ปรัชญาการเมือง และทฤษฎีการเมือง

ปรัชญาการเมืองคืออะไร
“ปรัชญาการเมือง” ในภาษาอังกฤษคือคำว่า “Political Philosophy” 
คำว่าปรัชญาการเมืองเป็นองค์ความรู้ย่อย (Subfield) ที่อยู่ในสาขาความรู้หลักสาขาหนึ่งในทางปรัชญาที่เรียกว่า “จริยศาสตร์” (Ethics) 
องค์ความรู้ที่เรียกว่า “ปรัชญา” (Philosophy) คือ องค์ความรู้ที่มุ่งศึกษาถึงสิ่งที่เป็นธรรมชาติ หรือสิ่งที่เป็นพื้นฐานของสิ่งต่าง ๆ โดยแบ่งสาขาความรู้ออกเป็นสาขาหลักกว้าง ๆ  4 สาขา
สาขาในวิชาปรัชญา
        อภิปรัชญา (Metaphysics) เป็นสาขาในทางปรัชญาที่มุ่งศึกษาถึงแก่นแท้หรือความเป็นจริงของสิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้ 
ญาณวิทยา (Epistemology) หรือเรียกว่า ทฤษฎีความรู้ (Theory of Knowledge) มุ่งศึกษาในประเด็นเกี่ยวกับว่ามนุษย์นั้นรู้ถึงสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างไร 
สุนทรียศาสตร์ (Aesthetics) พยายามมุ่งหาคำตอบในแง่มุมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความงาม ซึ่งในคำถามของสาขานี้ก็มักจะถามกันว่า ความงามคืออะไร 
สาขาจริยศาสตร์ (Ethics) มุ่งศึกษาถึงสิ่งที่ควรจะเป็น ตลอดจนพฤติกรรมของมนุษย์ที่ควรจะเป็น อะไรเป็นสิ่งที่ควรกระทำ อะไรไม่ควรกระทำ อะไรผิดอะไรถูก
ปรัชญาการเมืองเป็นสาขาความรู้หนึ่งที่แฝงย่อยอยู่ในสาขา “จริยศาสตร์” 

