การปกครองเปรียบเทียบ: ระบอบและระบบการเมือง

ระบอบและระบบในทางการเมือง
ระบอบการเมือง (Political Regime) หมายถึง ชุดโครงสร้างทางการเมืองทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการของรัฐ ที่กำหนดความสัมพันธ์ทางอำนาจทางการเมือง บทบาทและกระบวนการของรัฐ รวมถึงวิธีการทางอำนาจ ใครควรจะมีอำนาจ ใครไม่ควรมีอำนาจและอำนาจจะถูกใช้และจัดสรรอย่างไร
ระบอบการเมืองมิได้หมายความถึงสถาบันทางการเมืองที่เป็นทางการอย่างเดียว หากแต่ประกอบไปด้วยชุดอุดมการณ์ (Ideology) บรรทัดฐาน (Norm) ตลอดจนแบบแผนความสัมพันธ์ของชุมชนทางการเมืองที่จะกำหนด รูปแบบ ช่องทาง หลักการใหญ่ของอำนาจทางเมืองในรัฐนั้น 

ระบบการเมือง (Political System) จะมีความหมายที่แคบลงมากว่าระบอบ ระบบการเมืองเป็นวิธีการจัดระเบียบ รูปแบบการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นวิถีทางที่รัฐใด ๆ ใช้การกำหนดรูปแบบการบริหารงาน กำหนดแหล่งที่มาของอำนาจ รูปแบบการใช้อำนาจ ตลอดจนถึงการออกนโยบายต่างๆ ตามชุดอุดมการณ์ที่รัฐนั้นๆ ยึดถือ ซึ่งจะประกอบไปด้วย สถาบันทางการเมือง (Political Institutions), กระบวนการทางการเมือง (Processes), และปฏิสัมพันธ์ทางอำนาจ (Relationship) ภายในรัฐ
ระบบการเมืองมีนัยยะสื่อถึงกรอบโครงทางรัฐธรรมนูญ (Constitution Framework) ที่คอยกำหนดความสัมพันธ์ทางอำนาจการเมืองที่เป็นรูปธรรม
ตั้งแต่รัฐโบราณจวบจนถึงรัฐสมัยใหม่มนุษย์ได้มีประสบการณ์กับระบอบการเมืองหลายระบอบ อาทิเช่น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) ระบอบประชาธิปไตย (Democracy) ระบอบเผด็จการ (Dictatorship) ระบอบคอมมิวนิสต์ (Communism) 
แต่หลักใหญ่ใจความนักรัฐศาสตร์มักจะแบ่งแยกระบอบการปกครองเป็นสองรูปแบบใหญ่ คือ “ระบอบประชาธิปไตย” และ “ระบอบเผด็จการ” โดยทั้งสองระบอบนี้ก็มีการจัดประเภทแยกย่อยตามลักษณะหรือรูปแบบการปกครองที่แตกต่างกันออกไปอีกชั้นหนึ่ง ในระบอบประชาธิปไตยเองก็มีการจัดแบ่งแยกย่อยเป็น “ระบบการเมือง” สามระบบใหญ่ที่เป็นต้นแบบให้หลาย ๆ ประเทศในโลก คือ ระบบรัฐสภา, ระบบประธานาธิบดี, และระบบกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภา 
ระบอบเผด็จการสามารถแบ่งออกเป็นอีกสองลักษณะ คือ ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ (Totalitarianism) และระบอบเผด็จการอำนาจนิยม (Authoritarianism) 

ระบอบเผด็จการ (Dictatorship)
ระบอบเผด็จการในความหมายที่ง่ายและตรงไปตรงมาที่สุดนั้น คือ ระบอบการปกครองที่อำนาจอยู่ในมือคนคนเดียวหรือกลุ่มคน ที่สามารถใช้อำนาจทางการเมืองได้อย่างปราศจากข้อจำกัด ไร้ซึ่งเงื่อนไขปัจจัยทางสังคมการเมืองในรัฐมามีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้อำนาจ หรือกล่าวได้ว่าระบอบเผด็จการเป็นระบอบที่ประชาชนไม่สามารถมีส่วนร่วมในทางการเมืองใด ๆ ได้ 
บางประเทศอาจมีการเลือกตั้งมีระบบตรวจสอบถ่วงดุลตามกลไกรัฐธรรมนูญ แต่ประชาชนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือเลือกผู้นำของตนได้ตามเจตจำนงของประชาชน ปิดกั้นโอกาสไม่ให้ประชาชนเลือกผู้แทนของตนผ่านกระบวนการที่โปร่งใส เป็นธรรม เราอาจจะเรียกว่าเป็นเผด็จการได้เช่นกัน
นักรัฐศาสตร์ได้พยายามจำแนกแยกแยะระดับ (Classification) ของความเป็นเผด็จการ โดยแบ่งเป็นระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ (Totalitarian) และระบอบอำนาจนิยม (Authoritarian) 

ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ (Totalitarian Regime)
1. ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จจะใช้กำลังและความรุนแรงในการควบคุมผู้ใต้ปกครอง (A Weapons Monopoly) 
2. อุดมการณ์ (Ideology) ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางจิตวิทยาที่สำคัญในระบอบนี้ เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คน ถือเป็นบันไดขั้นแรกในการขยายเผ่าพันธุ์ความเป็นเผด็จการให้แทรกซึมในวิถีชีวิตของผู้ใต้ปกครอง
3. มีลักษณะเป็นพรรคเดียวครอบงำหรือมักมีผู้นำคนเดียว (A Single Party)
4. มีการใช้อำนาจแบบอ่อน (Soft Power) เข้ามาช่วยเป็นจักรกลการเมืองผ่านกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม วิถีจารีตประเพณี การโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) 
5. ระบบเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์กลาง (Centrally-directed Economy) ที่รัฐส่วนกลางจะเป็นควบคุมระบบเศรษฐกิจและทรัพยากรแบบผูกขาดแต่ผู้เดียว
ระบอบเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จจะมุ่งควบคุมทุกอย่างไม่เฉพาะแต่ในด้านการเมืองเท่านั้น วิถีชีวิต ความเชื่อ ความคิด ศาสนา ค่านิยม เศรษฐกิจ ฯลฯ จะถูกควบคุมวางแผนให้เป็นไปตามที่ผู้ปกครองต้องการ เป็นระบอบการเมืองที่เรียกร้องความว่าง่ายเชื่อฟังจากผู้อยู่ใต้ปกครองอย่างสมบูรณ์แบบ มีทั้งการสั่งบังคับให้ทำและสั่งห้ามไม่ให้ทำต่อประชาชน การสร้างกฎระเบียบในการควบคุมไม่เฉพาะแต่ทางการเมือง แต่ยังครอบคลุมในทุกมิติของผู้ใต้ปกครอง ชีวิตความเป็นอยู่ก็จะถูกสอดส่องจับตาโดยรัฐ ความคิดความอ่านผู้ใต้ปกครองจะถูกจัดเรียงเป็นไปตามแนวทางที่รัฐหรือผู้นำต้องการให้เป็น ดังนั้นแล้วสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลจึงเป็นสิ่งที่มีไม่ได้ เกิดขึ้นไม่มีในระบอบนี้

ระบอบอำนาจนิยม (Authoritarian Regime)
เผด็จการแบบอำนาจนิยมนั้นจะแตกต่างจากเผด็จการเบ็ดเสร็จตรงที่มุ่งควบคุมประชาชนเฉพาะในทางการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่เน้นการควบคุมอุดมการณ์ วิถีชีวิต ความเชื่อทางศาสนา ของประชาชน ตราบเท่าที่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่คุกคามอำนาจของผู้ปกครอง ประชาชนสามารถใช้ชีวิตในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับมิติทางการเมืองได้อย่างปกติ มีสิทธิเสรีภาพในการเลือกอาชีพ นับถือศาสนา 
Juan Linz ลักษณะอำนาจทางการเมืองของผู้นำในระบอบอำนาจนิยมไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่อยู่ในมือคนคนเดียว อำนาจจะถูกใช้และบริหารผ่านแบบแผนที่ค่อนข้างจะจำกัด ไม่ได้ปิดกั้นทางการเมืองเข้มข้นเท่าระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ เพียงแต่ระบบการเมืองอาจจะเป็นลักษณะการจำกัดความเป็นพหุนิยม (Limited Political Pluralism) กลุ่มก้อนทางการเมืองบางกลุ่มไม่ได้ถูกควบคุมโดยระบอบและมีอิสระทางการเมืองอยู่บ้าง เปิดโอกาสให้มีพรรคการเมืองสามารถแข่งขันได้ในระบบการเมือง แต่อาจจะมีการจำกัดหรืออนุญาตเพียงแค่บางพรรคการเมืองเท่านั้นที่จะสามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ 
