รัฐ
รัฐคืออะไร รัฐจารีต รัฐสมัยใหม่

        รัฐ ประกอบด้วย มิติอันหลากหลาย เช่น การเมือง การปกครอง อำนาจ ผลประโยชน์ พฤติกรรมทางการเมือง กฎหมาย ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ธรรมชาติมนุษย์ วัฒนธรรม ค่านิยม ชุมชน ภาษา ความเชื่อ สถาบันทางการเมือง อุดมการณ์ทางการเมือง สื่อมวลชน ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ การปกครองท้องถิ่น เป้าหมายแห่งรัฐ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ฯลฯ 
        ขอบเขตของการศึกษารัฐกว้างมากและเป็นไปได้อย่างไร้ขอบเขตการศึกษา แต่โดยพื้นฐานแล้ว นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา รัฐศาสตร์เน้นทำความเข้าใจเกี่ยวกับกิจกรรมทั้งหมดของมนุษย์ที่เกิดขึ้นในมิติของการเมืองและการปกครอง (Politics and Government) ดังนั้น การเข้าใจความหมายของรัฐในมิติของการเมืองการปกครองจึงนับว่าเป็นเรื่องสำคัญเบื้องต้นสำหรับนักรัฐศาสตร์
        อาจกล่าวได้ว่ารัฐหมายถึงชุมชนทางการเมือง (Political Community) ของมนุษย์ที่ได้รับการจัดระเบียบภายใต้โครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจและการปกครองในลักษณะใดลักษณะหนึ่งที่สะท้อนถึงการแบ่งแยกสายการบังคับบัญชาออกเป็นผู้ปกครองและผู้อยู่ใต้การปกครอง
        การทำความเข้าใจรัฐอย่างชัดเจนมากขึ้นจำเป็นที่จะต้องแยกแยะความแตกต่างระหว่างคำว่า “รัฐ” กับคำอื่น ๆ ที่มักจะใช้แทนที่กันและสร้างความสับสนกันอยู่บ่อยครั้ง เช่น ชาติ (Nation) และ ประเทศ (Country) 

        ชาติ ชาติจะหมายถึงชุมชนของมนุษย์ที่มีรากเหง้าเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันในเชิงของภาษา วัฒนธรรม ความเชื่อ พฤติกรรม การแต่งกาย การปรุงอาหาร การใช้ชีวิต ไม่จำเป็นต้องมีสถานะเป็นรัฐ เช่น กลุ่มไทใหญ่ กลุ่มกะเหรี่ยง เป็นต้น

        ประเทศ (Country) หมายถึง ดินแดนที่ได้รับการรับรองและยอมรับโดยรัฐอื่น ๆ ว่าดินแดนนั้นมีสถานะเป็นรัฐ เพราะมีรัฐบาลเป็นของตนเอง มีการปกครองตนเองและรัฐอื่นจะไม่ก้าวก่ายกิจการภายในของรัฐนั้น ต้องได้รับการรับรองสถานะโดยรัฐอื่น ๆ และโดยความชอบธรรมแห่งกฎหมายระหว่างประเทศ

ความหมายของรัฐจารีต
        รัฐจารีต (Traditional State) คือ การจัดการปกครองภายในสังคมก่อนการเกิดขึ้นของรัฐสมัยใหม่ (Modern State) 
        กำหนดเป้าหมายให้มนุษย์ตั้งเป้าหมายปลายทางแห่งชีวิตที่มุ่งสู่ธรรม หมายถึงการมีชีวิตที่ดีของมนุษย์ภายในรัฐ หน้าที่ของผู้ปกครองหรือรัฐจารีต จึงหมายถึง การทำหน้าที่เพื่อให้คนภายในรัฐก้าวเข้าสู่วิถีแห่งธรรม 