ปรัชญาการเมืองคืออะไร 
คำว่า “ปรัชญาการเมือง” (Political Philosophy) มาจากคำศัพท์สองคำที่ผสมกันระหว่าง คำว่า ปรัชญา (Philos-Love + Sophia - Wisdom / ความรัก+ความรู้ = การรักในความรู้)
ปรัชญา คือ องค์ความรู้หนึ่งที่มุ่งศึกษาถึงสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สุดในเรื่องต่าง ๆ (Fundamental Problems) ซึ่งการที่คนใดคนหนึ่งพยายามค้นหาความรู้อันเป็นพื้นฐานต่าง ๆ คนๆ นั้นก็จะต้องรักในความรู้ จะต้องเป็นคนที่ทุ่มเทให้กับการกระทำดังกล่าวพอสมควร และการที่คน ๆ หนึ่งได้ทุ่มเทให้กับสิ่ง ๆ หนึ่ง เขาจะต้องเป็นคนที่ใคร่รู้ในสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้อยู่มากพอจนถึงกับนั่งคิดไตร่ตรองและตั้งคำถามถึงสิ่งเหล่านี้อย่างจริงจัง ๆ ดังนั้น เราจึงเรียกการกระทำเช่นนี้ว่า “การรักในความรู้” (Philosophy) และเรียกคนที่กระทำเช่นนี้ว่า “คนที่รักในความรู้” หรือ Philosopher 
เมื่อนำคำว่า “ปรัชญา” (Philosophy) มาผสมกับคำว่า “การเมือง” (Politics) ก็จะได้ความหมายว่า องค์ความรู้หรือวิชาที่มุ่งศึกษาถึงสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สุดหรือเป็นธรรมชาติในทางการเมือง หรือ องค์ความรู้หนึ่งที่มุ่งศึกษาถึงสิ่งที่เป็นพื้นฐานในเรื่องราวเกี่ยวกับสาธารณะหรือเรื่องราวเกี่ยวกับคนทุกคน หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับอำนาจ 
สิ่งที่เป็นพื้นฐานในทางการเมืองที่พวกนักคิดนักปรัชญาการเมืองมักจะตั้งคำถามกันหรือมุ่งศึกษาก็ได้แก่ ทำไมมนุษย์ต้องมีการเมือง สังคมการเมืองหรือรัฐคืออะไร เราจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องอยู่ในรัฐหรือสังคมการเมือง ผู้ปกครองที่ดีควรมีลักษณะอย่างไร ความสัมพันธ์ในทางอำนาจที่มีอยู่ในรัฐควรจะเป็นเช่นไร มนุษย์อิสระที่จะทำตามความต้องการของตนเองได้มากน้อยแค่ไหนเมื่ออยู่ในสังคมการเมือง สิทธิเสรีภาพมีจริงหรือไม่ มนุษย์เท่าเทียมกันหรือไม่ เป็นต้น คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่เป็นพื้นฐานในองค์ความรู้เกี่ยวกับการเมืองหรือเรื่องราวอันเกี่ยวข้องกับสาธารณะ ซึ่งในทางเทคนิคเราจะเรียกคำถามประเภทนี้ว่า “คำถามอมตะในทางปรัชญาการเมือง” 
ในปัจจุบัน คนทั่วไปมักจะเข้าใจกันอีกว่า ปรัชญาการเมืองคือสาขาวิชาย่อยในสาขารัฐศาสตร์ (Political Science) ซึ่งการเข้าใจเช่นนี้ก็ไม่ผิดแต่อันใด เพราะการศึกษาทางการเมืองแนวปรัชญาการเมืองนั้นเป็นแนวการศึกษาแรกที่เก่าแก่ที่สุดตั้งแต่มนุษย์เริ่มศึกษาการเมือง 
แต่ต้องเข้าใจว่าปรัชญาการเมืองจะไม่ใช่การศึกษาการเมืองแบบเดียวกันกับรัฐศาสตร์ที่คุ้นเคยในปัจจุบัน เนื่องจากรัฐศาสตร์ในปัจจุบันนั้นมุ่งเน้นการอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ตลอดจนมุ่งเน้นทำนายถึงผลลัพธ์ทางการเมืองของปรากฏการณ์ (Explanation and Prediction) 
การศึกษาลักษณะนี้จะตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิงกับการศึกษาแบบปรัชญาการเมืองทั้งในแง่จุดมุ่งหมายและวิธีการ กล่าวคือ จุดมุ่งหมายของปรัชญาการเมือง คือการศึกษาถึงธรรมชาติหรือสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สุดในทางการเมือง แต่จะไม่มุ่งอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมือง เป็นการมุ่งสร้างบรรทัดฐานตามความเชื่อของนักคิดแต่ละคนขึ้นมา (Norm) ด้วยเหตุนี้ปรัชญาการเมืองจึงถูกเรียกว่า “การศึกษาแบบปทัสถาน” (Normative) คือ เป็นการศึกษาถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นพื้นฐานในทางการเมือง เพื่อที่จะนำความรู้นั้นไปสร้างบรรทัดฐาน หรือการเมืองที่ควรจะเป็น

ปรัชญาการเมือง ต่างกับอุดมการณ์ทางการเมือง ทฤษฎีการเมือง ความคิดทางการเมืองหรือไม่ อย่างไร