สิทธิทางการเมืองของประชาชนก็พอมีอยู่บ้างไม่ถึงกับปิดกั้นทั้งหมดแต่อาจถูกจำกัดด้วยกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เข้มงวด ประชาชนไม่ได้รับอนุญาตให้มีส่วนร่วมในการแสดงออกทางการเมืองได้มากนัก การต่อสู้เคลื่อนไหวทางการเมือง (Political Mobilization) เป็นเรื่องต้องห้ามและถูกจำกัดอย่างเข้มข้นในระบอบอำนาจนิยม
ในด้านอุดมการณ์ Linz ยอมรับว่า อุดมการณ์ ก็ปรากฏร่องรอยในระบอบอำนาจนิยม แต่มันไม่ได้ถูกใช้เป็นหมุดหมายในการชี้นำระบอบ (Guiding The Regime) โดยปกติระบอบอำนาจนิยมจะโดดเด่นในด้านการสร้างจิตสำนึกร่วม (Mentality) เท่านั้น ซึ่งจะเป็นการใช้อารมณ์ ความรู้สึก มากกว่าการใช้เหตุผล และไม่มุ่งเน้นการใช้อุดมการณ์ในการวาดฝันสังคมในอุดมคติ (Utopianism) เหมือนเผด็จการเบ็ดเสร็จ

ระบอบประชาธิปไตย
คำว่าประชาธิปไตย หรือ Democracy มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณที่เกิดจากการผสมคำสองคำ “Dêmos” ซึ่งแปลว่าฝูงชนหรือประชาชน และคำว่า “Krátos” แปลว่า ปกครอง ดังนั้น โดยรากศัพท์แล้วจึงหมายความว่า “การปกครองโดยประชาชน”  ประชาธิปไตยจึงเป็นระบอบการเมืองที่ถือว่า ประชาชนเป็นผู้ถือและเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด ประชาชนปกครองตัวเองโดยประชาชนอาจมอบหมายให้บางคนใช้อำนาจปกครอง แต่นั่นเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น อำนาจสูงสุดอยู่ที่ประชาชนอยู่ดี 
สำหรับในความหมายแบบกว้างประชาธิปไตย ดูจะเป็นคำที่ยังไม่ค่อยลงตัวและมีการช่วงชิงพื้นที่การนิยาม พัฒนาการทางความคิดของ “ประชาธิปไตย” ก็ยังแปรเปลี่ยนตามบริบททางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ของแต่ละยุคแต่ละสมัยอย่างไม่เคยหยุดนิ่ง  มีนักคิดนักปราชญ์จำนวนมาก แม้กระทั่งกลุ่มก้อนการเมืองต่างพยายามช่วงชิงการนิยามคุณค่าและความหมายของ “ประชาธิปไตย” ในแบบของตน คำถามสำคัญนั้นคือว่าโดยแท้จริงแล้วแก่นสารของประชาธิปไตยคืออะไรกันแน่ อะไรคือคุณลักษณะพื้นฐาน (Foundation) ที่เป็นแก่นกลางของประชาธิปไตย

คุณลักษณะพื้นฐาน (Foundation) ที่เป็นแก่นกลางของประชาธิปไตย
1. อำนาจทางการเมืองล้วนแล้วแต่เป็นของประชาชนทุกคนไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง (Popular Sovereignty) แต่ด้วยสังคมสมัยใหม่ประชาชนทุกคนไม่สามารถไปปกครองด้วยกันได้หมด ประชาชนอาจมอบอำนาจบางส่วนด้วยความยินยอมเพื่อให้บางคนเป็นผู้ใช้อำนาจในการปกครอง (Consent) แต่นั่นเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น อำนาจสูงสุดยังคงอยู่ที่ประชาชนอยู่ดี 
2. ประชาธิปไตยจะต้องมีการประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน (Rights and Liberty) 
3. สิทธิในการเลือกผู้แทนของตนไปใช้อำนาจทางการเมืองเป็นหัวใจสำคัญในระบอบประชาธิปไตย การเลือกตั้ง (Elections) เป็นวิธีการที่ทำให้สิทธินั้นเกิดขึ้นในทางปฏิบัติ เป็นกลไกที่สามารถควบคุมตัวแทนโดยการเลือกหรือไม่เลือกของประชาชน อีกด้านหนึ่งยังเป็นตัวเชื่อมเชิงสัญลักษณ์ระหว่างประชาชนกับผู้ปกครอง และสร้างความชอบธรรมให้ผู้ปกครอง การเลือกตั้งจึงเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นพื้นฐาน (Minimum Condition) ที่สุดในระบอบประชาธิปไตย