        สิ่งสำคัญ ก็คือ การที่ทุกภาคส่วนภายในรัฐจะต้องทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
        รัฐจารีตเป็นรัฐที่ให้อำนาจผู้ปกครองมากกว่าผู้อยู่ใต้การปกครอง เพราะอำนาจผู้ปกครองสัมพันธ์กับอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ยึดโยงกับความเชื่อทางศาสนา เช่น อำนาจของพระเจ้า เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงหรือยึดโยงผู้ปกครองและผู้อยู่ใต้การปกครองเข้าไว้ด้วยกัน
        ก่อนการกำเนิดของรัฐจารีต วัตถุประสงค์เพื่อการรวมตัวกันเป็นกลุ่มของมนุษย์ก็เพื่อความอยู่รอดท่ามกลางความแปรปรวนผันผวนของธรรมชาติ เช่น รูปแบบของการรวมตัวเป็นสังคมชนเผ่า (Clan) เป็นการรวมตัวกันของมนุษย์ที่มีความผูกพันกันทางสายโลหิต และสะท้อนถึงการสำนึกถึงความเป็นครอบครัวเดียวกัน มองว่าพวกตนมีบรรพบุรุษเดียวกัน มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมจิตใจ มีเอกภาพทางความเชื่อชุดเดียวกัน ต่อมาก็พัฒนาขึ้นมาเป็นความสัมพันธ์ของมนุษย์ภายใต้รัฐโบราณหรือรัฐจารีตในที่สุด
        นักวิชาการไทยหลายท่านระบุนิยามความหมายเกี่ยวกับรัฐจารีตไว้อย่างชัดเจนและด้วยความคิดเห็นที่หลากหลาย เช่น 
        ณัชชา เลาหศิรินาถ : “รัฐจารีตเป็นรัฐที่มีการจัดรูปแบบรัฐโดยได้รับอิทธิพลจากแนวคิดทางศาสนา แล้วแต่ดินแดนส่วนใดรับอิทธิพลของศาสนาใด ศาสนาที่มีอิทธิพลต่อการจัดรูปแบบรัฐจารีต ก็คือ ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธมหายาน ศาสนาพุทธลังกาวงศ์ ศาสนาอิสลาม รัฐในยุคจารีตเป็นรัฐที่มีอำนาจรัฐและอาณาเขตที่ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ อย่างเช่น บุคลิกภาพของผู้ปกครองรัฐนั้น ๆ การควบคุมกำลังพลของผู้ปกครอง” 
        กฤษณ์พชร โสมณวัตร : ให้ความเห็นเกี่ยวกับรัฐจารีตว่ารัฐจารีตสะท้อนถึงความเชื่อแบบอินทรียภาพ (Organism) หมายถึง ความสัมพันธ์ร่วมกันอย่างลงตัวและเป็นธรรมชาติของการทำงานของสิ่งมีชีวิต เช่น รัฐจารีตของอินเดียสะท้อนถึงการที่ปัจเจกบุคคลต้องทำหน้าที่เพื่อรัฐ เพราะการทำหน้าที่เพื่อรัฐคือหนทางสู่การบรรลุธรรมหรือความดีแห่งชีวิตนั่นเอง 
        เนื้ออ่อน ครัวทองเขียว : ลักษณะของรัฐจารีตหรือรัฐโบราณนั้นจะไม่มีเขตแดนแบ่งกั้นชัดเจน รัฐจารีตหรือรัฐโบราณ อาศัยการแผ่พระราชอำนาจของกษัตริย์ ซึ่งกษัตริย์เองก็ไม่ได้มุ่งหวังเพียงแค่เงินทอง หรือการแสดงแสนยานุภาพบารมีเหนือเจ้าดินแดนอื่นเท่านั้น แต่หวังกวาดต้อนคนให้เข้ามาเพิ่มขีดความสามารถทางกองทัพให้กับดินแดนของตนเอง มี “การเทครัว” หรือ “กวาดครัว” หมายความว่าเมื่อไรก็ตามที่เรารบชนะใคร ธรรมเนียมที่ชอบทำกัน ก็คือ การเผาบ้านเขาทิ้ง แล้วกวาด ช้าง ม้า วัว ควาย ทรัพย์สมบัติอะไรทั้งหลายมาเป็นของตัวเอง