ความคิดทางการเมือง (Political Thought)
  คือ ความคิดความเข้าใจในเรื่องการเมืองของบุคคลหนึ่ง ที่สะท้อนหรือแสดงออกมาเพื่อทำความเข้าใจว่าสิ่งต่าง ๆ ในทางการเมือง นั้นคืออะไร และควรเป็นไปอย่างไร กล่าวง่าย ๆ ก็คือ ความคิดเห็นทางการเมือง คือ ความเข้าใจในเรื่องการเมืองของแต่ละคนหรือกลุ่มคนซึ่งการเข้าใจดังกล่าวอาจจะมาจากการปลูกฝังหรือการหล่อหลอมทางสังคมก็ได้ (Political Socialization) 

ปรัชญาการเมือง (Political Philosophy) 
คือ องค์ความรู้ชุดหนึ่งที่มุ่งตั้งคำถามต่อสิ่งที่เป็นพื้นฐานทางการเมืองในเรื่องต่าง ๆ ในแง่หนึ่ง ปรัชญาการเมืองอาจจะเข้าใจได้ว่าเป็นวิชาหนึ่งที่เก่าแก่ที่สุดของวิชารัฐศาสตร์ซึ่งมุ่งศึกษาในสิ่งที่เป็นพื้นฐานในทางการเมือง หรือ ธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ ในทางการเมือง (Nature of Politics) แต่ไม่ได้มุ่งศึกษาสิ่งที่เรียกว่าปรากฏการณ์ทางการเมือง (Political Phenomenon) เช่น นักปรัชญาการเมืองจะตั้งคำถามว่า  ทำไมเราต้องเชื่อฟังรัฐ ทำไมเราต้องเชื่อฟังกฎหมาย ผู้ปกครองที่ดีมีลักษณะอย่างไร เป็นคำถามที่มุ่งถามในสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สุดหรือสิ่งที่เป็นธรรมชาติที่สุดในทางการเมือง ซึ่งนักปรัชญาการเมืองแต่ละคนก็จะมีคำตอบที่แตกต่างกันออกไป 
ปรัชญาการเมืองนั้นจะมีลักษณะที่เกิดขึ้นจากการไตร่ตรองอย่างลึกซึ้งมากกว่าความคิดทางการเมือง มีความเป็นระบบและเหตุผลที่สอดคล้องมากกว่าสิ่งที่เรียกว่าความคิดทางการเมือง 

ทฤษฎีการเมือง (Political Theory) 
คือ ชุดของคำอธิบายที่มีต่อระบอบการเมือง ปรากฏการณ์ทางการเมืองภายใต้หลักของเหตุผล อธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองผ่านการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ความหมายของทฤษฎีการเมืองที่กล่าวไปนี้ก็คือ ทฤษฎีการเมืองแบบเชิงประจักษ์ (Empirical Political Theory) แต่ในวงวิชาการก็มีการใช้คำว่า “ทฤษฎีการเมือง” แทนคำว่า “ปรัชญาการเมือง” ก็ได้ แต่การใช้เช่นนี้เป็นการละไว้ในฐานที่เข้าใจว่า การใช้นั้นหมายถึง “ทฤษฎีการเมืองแบบปทัสถานนิยม” (Normative Political Theory)