4. ประชาธิปไตยยึดหลักปกครองเป็นธรรม มีความคงเส้นคงวา มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค จะต้องไม่เป็นการปกครองตามอำเภอใจโดยผู้ปกครอง หรือที่เรารู้จักกันในแนวคิดหลักนิติรัฐนิติธรรม (Rule of Law) การใช้อำนาจของรัฐต่อประชาชนนั้นจะต้องเป็นไปตามกฎหมายที่ออกจากการตกลงร่วมกันของประชาชน หรือจากตัวแทนของประชาชนทั้งหมดไม่ใช่การออกโดยใครคนใดคนหนึ่ง และกฎหมายนั้นจะต้องมีการบังคับใช้ในลักษณะเท่าเทียมกันไม่เว้นแม้แต่ผู้ปกครอง

ระบบการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเปรียบเทียบหลักการและแนวคิดอำนาจในระบอบประชาธิปไตย

1. หลักการแบ่งแยกอำนาจ (Separation of Powers)
หลักการสำคัญของการแบ่งแยกอำนาจปรากฏในหนังสือ The Spirit of Laws ของ Montesquieu ได้ชี้ให้เห็นว่าเสรีภาพทางการเมืองจะคงอยู่ได้ก็เมื่ออำนาจทางเมืองไม่กระจุกตัวรวมศูนย์อยู่ที่บุคคลหรือคณะบุคคลเดียวกัน เพราะเมื่อใดก็ตามที่อำนาจรวมศูนย์ อำนาจอาจจะถูกใช้ตามอำเภอใจ มีพฤติกรรมการใช้อำนาจที่ฉ้อฉลเยี่ยงทรราชได้
หลักการแบ่งแยกอำนาจนี้ อำนาจจะถูกแยกขาดออกจากกันเป็นอิสระจากกันทั้งในแง่ที่มาและแง่ของการใช้อำนาจ เพื่อไม่ให้อำนาจกระจุกตัวหรือผูกขาดอยู่ที่ด้านใดด้านหนึ่ง โดยปกติในระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยจะมีการแบ่งแยกอำนาจออกเป็นสามฝ่าย นิติบัญญัติ (Legislative Power) ทำหน้าที่ในการออกกฎหมาย มีฝ่ายบริหาร (Executive Power) เป็นผู้ใช้อำนาจตามกฎหมายในการบริหารราชการแผ่นดิน และฝ่ายตุลาการ (Judicial Power) ใช้อำนาจพิจารณาอรรถคดีความตามกฎหมาย
หลักการนี้จึงไม่อนุญาตให้บุคคลคนเดียว คณะบุคคล หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้อำนาจของฝ่ายอื่น อำนาจจะต้องถูกแยกขาดเป็นอิสระจากกันเพื่อป้องกันการใช้อำนาจผิดรูป

2. หลักการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ (Checks and Balances of Power) 
การกำหนดให้มีการแบ่งแยกอำนาจทั้ง 3 ฝ่ายเป็นอิสระต่อกัน คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ แต่ในทางหลักการให้อำนาจทั้ง 3 มีความสัมพันธ์ต่อกันด้วย เป็นการแสดงให้เห็นถึงระบบของการตรวจสอบและการถ่วงดุลอำนาจของทั้ง 3 ฝ่าย หลักการนี้ถือเป็นหัวใจของทั้งหลักการเชื่อมโยงอำนาจและการแบ่งแยกอำนาจ แต่ละสาขาอำนาจต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน 
การตรวจสอบถ่วงดุลจึงทำให้อำนาจแต่ละฝ่ายแต่ละสาขาประสบความสำเร็จในการบริหารอำนาจ ช่วยให้การปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจที่ได้รับมอบหมายจากรัฐธรรมนูญเป็นไปได้โดยสะดวก และป้องกันการเป็นเผด็จการในการใช้อำนาจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากปราศจากหลักการนี้อำนาจทางการเมืองจะแยกขาดเป็นเอกเทศเสียจนระบบการเมืองไม่มีประสิทธิภาพ หรือไม่อำนาจทางการเมืองก็ถูกกินรวบฉ้อฉลโดยบุคคลหรือคณะบุคคล 

3. หลักการเชื่อมโยงอำนาจ (Fusion of Powers)  