        วทัญญู ฟักทอง และธิษณา วีรเกียรติสุนทร : เป็นรัฐที่เน้นการควบคุมคนมากกว่าการเป็นเจ้าของที่ดิน สงครามที่เกิดขึ้นระหว่างดินแดนหรือระหว่างอาณาจักร มีเป้าหมายสำคัญไม่ใช่แค่เฉพาะขยายอาณาเขตเท่านั้น แต่ต้องการควบคุมคนให้มาเป็นแรงงานเพื่อการก่อสร้าง เพื่อการผลิตและเสริมสร้างกองทัพให้เข้มแข็งขึ้น อำนาจของรัฐจารีตขึ้นอยู่กับการขยายดินแดนและความเข้มแข็งของกษัตริย์เป็นสำคัญ
        ไสว บุญมา : รัฐจารีตโดยเฉพาะของไทยนั้น อำนาจรัฐไม่ได้เข้มแข็งและไม่ได้กระจายลงไปสู่ตัวบุคคลอย่างชัดเจน รัฐจารีตจะสร้างความคิดชุดหนึ่งที่จะซึมลึกเข้าไปสู่ภายในระบบอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนเพื่อที่จะสามารถควบคุมผู้คนให้รวมอยู่ร่วมกันภายในรัฐได้ ความคิดหลักในการสร้างรัฐจารีตขึ้นมาไม่ได้เพียงแค่การสร้างความชอบธรรมให้แก่ผู้มีอำนาจเท่านั้น แต่อีกด้านหนึ่งก็ได้ทำให้คนที่อยู่ในรัฐต้องยอมรับในอำนาจรัฐอย่างยินยอมพร้อมใจด้วย อันทำให้เกิดระเบียบของสังคมขึ้นมา 
        นิธิ เอียวศรีวงศ์ : มองว่าการจัดระเบียบการปกครองภายในรัฐจารีตของไทยนั้น จักรพรรดิหรือเจ้าผู้ปกครองรัฐจะอยู่ในสถานะประดุจเป็นพระโพธิสัตว์ หมายความว่า ผู้ปกครองต้องได้รับการยกย่องจากประชาชนของตนเองในฐานะเป็น “จักรพรรดิราช” ซึ่งหมายถึง จักรพรรดิพระองค์นั้นต้องมีความเป็น “ธรรมราชา” ผู้ทรงธรรมและทรงอำนาจควบคู่กันเพื่อมุ่งให้ประชาชนก้าวเข้าสู่ชีวิตแห่งธรรม
        ศิวศิลป์ จุ้ยเจริญ : ระบุว่ารัฐจารีตสะท้อนถึง “ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐกับดินแดนต่าง ๆ ซึ่งเกิดความเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องขึ้นอยู่กับบารมีของเจ้าผู้ปกครอง ศูนย์กลางอำนาจหนึ่งอาจจะมีเหนือศูนย์กลางอื่น ๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ศูนย์กลางอำนาจนั้นก็สามารถกลายเป็นชายขอบของศูนย์อำนาจอื่น ๆ ได้เช่นกัน ด้วยความไม่แน่นอนนี้ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจของรัฐจารีตจึงมีความยืดหยุ่นมาก เพราะในช่วงเวลาหนึ่งเมืองที่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของราชธานีหนึ่งก็อาจก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่แทนราชธานีเดิมได้

วิธีการศึกษารัฐจารีต
Valentin Ya. Liubashits, Nikolai V. Razuvaev, Natalia V. Fedorova, Georgii Ia. Trigub และ Oleg V. Soloviev ให้ข้อเสนอแนะไว้ว่าการศึกษารัฐจารีตยังทำได้ด้วยการจำแนกวิธีการศึกษา (Approaches) ออกเป็นสองหมวดหมู่ ได้แก่ รัฐจารีตเชิงภาระหน้าที่ (Function) รัฐจารีตเชิงโครงสร้างทางสังคม (Social Structure) 