อุดมการณ์ทางการเมือง (Political Ideology
คือ ชุดของระบบความคิดความเชื่อหรือตัวแบบในการให้คุณค่าต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งในทางการเมืองที่เป็นระบบระเบียบในเรื่องต่าง ๆ เช่น มุมมองในเรื่องรัฐ ระบบการเมือง ความสัมพันธ์ของคนในสังคม ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง โดยสิ่งต่าง ๆ ที่อุดมการณ์ทางการเมืองหนึ่งนั้นให้คุณค่า คนที่ยึดถืออุดมการณ์นั้น ๆ ก็จะถือว่าสิ่งนั้น คือ เรื่องจริง หรือข้อเท็จจริง กล่าวในอีกนัยหนึ่งก็คือ อุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่งจะเป็นชุดทางความคิดที่ร้อยเรียงความคิด ความเชื่อในทางการเมืองเข้าด้วยกันและยึดถือให้ผู้ที่เชื่อในอุดมการณ์นั้นเข้าใจว่ามันคือความจริงของโลก และเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วอุดมการณ์จะมีแนวทางปฏิบัติให้กับผู้ที่เชื่อในการปฏิบัติตนเพื่อให้บรรลุถึงอุดมคติตามแต่ละอุดมการณ์ 
มีที่มาจากความคิดของนักปรัชญาการเมืองคนหนึ่ง หรือหลาย ๆ คนก็ได้ หรืออาจจะมาจากทฤษฎีการเมืองแบบใดแบบ เช่น อุดมการณ์ทางการเมืองแบบเสรีนิยม (Liberalism), อนุรักษนิยม (Conservatism), สังคมนิยม (Socialism), ชาตินิยม (Nationalism), อนาธิปไตย (Anarchism), ฟาสซิสต์ (Fascism) เป็นต้น  
อย่างไรก็ดี อาจจะพบว่ามีบางคนนั้นใช้คำว่า “อุดมการณ์ทางการเมือง” (Political Ideology) สลับกับคำว่า “ลัทธิทางการเมือง” (Political Doctrine) ซึ่งในทางทฤษฎีสองคำนี้มีความใกล้เคียงกัน แต่ก็มีข้อแตกต่างกันอยู่ คือ อุดมการณ์นิยมนั้นจะมีลักษณะเป็นคำสอนกว้าง ๆ ตลอดจนเสนอแนวทางในการปฏิบัติ แต่ก็ไม่ได้เจาะจงวิธีการเฉพาะไว้ ซึ่งในจุดนี้เป็นจุดที่แตกต่างกับลัทธิทางการเมืองที่ลัทธิทางการเมืองนั้นจะมีสูตรสำเร็จ วิธีการดำเนินการทางการเมืองแน่ชัดระบุชัดเจน ซึ่งตัวลัทธิทางการเมืองนี้ อาจจะประกอบกันเข้าจากหลาย ๆ อุดมการณ์ทางการเมืองก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ลัทธินาซี (Nazi) อาจจะประกอบกันเข้าจากอุดมการณ์แบบชาตินิยมและอุดมการณ์แบบฟาสซิสต์ ในขณะที่ลัทธิเหมา (Maoist) อาจจะมีองค์ประกอบจากอุดมการณ์แบบสังคมนิยม ชาตินิยม เป็นต้น

ปรัชญาการเมืองในยุคคลาสสิก และยุคสมัยใหม่
ปรัชญาการเมืองยุคคลาสสิก (Classical Period)เริ่มต้นจากนักปรัชญาการเมืองกรีกโบราณที่ชื่อว่าโสเครติส (Socrates) (สามารถทราบเรื่องราวของเขาจากหนังสือที่เขียนเป็นบทสนทนา (Dialogue) โดยลูกศิษย์ของเขาคือเพลโต (Plato)
วิธีคิดของปรัชญาการเมืองคลาสสิกนี้จะอยู่ภายใต้อิทธิพลของงานเพลโต และอริสโตเติ้ล (Aristotle) 
ลักษณะสำคัญของคำถามปรัชญาการเมืองแบบคลาสสิก ก็คือ ชีวิตที่ดีคืออะไร อะไรคือความดีที่จะทำให้บรรลุชีวิตที่ดี  รูปแบบการปกครองที่ดีคือรูปแบบการปกครองแบบไหน 
ในขณะที่ปรัชญาการเมืองสมัยใหม่จะเริ่มต้นกันที่ มาคิอาเวลลี (Machiavelli) ชาวอิตาเลี่ยน ผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 16 เนื่องจาก เขาเป็นคนแรกที่กล่าวถึงเรื่องอำนาจ (Power) ซึ่งสิ่งนี้นักปรัชญาการเมืองในอดีตก่อนหน้าเขาไม่เคยที่กล่าวถึง

