารบบความของศาลตามลำดับที่รับไว้ กล่าวคือ ตามวันและเวลาที่ยื่นหรือเสนอคำฟ้องเพื่อเริ่มคดีต่อศาล ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้
               (2) ลงทะเบียนคำพิพากษา หรือคำสั่งชี้ขาดคดีทั้งหมดของศาลในสารบบคำพิพากษา
               (3) รวบรวมรายงานและเอกสารที่ส่งต่อศาลหรือศาลทำขึ้น กับคำสั่งและคำพิพากษาของศาล ไว้ในสำนวนความเรื่องนั้น แล้วเก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัย
               (4) คัดสำเนาคำพิพากษา คำสั่งชี้ขาดคดี แล้วเก็บรักษาไว้เรียงตามลำดับและในที่ปลอดภัย
               (5) เก็บรักษาสารบบและสมุดของศาล เช่นสารบบความและสารบบคำพิพากษาไว้ในที่ปลอดภัย
               การจัดทำสารบบความหรือสารบบคำพิพากษา การรวบรวมเอกสารในสำนวนความ และการเก็บรักษาสำเนาคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีตามวรรคหนึ่ง (1) (2) (3) (4) และ (5) อาจกระทำในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ และให้ถือว่าสิ่งพิมพ์ออกของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวที่รับรองโดยวิธีการที่ศาลกำหนดเป็นสำเนาสารบบความหรือสารบบคำพิพากษา หรือเป็นสำเนาเอกสารในสำนวนความ แล้วแต่กรณี และให้ใช้แทนต้นฉบับได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และเมื่อข้อกำหนดนั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

               มาตรา 52  เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งอันเป็นเด็ดขาดถึงที่สุดแล้วเรื่องใดได้มีการปฏิบัติตาม หรือบังคับไปแล้ว หรือระยะเวลาที่กำหนดไว้เพื่อการบังคับนั้นได้ล่วงพ้นไปแล้ว ให้ศาลที่เก็บสำนวนนั้นไว้ จัดส่งสำนวนนั้นไปยังกระทรวงยุติธรรม เพื่อเก็บรักษาไว้หรือจัดการตามกฎกระทรวงว่าด้วยการนั้น

               มาตรา 53  ถ้ารายงาน คำพิพากษา คำสั่งหรือเอกสารอื่นใดที่รวมไว้ในสำนวนความซึ่งยังอยู่ในระหว่างพิจารณา หรือรอการบังคับของศาลสูญหายไป หรือบุบสลายทั้งหมดหรือแต่บางส่วน เป็นการขัดข้องต่อการชี้ขาดตัดสินหรือบังคับคดีเมื่อศาลเห็นสมควร หรือเมื่อคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ให้ศาลสั่งคู่ความหรือบุคคลผู้ถือเอกสารนั้น นำสำเนาที่รับรองถูกต้องมาส่งต่อศาล ถ้าหากสำเนาเช่นว่านั้นทั้งหมดหรือบางส่วนหาไม่ได้ ให้ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีนั้นใหม่ หรือมีคำสั่งอย่างอื่นตามที่เห็นสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

               มาตรา 54  คู่ความก็ดี หรือพยานในส่วนที่เกี่ยวกับคำให้การของตนในคดีนั้นก็ดี หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียโดยชอบหรือมีเหตุผลอันสมควรก็ดี อาจร้องขออนุญาตต่อศาลไม่ว่าเวลาใดในระหว่าง หรือภายหลังการพิจารณาเพื่อตรวจเอกสารทั้งหมดหรือแต่บางฉบับในสำนวนเรื่องนั้น หรือขอคัดสำเนา หรือขอให้จ่าศาลคัดสำเนาและรับรอง แต่ทั้งนี้
               (1) ห้ามมิให้อนุญาตเช่นว่านั้นแก่บุคคลอื่นนอกจากคู่ความหรือพยานในคดีที่พิจารณาโดยไม่เปิดเผย หรือในคดีที่ศาลได้มีคำสั่งห้ามการตรวจหรือคัดสำเนาเอกสารในสำนวนทั้งหมดหรือบางฉบับเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือผลประโยชน์ทั่วไปของประชาชน ถึงแม้ผู้ขอจะเป็นคู่ความหรือพยานก็ห้ามมิให้อนุญาตดุจกัน แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิของคู่ความในการที่จะตรวจหรือคัดสำเนาคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้น หรือในการที่จะขอสำเนาอันรับรองถูกต้อง
               (2) ห้ามมิให้อนุญาตให้คู่ความคัดถ้อยคำพยานฝ่ายตนจนกว่าจะได้สืบพยานฝ่ายตนเสร็จสิ้นแล้ว เว้นแต่จะมีพฤติการณ์พิเศษที่จะให้อนุญาต
               เมื่อได้ให้อนุญาตแล้ว การตรวจ หรือการคัดสำเนานั้น ให้ผู้ขอหรือบุคคลซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากผู้ขอโดยชอบเป็นผู้คัดตามเวลาและเงื่อนไขซึ่งจ่าศาลจะได้กำหนดให้เพื่อความสะดวกของศาลหรือเพื่อความปลอดภัยของเอกสารนั้น
               ห้ามมิให้คัดสำเนาคำพิพากษาหรือคำสั่ง ก่อนที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นและก่อนที่ได้ลงทะเบียนในสารบบคำพิพากษา
               ในกรณีที่ศาลได้ทำคำอธิบายเพิ่มเติมกลัดไว้กับรายงานแห่งคำสั่งหรือคำพิพากษาซึ่งกระทำด้วยวาจาตามบทบัญญัติมาตรา 141 คำอธิบายเพิ่มเติมเช่นว่านั้นคู่ความจะขอตรวจหรือขอคัดสำเนา หรือขอสำเนาเสมือนเป็นส่วนหนึ่งแห่งคำสั่งหรือคำพิพากษาก็ได้
               สำเนาที่รับรองนั้น ให้จ่าศาลเป็นผู้รับรองโดยเรียกค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดไว้ในอัตราท้ายประมวลกฎหมายนี้ ในกรณีที่ผู้ขอตรวจเอกสารหรือขอคัดสำเนาด้วยตนเอง ไม่ต้องเรียกค่าธรรมเนียม

----------------------------