- รัฐจารีตเชิงภาระหน้าที่ (Function) 
1) รัฐจารีตทำหน้าที่เป็นสถาบันทางการเมือง (Political Institution) เพื่อการรวมศูนย์อำนาจ (Centralization)
2) รัฐจารีตมีหน้าที่ในเชิงของการขยายจำนวนทาส (Slaves) และมักนำเอานักโทษสงคราม (Prisoners of War) จากดินแดนอื่นมาใช้แรงงานในรัฐของตนเอง
3) รัฐจารีตมีหน้าที่ในการปกป้องประชาชนของตนเองจากศัตรูภายนอกและอาชญากรภายในรัฐ ในขณะเดียวกันผู้ปกครองมีหน้าที่ในการกระจายทรัพยากรเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มต่าง ๆ 
4) รัฐจารีตมีหน้าที่ขยายดินแดนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้และสามารถขยายได้เรื่อย ๆ โดยไม่มีเส้นกั้นดินแดน 
สรุปได้ว่าความหมายของรัฐจารีตเชิงภาระหน้าที่สะท้อนถึงรัฐโบราณที่เน้นการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางเพื่อคุมกำลังคนในการทำสงคราม
- รัฐจารีตเชิงโครงสร้างทางสังคม (Social Structure)
1) รัฐจารีตสะท้อนการแบ่งแยกภายในสังคมออกเป็นโครงสร้างชนชั้นต่าง ๆ ดังนี้ ชนชั้นสูง คนรวย ชาวนา ช่างฝีมือ และคนที่ดูแลตนเองไม่ได้
2) รัฐจารีตนิยมจัดโครงสร้างทางสังคมให้ผู้คนมีความผูกพันกับวิถีชีวิตแบบกสิกรรมพร้อมทั้งมีทัศนคติที่ดีต่อชุมชนและต่อหมู่บ้านที่อยู่ติดกัน พร้อมกันนั้นก็ถือเป็นการส่งเสริมความเข้มแข็งภายในรัฐเองด้วย
3) รัฐจารีตเป็นรัฐที่อำนาจส่วนกลางเกิดความไม่แน่นอนได้ง่ายและเกิดการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำได้ง่าย ลำดับช่วงชั้นทางสังคมและชนชั้น จึงเปลี่ยนแปลงได้ง่ายด้วยเช่นกัน ชนชั้นทางสังคมภายในรัฐจารีตจึงขึ้นอยู่กับการกุมอำนาจของผู้นำรัฐ ความสัมพันธ์ทางชนชั้นในรัฐจารีตจึงเปลี่ยนแปลงได้เรื่อย ๆ ขึ้นอยู่กับว่าใครคือผู้กุมอำนาจ
4) การจัดโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมภายในรัฐจารีตบางรัฐ เช่น อียิปต์และบาบิโลน (Egypt and Babylon) เน้นในเรื่องของการจัดการที่ดิน ประชาชนบางคนถือครองที่ดินได้ นอกจากนี้ ทรัพยากรที่สำคัญคือทาส รัฐจารีตอนุญาตให้ทาสเป็นทรัพย์สินที่มีการถือครองร่วม (Collective Ownership) ได้ เช่น ทาสเป็นทรัพย์สินร่วมของรัฐและวัด
สรุปได้ว่า ความหมายของรัฐจารีตเชิงโครงสร้างทางสังคมสะท้อนถึงลำดับชั้นที่แตกต่างกันของชนชั้นสูง คนรวย ชาวนา ช่างฝีมือและคนที่ดูแลตนเองไม่ได้

ความหมายของรัฐสมัยใหม่
รัฐสมัยใหม่ (Modern State) เป็นหนึ่งในหัวข้อที่กล่าวได้ว่าสะท้อนถึงข้อถกเถียงของนักวิชาการและนักคิดในวงการรัฐศาสตร์ นักวิชาการให้ทัศนะความคิดเกี่ยวกับรัฐสมัยใหม่ไว้หลากหลาย