ปรัชญาการเมืองยุคโบราณ/ยุคคลาสสิก (Classical Period)

กรีกโบราณ
เพลโต (Plato) เป็นนักปรัชญากรีกลูกศิษย์ของโสเครตีส (Socrates) มีชีวิตอยู่ในช่วง 427-347 ปีก่อนคริสตกาล มีงานเขียนมากมายซึ่งเป็นไปในลักษณะของบทสนทนา (Dialogue) ที่มีตัวละครหลักเป็นโสเครติส  
งานปรัชญาการเมืองเล่มที่สำคัญที่สุดของเพลโตที่นิยมอ่านกัน ก็คือ งานที่ชื่อว่า “อุตมรัฐ” (The Republic) เสนอให้เห็นว่าความสามารถของคนแต่ละคนนั้นก็มีความสามารถเฉพาะกันไปแต่ละด้าน เช่น บางคนเหมาะสมกับการเป็นแพทย์ บางคนเหมาะสมกับเป็นชาวนาชาวไร่ บางคนเหมาะสมกับการที่จะเป็นทหาร และก็เช่นเดียวกันกับการปกครอง 
ผู้ปกครองที่ดี คือ ผู้ปกครองที่มีปัญญารู้ว่าอะไรดีและควรจะมีสำหรับรัฐ และอะไรไม่ควรมีอยู่ภายในรัฐ เพลโตเรียกผู้ปกครองเช่นนี้ว่า “ราชาปราชญ์” (Philosopher King)
เพลโตถือได้ว่าเป็นนักปรัชญาที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกตะวันตก 
อริสโตเติ้ล (Aristotle) เป็นลูกศิษย์ของเพลโต (Plato) และเป็นอาจารย์ของอเล็กซานเดอร์  มหาราช (Alexander the Great) เป็นนักปรัชญาที่ถือได้ว่ามีอิทธิพลสูงที่สุดคนหนึ่งในโลกตะวันตก เขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมาก เช่น ฟิสิกส์ กวีนิพนธ์ สัตววิทยา ชีววิทยา และโดยเฉพาะงานทางการเมือง ซึ่งชิ้นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบันก็ได้แก่ “Politics” และ “Nicomachean Ethics” 
แนวคิดของอริสโตเติ้ลนั้นก็มีความคล้ายคลึงกับเพลโต้อาจารย์ของเขา แต่ก็มีความแตกต่างในรายละเอียดกับเพลโตอยู่พอสมควร โดยเฉพาะเรื่องผู้ปกครอง อริสโตเติ้ลมองว่ารูปแบบการปกครองแบบไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการปกครองโดยคนๆ เดียว ปกครองเป็นคณะ หรือ ปกครองโดยคนส่วนมาก ถ้าการปกครองนั้น ๆ เป็นการปกครองเพื่อประโยชน์ของคนทั้งหมดแล้ว การปกครองไม่ว่าแบบใดก็ถือว่าเป็นการปกครองที่ดี