หลักการนี้มีลักษณะที่แตกต่างกับการแบ่งแยกอำนาจ ที่มาของอำนาจมีการหลอมรวมหรือมีที่มาจากแหล่งเดียวกัน กล่าวคือ อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารมีแหล่งอำนาจที่ซ้อนทับกันอยู่ ดังนั้น ภายใต้หลักการนี้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารใช้อำนาจควบคู่ไปทั้งสองขาทางอำนาจ แม้จะมีรากฐานอำนาจจากแหล่งเดียวกันและการใช้อำนาจควบคู่กันไปก็มิได้หมายความว่าอำนาจจะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่ที่สภาหรือคณะรัฐมนตรี หลักการตรวจสอบถ่วงดุลยังคงทำหน้าที่บนฐานของการเชื่อมโยงอำนาจ กล่าวคือ ฝ่ายบริหาร (คณะรัฐมนตรี) ต้องรับผิดชอบต่อนิติบัญญัติ (Accountable to Legislative) ทำงานภายใต้ความไว้วางใจจากสภา (Confidence) ในขณะเดียวกันฝ่ายบริหารก็สามารถดุลคานอำนาจกับฝ่ายนิติบัญญัติโดยสามารถยุบสภา (Dissolution of Parliament) เพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชน 

ระบบรัฐสภา (The Parliament System)
1. ลักษณะทั่วไปของระบบ อังกฤษเป็นแม่แบบของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐมีพระราชอำนาจภายใต้ขอบเขตของรัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) 
ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา หรือ “Westminster Model” ถูกนำไปใช้ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก อาทิเช่น แคนาดา อินเดีย นิวซีแลนด์ มาเลเซีย ออสเตรเลีย รวมถึงประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ แม้ว่าอังกฤษจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีรัฐธรรมนูญไม่เป็นลายลักษณ์อักษร (Unwritten Constitution) แต่มิได้หมายความว่าอังกฤษจะไม่มีกฎหมายใด ๆ เพียงแต่ไม่มีกฎหมายที่รวบรวมแจกแจงสัมพันธภาพอำนาจ/โครงสร้างทางการเมืองไว้อย่างเป็นระบบในกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่ง อำนาจทางการเมืองถูกบัญญัติจัดสรรกระจัดกระจายตามกฎหมายต่าง ๆ ที่ถูกตราขึ้น (Laws) ตามขนบธรรมเนียมทางการเมืองที่ยึดถือ (Customs and Conventions)
2. อำนาจอธิปไตยของรัฐสภา (Parliamentary Sovereignty) อังกฤษเป็นประเทศที่ยึดหลักอำนาจอธิปไตยของรัฐสภา โดยรัฐสภาเป็นลักษณะสำคัญของระบบการเมืองอังกฤษ ในการใช้อำนาจบัญญัติกฎหมาย กฎหมายของรัฐสภาถือเป็นกฎหมายสูงสุดไม่มีกฎหมายใดมีอำนาจเหนือกว่า 
3. ความสัมพันธ์ทางอำนาจ หลักการเชื่อมโยงอำนาจ (Fusion of Powers) เป็นหัวใจสำคัญของระบบรัฐสภาอังกฤษ ที่มาของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารมาจากที่เดียวกัน ประชาชนจะเป็นผู้เลือกตัวแทนของตนเข้าไปทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ และนายกรัฐมนตรีซึ่งถือว่าเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารจะเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากในสภา การที่ฝ่ายบริหารนั้นมาจากฝ่ายนิติบัญญัติ จะต้องรับผิดชอบตรงต่อฝ่ายนิติบัญญัติ (Accountable to Legislative) ฝ่ายบริหารที่ต้องทำงานภายใต้ความไว้วางใจจากสภา (Confidence) ในขณะเดียวกันฝ่ายบริหารก็สามารถดุลคานอำนาจกับฝ่ายนิติบัญญัติโดยสามารถยุบสภา เพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชน การดำรงคงอยู่ของรัฐบาลขึ้นอยู่กับความไว้วางใจของรัฐสภา แม้ในทางทฤษฎีจะดูเหมือนว่าฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจเหนือฝ่ายบริหาร แต่ในโลกความเป็นจริงกลับตรงข้าม เนื่องจากคณะรัฐมนตรีประกอบด้วยผู้นำของพรรคเสียงข้างมากในสภาที่สามารถควบคุมสมาชิกรัฐสภาได้ จึงมักได้รับการสนับสนุนจากเสียงข้างมากในสภาและสามารถมั่นใจได้ว่าจะอยู่ในตำแหน่งและได้รับความมั่นใจอนุมัติข้อเสนอทางกฎหมาย