รัฐสมัยใหม่มีการบริหารจัดการความสัมพันธ์ทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองระหว่างผู้ปกครองและผู้อยู่ใต้การปกครองภายในดินแดนที่แน่นอน ศูนย์กลางแห่งอำนาจหรือราชธานีเริ่มมีความแน่นอนชัดเจนมากขึ้น มีการรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจ (Decision Making) และความเจริญในด้านต่าง ๆ เหนือชายขอบ มีจิตสำนึกถึงอำนาจอธิปไตย (Sovereignty) การบริหารจัดการด้วยระบบราชการ (Bureaucracy) ที่ระเบียบคำสั่งและการตัดสินใจมีความเป็นทางการ บังคับใช้ทั่วทุกพื้นที่ภายในรัฐ และมีการแบ่งแยกออกเป็นฝ่ายต่าง ๆ ประกอบด้วย ประเภทของการปกครองที่หลากหลาย เช่น สมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) ประชาธิปไตย (Democracy) เผด็จการ (Dictatorship) สังคมนิยม (Socialism) และคอมมิวนิสต์ (Communism) 
ประชาชนมีประสบการณ์กับระเบียบกฎหมายชุดเดียวกันพร้อมทั้งให้ความเคารพยินยอมต่อชุดกฎหมายนั้นตามแต่ที่การปกครองประเภทต่าง ๆ แห่งรัฐสมัยใหม่จะกำหนดขึ้น
รัฐสมัยใหม่จึงมีความเป็นสถาบันทางการเมือง (Political Institution) ซึ่งกำหนดรูปแบบพฤติกรรมที่ชัดเจนทางการเมืองภายใต้บรรทัดฐาน และกระบวนการที่เป็นลำดับขั้นตอนภายใต้โครงสร้างการบริหารที่ชัดเจน ประชาชนเริ่มเกิดจิตสำนึกถึงความเป็นชาติ (Nation) สะท้อนออกมาในรูปของสัญลักษณ์ร่วมกันต่าง ๆ เช่น เพลงชาติ อนุสาวรีย์ ประวัติศาสตร์ร่วม ฯลฯ รวมถึงการใช้ภาษาตระกูลเดียวกัน มีการระบุความเป็นพลเมือง (Citizenship) สิทธิ (Rights) และเสรีภาพ (Freedom) ของพลเมืองภายในรัฐผ่านเอกสารราชการต่าง ๆ เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนสมรส สูติบัตร ใบอนุญาตขับขี่ ฯลฯ 
สถานะแห่งการเป็นรัฐของรัฐสมัยใหม่จะต้องได้รับการยอมรับหรือรับรองจากรัฐอื่น ๆ ในโลกว่ารัฐนั้นมีดินแดนเฉพาะที่จะเข้าไปล่วงล้ำไม่ได้ มีการแบ่งแยกชัดเจนระหว่างพื้นที่ภายใน (Internal) ซึ่งศูนย์กลางการตัดสินใจมีอำนาจอย่างเต็มขั้นและพื้นที่ภายนอก (External) นักวิชาการให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐสมัยใหม่ไว้หลากหลาย ดังนี้
Johann Kaspar Bluntschli ให้นิยามรัฐสมัยใหม่ว่า องค์กรทางการเมืองที่มีการบริหารจัดการทางการเมืองให้กับประชาชน กิจกรรมรวมถึงพฤติกรรมทางการเมืองของประชาชนจะต้องอยู่ภายใต้บรรทัดฐานและระเบียบทางกฎหมาย
Woodrow Wilson ให้นิยามรัฐสมัยใหม่ว่า ประชาชนที่ถูกจัดระเบียบภายใต้กฎหมายภายในดินแดนหนึ่ง ๆ เป็นการเฉพาะ
James Garner ให้นิยามรัฐสมัยใหม่ว่า ชุมชนของผู้คนที่มีจำนวนพอประมาณที่เข้าครอบครองดินแดนที่มีอัตราส่วนแน่นอน เป็นอิสระจากการควบคุมจากภายนอกและมีรัฐบาลที่เป็นระบบระเบียบซึ่งประชาชนให้การเชื่อฟังและปฏิบัติตามโดยยึดถือว่าเป็นประเพณี