โรมัน
เริ่มต้นเมื่อเกิดการเสื่อมอำนาจลงของนครรัฐต่าง ๆ ในคาบสมุทรกรีก เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการก่อตัวขึ้นของมหาอำนาจใหม่ของยุโรป ซึ่งก็คือ อารยธรรมโรมัน 
แม้ความคิดทางการเมืองของโรมันจะไม่เบ่งบานมากมายเหมือนในยุคนครรัฐกรีก แต่บริบทของสังคมโรมันในช่วงเวลาดังกล่าวได้ก่อให้เกิดสำนักคิดจำนวนมากที่มีบทบาทต่อการสร้างอารยธรรมของโลกตะวันตก เช่น 
แนวคิดอิพิคิวเรียน (Epicurean) เชื่อว่าความสุขคือเป้าหมายสำคัญของชีวิตพลเมือง 
แนวคิดซินนิค (Cynic) เชื่อในเสรีภาพของแต่ละบุคคลและการใช้ชีวิตอย่างมีอิสรเสรีที่ต่อมากลายเป็นรากฐานของความคิดพลเมืองโลก 
แนวคิดสโตอิค (Stoic) ถือเป็นรากฐานสำคัญของปรัชญาการเมืองยุคโรมันเพราะเป็นคำสอนที่สอนให้ผู้คนกลมกลืนกับธรรมชาติและใช้ชีวิตตามครรลองที่ถูกกำหนดมา มีนักคิดคนสำคัญอย่าง ซิเซโร่ (Cicero) ผู้มีชีวิตอยู่ในช่วง 106 ปี ถึง 43 ปีก่อนคริสต์กาล และ มาร์คัส ออร์ลิรัส (Marcus Aurelius) มีชีวิตอยู่ในช่วง ค.ศ. 121-180 ซึ่งต่อมาผู้คนจะได้อาศัยรากฐานของแนวคิดสโตอิค มาพัฒนาไปสู่การสร้างระบอบการเมืองที่เป็นมาตรฐานของโลกตะวันตกในเวลาต่อมา ซึ่งก็คือ “ระบอบสาธารณรัฐโรมัน”

ยุคกลาง
ยุคนี้กินเวลายาวนานมากคือตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5 จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 นับตั้งแต่การล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน ศาสนจักรคาทอลิกได้เข้ามามีบทบาทสำคัญยิ่งในพื้นที่อันเป็นขอบเขตดั้งเดิมของโรมัน ความสัมพันธ์ระหว่างโรมกับรัฐอื่น ๆ ในทวีปยุโรป หรือในอีกทางหนึ่งคือความสัมพันธ์ระหว่างศาสนจักรและอาณาจักรดำเนินไปด้วยความไม่เรียบร้อยนัก เนื่องด้วยมีการพิพาทระหว่างขอบเขตอำนาจอยู่เสมอ ๆ มีหลักการสำคัญที่ยึดโยงทั้งสองด้านเอาไว้ด้วยกัน
แนวคิดดาบสองเล่ม (Theory of Two Swords) เป็นแนวคิดทางการเมืองของศาสนจักรที่ใช้ในการแบ่งสรรพื้นที่และความชอบธรรมทางอำนาจ ผ่านอุปมา “ดาบ” ดาบเล่มหนึ่งคืออำนาจในการปกครองทางโลกและดาบอีกเล่มหนึ่งคืออำนาจทางจิตวิญญาณ พระเจ้าได้มอบดาบทั้งสองเล่มนี้ให้กับพระสันตะปาปา แต่พระองค์ไม่ประสงค์จะปกครองทางโลก จึงมอบอำนาจการปกครองนั้นให้กับกษัตริย์เป็นผู้ใช้แทน 
ต่อมาศาสนาจักรได้เกิดแนวความคิดทางการเมือง จำนวนมากที่ทั้งส่งเสริมแนวคิดสองดาบ และสนับสนุนอำนาจที่มากยิ่งขึ้นไปอีกของสันตะปาปา นักคิดสำคัญในช่วงเวลาดังกล่าว ได้แก่ ออกัสตินแห่งฮิปโป (Augustine of Hippo) และ โธมัส อไควนัส (Thomas Aquinas) ที่ได้ประยุกต์แนวคิดในยุคสมัยกรีกของเพลโตและอริสโตเติ้ลมาเป็นฐานคิดของศาสนจักร ซึ่งในเวลาต่อมาศาสนจักรได้ประยุกต์แนวทางเหล่านี้เพื่อขยายอำนาจของศาสนา