        4. ระบบสภาคู่อำนาจไม่เท่าเทียม (Imbalanced Bicameralism) รัฐสภาสหราชอาณาจักรอังกฤษเป็นระบบสองสภาที่ไม่เท่าเทียม (Imbalanced Bicameralism) ซึ่งประกอบไปด้วย “สภาสูง” หรือ สภาขุนนาง (House of Lords) และ “สภาล่าง” หรือ สภาสามัญชน (House of Commons) คำว่า สองสภาที่ไม่เท่าเทียม หมายความว่า อำนาจในเชิงการเมืองไม่เท่าเทียมกัน สภาขุนนาง (เป็นสภาที่มาจากการแต่งตั้ง) อำนาจ             นิติบัญญัติเกือบทั้งหมดเป็นของสภาสามัญ สภาสูงมีอำนาจเพียงกลั่นกรองและชะลอการออกกฎหมายเท่านั้น 
มีอำนาจหลักในการบัญญัติกฎหมายขึ้นเพื่อบังคับแก่กิจการทั้งปวง รวมทั้งบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับการปกครองให้มีผลเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรด้วย และมีหน้าที่สรุปได้ดังนี้ (1) พิจารณาออกกฎหมาย และพระราชบัญญัติต่างๆ (2) พิจารณาข้อเสนอเกี่ยวกับนโยบายด้านภาษีและการคลังของรัฐบาล และ (3) พิจารณานโยบายและกำกับดูแลการบริหารของรัฐบาล

ระบบประธานาธิบดี (Presidential System)
1. ลักษณะทั่วไปของระบบ ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาและได้กลายเป็นแม่แบบระบบการปกครองแบบประธานาธิบดีทั่วโลก ในระบบการเมืองนี้ที่มาและอำนาจของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติจะแยกขาดจากกันอย่างเด่นชัด ทั้งฝ่ายต่างมาจากประชาชนโดยตรง ประชาชนจะเป็นผู้เลือกผู้นำฝ่ายบริหาร (ประธานาธิบดี) และฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งจะแตกต่างจากระบบรัฐสภาแบบอังกฤษที่ประชาชนสามารถเลือกฝ่ายนิติบัญญัติได้อย่างเดียว ส่วนฝ่ายบริหารถูกเลือกโดยฝ่ายนิติบัญญัติอีกที่หนึ่ง 
2. อำนาจสูงสุดอยู่ที่รัฐธรรมนูญ อำนาจทางการบริหารอยู่ประธานาธิบดี ประธานาธิบดีจะได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนทั้งประเทศทำให้อำนาจการบริหารสูงสุดจะอยู่ภายใต้การควบคุมของประธานาธิบดี และยังได้รับความเคารพจากประชาชนในฐานะประมุขของประเทศอีกด้วย โดยมีวาระในการดำรงตำแหน่ง 4 ปี และไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้เกินสองสมัย ประธานาธิบดีมีอำนาจในการแต่งตั้งถอดถอนรัฐมนตรีนั้นหมายความว่า คณะรัฐมนตรีรับผิดชอบและขึ้นตรงต่อประธานาธิบดีในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารแต่เพียงผู้เดียว 
3. ความสัมพันธ์ทางอำนาจ รากฐานระบบประธานาธิบดีแบบอเมริกามีลักษณะของการแบ่งแยกอำนาจ (Separation of Powers) ซึ่งตรงข้ามกับระบบหลอมอำนาจของระบบรัฐสภาอังกฤษ โดยองค์ประกอบของอำนาจรัฐแบ่งออกเป็นสามด้าน นิติบัญญัติ, บริหาร, ตุลาการ นัยสำคัญของการแบ่งแยกอำนาจคือ สถาบันที่เป็นตัวแทนของปวงชนไม่ได้มีหนึ่งเดียว หากแต่แบ่งแยกเป็นสองสาย นั่นคือ ฝ่ายบริหารโดยมีประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งทางตรง และฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งมาจากการเลือกตั้งทางตรงเช่นกัน ดังนั้น การทำงานของฝ่ายบริหารจึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อฝ่ายนิติบัญญัติ ขณะเดียวกันฝ่ายบริหารก็ไม่มีอำนาจในการยุบสภาเหมือนระบบรัฐสภา เป็นเหตุให้ต่างฝ่ายต่างมีวาระในการดำรงตำแหน่งที่ตายตัว และต่างฝ่ายต่างมีความชอบธรรมทางการเมืองจากการเลือกตั้งโดยประชาชนทั้งคู่ 