Harold Laski ให้นิยามรัฐสมัยใหม่ว่า การรวมกลุ่มทางสังคมภายในดินแดนที่การแบ่งสรรปันส่วนไว้อย่างแน่นอนที่ได้มีการแบ่งแยกอำนาจระหว่างรัฐบาลและประชาชนผู้อยู่ใต้การปกครอง โดยรัฐบาลถือว่ามีอำนาจสูงสุดเหนือสถาบันทางการเมืองอื่น
Max Weber ให้นิยามรัฐสมัยใหม่ว่า ชุมชนของมนุษย์ที่มีความสัมฤทธิ์ผลในเชิงของการผูกขาดการใช้กำลังโดยชอบธรรมในดินแดนที่ถูกกำหนดไว้

องค์ประกอบของรัฐสมัยใหม่
        รัฐสมัยใหม่มีองค์ประกอบ 4 องค์ประกอบ ได้แก่
ดินแดน หมายถึง อาณาเขตของรัฐที่มีขอบเขตที่แน่นอน ซึ่งจะเป็นการกั้นเขตแดนรัฐหนึ่งกับอาณาเขตของรัฐอื่นอย่างชัดเจน 
ประชากร หมายถึง บุคคลที่อาศัยอยู่ในรัฐที่มีขอบเขตดินแดนแน่นอน 
รัฐบาล หมายถึง กลุ่มคนที่ทำหน้าที่ในการปกครองและสร้างความสัมพันธ์ที่เป็นระเบียบกับประชากรของตนเองภายในรัฐที่มีดินแดนและอาณาเขตแน่นอนเพื่อประโยชน์สุข ความก้าวหน้า ความกินดีอยู่ดีและความยั่งยืนของประชากรในทุกภาคส่วนของรัฐ
อำนาจอธิปไตย หมายถึง อำนาจสูงสุดของรัฐในการปกครองตนเองโดยไม่พึ่งพารัฐอื่นและปราศจากการควบคุมบังคับจากภายนอก

พัฒนาการและการก่อกำเนิดของรัฐสมัยใหม่ในยุโรป
รัฐสมัยใหม่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1648 ภายหลังจากการสิ้นสุดลงของสงครามศาสนา 30 ปี (Thirty Years’ War) ซึ่งเป็นสงครามที่เกิดขึ้นในใจกลางของทวีปยุโรปในบริเวณที่เป็นดินแดนของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire)
สงคราม 30 ปีสิ้นสุดลงที่การทำสัญญาสันติภาพ ณ กรุงเวสต์ฟาเลีย (ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเยอรมัน) สนธิสัญญานี้ต่อมาเป็นที่รู้จักกันในนามของสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลีย (The Treaty of Westphalia) ซึ่งถือว่าเป็นจุดจบของปัญหาการแบ่งแยกดินแดนที่ตกลงกันไม่ได้ในสมัยจักรวรรดิโรมัน 
สนธิสัญญาเวสต์ฟาเลียทำให้ดินแดนของยุโรปมีความชัดเจน มีความเป็นเอกเทศ มีรัฐบาลปกครองตนเองโดยไม่ขึ้นตรงกับศาสนจักรที่กรุงโรม ผู้ปกครองรัฐมีความชอบธรรม จัดตั้งรัฐบาลปกครองตนเองได้โดยอิสระ มีประชากรภายในรัฐชัดเจน และรัฐอื่นยอมรับในอำนาจอธิปไตยของรัฐนั้น
สนธิสัญญาเวสต์ฟาเลีย วางรากฐานให้กับองค์ประกอบของรัฐ ทั้ง 4 ได้แก่ ดินแดน ประชากร รัฐบาลและอำนาจอธิปไตย 
นอกเหนือจากสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลีย การก่อกำเนิดรัฐสมัยใหม่ยังประกอบไปด้วยปัจจัยอื่นทางสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจสำคัญดังต่อไปนี้
การฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) เป็นยุคที่มนุษย์ย้อนกลับไปให้ความสนใจกับมรดกทางความคิดในยุคของกรีก-โรมัน สร้างสำนึกถึงความมีเหตุผลและความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่มีเสรีภาพและปราศจากการครอบงำโดยสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้
การสิ้นสุดของยุคมืด (The End of Dark Age) เป็นการสิ้นสุดลงของยุคแห่งศรัทธาในไสยศาสตร์สิ่งลี้ลับ สิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้และการครอบงำความคิดด้านเดียวจากศาสนจักร สะท้อนถึงความคิดว่ามนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่สร้างสรรค์และมีความคิดที่หลากหลายและพร้อมจะรู้แจ้งแห่งปัญญา (Enlightened) ด้วยตนเอง 
การเกิดขึ้นของเส้นทางการค้า (The Origin of Trade Route) สะท้อนถึงบทบาทของพวกพ่อค้าและชนชั้นกระฎุมพีที่เป็นอิสระออกจากโครงสร้างทางสังคมในระบบฟิวดัล (Feudalism) มีการเกิดขึ้นของเส้นทางการค้าใหม่ ต่อมาเมื่อรู้จักการต่อเรือมากขึ้น พวกพ่อค้าจึงสามารถสะสมความมั่งคั่งและความร่ำรวยได้มากขึ้นเรื่อย ๆ

ประเภทต่าง ๆ ของการปกครองในรัฐสมัยใหม่
ราชาธิปไตย คือ ประเภทของการจัดการปกครองประเภทหนึ่งในบริบทของรัฐสมัยใหม่ ซึ่งผู้นำรัฐมีเพียงแค่บุคคลเดียวคือพระมหากษัตริย์ 
ประชาธิปไตย คือ ประเภทของการจัดการปกครองประเภทหนึ่งภายในบริบทของรัฐสมัยใหม่ซึ่งยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก
เผด็จการ คือ ประเภทของการจัดการปกครองประเภทหนึ่งภายในบริบทของรัฐสมัยใหม่ซึ่งตรงกันข้ามกับประชาธิปไตย เผด็จการจะไม่ยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนและจะไม่รับฟังเสียงของประชาชน

ทฤษฎีเกี่ยวกับรัฐสมัยใหม่
ทฤษฎีวิวัฒนาการ (Evolutionary Theory) มองว่ารัฐสมัยใหม่มีวิวัฒนาการมาจากระบบครอบครัวของมนุษย์ การก่อตัวขึ้นเป็นรัฐสมัยใหม่จึงเริ่มต้นขึ้นจากกระบวนการคิดแบบระบบครอบครัว มีพ่อเป็นผู้นำครอบครัวและสมาชิกคนอื่นพร้อมที่จะทำตาม การมีเชื้อสายเดียวกันซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสำนึกแบบความเป็นชาติและการมีอัตลักษณ์ร่วมกัน เช่น บรรพบุรุษร่วมกัน ประวัติศาสตร์ร่วมกัน ระบบพ่อปกครองลูก ระบบพ่อขุน เป็นต้น
ทฤษฎีใช้กำลังบังคับ (Force Theory) มองว่ารัฐสมัยใหม่เกิดขึ้นจากการที่คนกลุ่มหนึ่งถูกรุกรานและใช้กำลังบีบบังคับโดยคนอีกกลุ่มหนึ่ง ให้อยู่ภายใต้อำนาจของตนเอง 
ทฤษฎีเทวสิทธิ์ (Divine Right Theory) มองว่ารัฐสมัยใหม่เกิดขึ้นจากการที่ผู้นำรัฐคือคนที่พระเจ้าเลือกให้มาปกครองโลกมนุษย์ 
ทฤษฎีสัญญาประชาคม (Social Contract Theory) มองว่ารัฐสมัยใหม่เกิดขึ้นจากข้อตกลงร่วมกันของมนุษย์
-----------------------------