ยุคสมัยใหม่ (Modern Period)
มาคิอาเวลลี (Machiavelli) มีชีวิตอยู่ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 มักจะถูกอ้างว่า เป็นนักปรัชญาการเมืองคนแรกของยุคสมัยใหม่ เนื่องจาก มาคิอาเวลลีได้ละทิ้งธรรมเนียมแบบเดิมของพวกเพลโตและอริสโตเติ้ล และได้หันมามุ่งประเด็นในเรื่องของอำนาจ 
มองว่า การปกครองนั้นไม่ใช่การปกครองเพื่อใคร แต่เป็นการปกครองเพื่อตัวของผู้ปกครองเอง หน้าที่ของผู้ปกครองคือ ทำอย่างไรก็ได้ที่ให้รัฐนั้นดำรงอยู่ ไม่สูญสลาย ส่วนวิธีการที่จะใช้นั้นจะเป็นวิธีการอย่างไรก็ได้ กล่าวง่าย ๆ ก็คือ ผู้ปกครองต้องทำทุกวิถีทางในการรักษารัฐไว้ให้ได้ โดยงานชิ้นสำคัญของเขา ก็คือ “The Prince”
โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes), จอห์น ล็อค (John Locke) และ ฌอง ฌากส์ รุสโซ (Jean Jacques Rousseau) เป็นนักคิดสมัยใหม่ และเป็นนักคิดในสกุลสัญญาประชาคม (Social Contractarian) โดยนักคิดในสกุลนี้มีความเชื่อร่วมกันว่า รัฐนั้นเกิดขึ้นมาจากการตกลงร่วมกันของมนุษย์ 
โทมัส ฮอบส์ มองว่า ในสภาวะก่อนที่จะมีรัฐ (State of Nature) มนุษย์นั้นทะเลาะเบาะแว้ง ต่อสู้แย่งชิงกัน ซึ่งในท้ายที่สุดมนุษย์ก็ได้มาตกลงทำสัญญากันว่า จะตั้งผู้ปกครองขึ้นมาให้มีอำนาจเด็ดขาดเป็นองค์อธิปัตย์เพื่อที่จะป้องปรามไม่ให้มนุษย์ต่อสู้ฆ่าฟันกันอีกต่อไป (Sovereign) โดยการทำสัญญานี้ประชาชนจะมอบอำนาจและการตัดสินใจทั้งหมดให้กับองค์อธิปัตย์ และการทำสัญญานี้เมื่อยกอำนาจให้แล้ว ก็ไม่สามารถจะนำอำนาจที่มอบไปคืนมาได้ 
        ล็อค มองว่า มนุษย์ที่ไม่มีรัฐนั้นจะมีเหตุขัดข้องเมื่อพวกเขาเกิดข้อพิพาทระหว่างกัน เพราะพวกเขาไม่มีคนกลางที่จะมาตัดสินลงโทษได้ ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงตกลงตั้งผู้ปกครองขึ้น เพื่อให้มาเป็นคนกลาง และปกป้องรักษาความปลอดภัยให้ แต่กระนั้นอำนาจที่มอบให้ถ้าผู้ปกครองทำหน้าที่ไม่ดี หรือ ผิดสัญญา ประชาชนก็มีสิทธิที่จะยึดอำนาจกลับคืนมาได้ ซึ่งจุดนี้เป็นประเด็นที่แตกต่างกับฮอบส์ 
รุสโซ มองว่า รัฐเกิดขึ้นจากการตกลงของประชาชนเช่นกัน แต่การตกลงนั้นเป็นการตกลงที่ไม่ยุติธรรมเพราะ รัฐที่ตั้งขึ้นตามความคิดของรุสโซนั้น เป็นรัฐที่ไม่เสมอภาค และรัฐที่เอื้อประโยชน์ให้เฉพาะกับคนรวยเคยมีอันจะกินเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ รุสโซจึงเสนอว่าควรที่จะทำลายรัฐที่เป็นมาและสร้างรัฐใหม่ที่มีความเสมอภาคและเสรีภาพขึ้นมา ดังนั้นเอง ด้วยวิธีคิดเช่นนี้ของรุสโซจึงส่งอิทธิพลต่อการปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1789
----------------------------