การแบ่งแยกอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและบริหาร ไม่ได้หมายความว่าอำนาจแยกขาดอิสระจากกันโดยเด็ดขาด โครงสร้างทางอำนาจในระบบประธานาธิบดียังได้ออกแบบให้แต่ละฝ่ายสามารถตรวจสอบดุลอำนาจซึ่งกันและกัน (Checks and Balances) เพื่อไม่ให้ฝ่ายหนึ่งใช้อำนาจเกินไปกว่าขอบเขตของรัฐธรรมนูญ เช่น ประธานาธิบดีมีอำนาจยับยั้งกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ (Veto) ฝ่ายนิติบัญญัติก็สามารถยื่นถอดถอนประธานาธิบดี (Impeachment) โดยการนำข้อกล่าวหาต่าง ๆ เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร เพื่อเปิดให้มีการไต่สวนขึ้น หากประธานาธิบดีกระทำความผิดในข้อหากบฏ ติดสินบน หรืออาชญากรรมร้ายแรง และลงมติถอดถอนโดยวุฒิสภา 
ในส่วนอำนาจตุลาการก็มีการตรวจสอบโดยศาลสูงประกอบไปด้วยผู้พิพากษา 9 คน ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีและได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา 
4. ระบบสองสภาอำนาจเท่าเทียม (Balanced Bicameralism) รัฐสภาคองเกรส ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร (House of Representatives) และวุฒิสภา (Senate) โดยทั้งสองสภามีอำนาจทัดเทียมกัน การที่ทั้งสองสภามาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งคู่ จึงทำให้มีอำนาจและความชอบธรรมทางการเมืองอย่างเท่าเทียม กฎหมายจะผ่านและมีผลบังคับใช้ได้จะต้องผ่านการเห็นชอบจากทั้งสองสภา
รัฐธรรมนูญอเมริกายังกำหนดอำนาจหน้าที่เฉพาะของแต่ละสภาไว้ด้วย วุฒิสภามีอำนาจเห็นชอบกับการแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญๆ ที่แต่งตั้งโดยประธานาธิบดี อาทิ ผู้พิพากษาศาลสูง เป็นต้น และมีอำนาจในการให้ความยินยอมในสนธิสัญญา แต่ในส่วนการเสนอกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องภาษี (Raising Revenue) สภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นถึงจะมีสิทธิในการเสนอ หรือในกรณีการยื่นถอดถอนประธานาธิบดี (Impeachment) ต้องมีการรวบรวมข้อกล่าวหาเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อทำการไต่สวน ซึ่งกระบวนการดังกล่าวต้องเริ่มจากสภาผู้แทนราษฎรก่อน จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการไต่สวนของวุฒิสภา ถ้าวุฒิสภาลงมติ 2 ใน 3 ประธานาธิบดีก็จะหลุดออกจากตำแหน่ง

ระบบกึ่งประธานาธิบดี-กึ่งรัฐสภา (The Semi-Presidential System)
1. ลักษณะทั่วไปของระบบ ระบบกึ่งประธานาธิบดีถือกำเนิดจากการพัฒนาของฝรั่งเศส ในปี 1958 ภายใต้การนำของนายพล ชาร์ล เดอ โกลล์ (Charles de Gaulle) ได้ทำการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงนับเป็นการสถาปนา “สาธารณรัฐที่ 5” ของฝรั่งเศสอันเป็นต้นแบบระบบการเมืองแบบ “กึ่งประธานาธิบดี-รัฐสภา” (The Semi-Presidential System) สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
2. ทวิภาคของอำนาจฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจสั่งการทางการบริหาร ประธานาธิบดีได้รับเลือกตั้งโดยตรงจึงมีอำนาจสูงสุด โดยเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี แม้จะมีอำนาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีแต่อำนาจบริหารเป็นของนายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดีจึงเปรียบเสมือนผู้ที่มอบอำนาจในการบริหาร ส่วนผู้บริหารในทางปฏิบัติคือนายกรัฐมนตรี อำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีถือเป็นเอกสิทธิ์ของประธานาธิบดี ประธานาธิบดีสามารถแต่งตั้งใครก็ได้ไม่ว่าจะเป็นหรือไม่เป็นสมาชิกรัฐสภา เพราะมีสิทธิและเสรีภาพเต็มที่ในการเลือก
3. ความสัมพันธ์ทางอำนาจ นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อทั้งประธานาธิบดีและรัฐสภา ด้านหนึ่งนายกรัฐมนตรีมาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี จึงสามารถถูกถอดถอนโดยประธานาธิบดี ในขณะที่ความรับผิดชอบต่อรัฐสภา การลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหาร แต่การยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจค่อนข้างที่จะกระทำได้ยาก ต้องใช้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 1 ใน 10 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดในการเสนอยื่นญัตติ โดยต้องได้รับเสียงข้างมากเด็ดขาดจากสมาชิกที่ลงมติเห็นด้วยกับญัตติไม่ไว้วางใจ และเมื่อรัฐบาลได้รับเสียงไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีต้องยื่นหนังสือลาออกต่อประธานาธิบดีเพื่อแสดงความรับผิดต่อรัฐสภา และประธานาธิบดีมีอำนาจในการยุบสภาผู้แทนราษฎรแต่เพียงผู้เดียว 
ระบบควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญโดยได้จัดตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (Conseil Constitutionel) ทำหน้าที่ลดความขัดแย้งระหว่างรัฐสภากับรัฐบาล และไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะให้ทำหน้าที่เป็นองค์กรที่เป็นหลักประกันในสิทธิและเสรีภาพของประชาชน การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญจึงมีลักษณะการควบคุมก่อนการบังคับใช้กฎหมายและปัญหาแก้ข้อพิพาทว่ากฎหมายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็จะถูกจำกัดเฉพาะแต่นักการเมืองระดับสูงและสมาชิกรัฐสภาเท่านั้น 
4. ระบบสภาคู่อำนาจไม่เท่าเทียม (Imbalanced Bicameralism) ประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ทั้งสองสภามีอำนาจไม่เท่าเทียมกันสภาผู้แทนราษฎร (National Assembly) ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน มีวาระในการดำรงตำแหน่ง 5 ปี และวุฒิสภา (Senate) มีหน้าที่กลั่นกรองและให้ความเห็นชอบกฎหมายที่ผ่านมาจากสภาผู้แทนราษฎร มีวาระในการดำรงตำแหน่ง 6 ปี การเลือกตั้งวุฒิสภาของฝรั่งเศสจะแตกต่างจากสภาผู้แทนราษฎร กล่าวคือ การเลือกวุฒิสภาจะเป็นการเลือกตั้งทางอ้อมผ่านคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) 
รัฐบาลไม่ต้องมีความรับผิดชอบต่อวุฒิสภา และไม่สามารถยุบวุฒิสภาได้ แม้ว่าการจะผ่านร่างกฎหมายต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองสภา แต่ถ้าเกิดในกรณีที่ทั้งสองสภาเกิดความเห็นแย้งไม่ตรงกัน สภาผู้แทนราษฎรสามารถยืนยันมติของตนและประกาศใช้กฎหมายนั้นได้ทันที อีกทั้งในกรณีร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงินสภาผู้แทนราษฎรมีระยะเวลาพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 40 วันแต่วุฒิสภามีระยะเพียง 20 วันเท่านั้น อาจกล่าวอำนาจในการเมืองสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจมากกว่าวุฒิสภา
-------------------------