เอกสารประกอบการบรรยาย กระบวนวิชา RAM 1302 (การเมืองและกฎหมายในชีวิตประจำวัน)
บรรยายโดย อ.ดร.กฤติธี ศรีเกตุ อ.ปิยภพ อเนกทวีกุล
ข้อสอบ ปรนัย 120 ข้อ


"เปลวเทียนให้แสงรามคำแหงให้ทาง"
“รู้จักอภัย ตั้งใจศึกษา บูชาพ่อขุนฯ สนองคุณชาติ”
“สร้างความรู้สู่สากล สร้างคนคู่คุณธรรม”
-----------------------------

ทำไมเราต้องศึกษารัฐศาสตร์? การเมืองมีความสำคัญอย่างไรกับชีวิตมนุษย์


การเมืองสำคัญอย่างไร
        นักรัฐศาสตร์บางคนมองว่าการเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ บางคนมองว่าการเมืองเป็นเรื่องของการช่วงชิงผลประโยชน์ บางคนมองว่าเป็นเรื่องของกระบวนการจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าในสังคมอย่างชอบธรรม และบางคนเห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ส่วนรวม (Public Goods) 
ในขณะที่บางคนเห็นว่า ไม่ว่าเราจะนิยามการเมืองด้วยความหมายใดก็ตาม แก่นสารของการเมืองอยู่ที่ความขัดแย้งและการจัดการความขัดแย้งนั้น ๆ ดังนั้น กล่าวในภาพรวมแล้ว นิยามเหล่านี้เกิดจากการสังเกตของนักวิชาการที่สรุปความจากโลกแห่งความเป็นจริงทางการเมืองที่นักวิชาการแต่ละคนอาจมีมุมมองเกี่ยวกับ “การเมือง” ที่แตกต่างกันออกไป
การเมืองมีความหมายทั้งในแง่บวกและแง่ลบ 
ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย หัวใจของการปกครองในระบอบนี้อยู่ที่การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองและมีการแข่งขันกันอย่างสันติในการนำเสนอแนวความคิดต่าง ๆ รวมทั้งการเสนอตัวบุคคลหรือพรรคการเมืองเพื่อการเข้าสู่อำนาจโดยประชาชนเป็นผู้ร่วมกันตัดสินใจว่าบุคคลใด พรรคการเมืองใด หรือแนวนโยบายใดเหมาะสมที่จะได้รับโอกาสในการบริหารประเทศ ซึ่งการเมืองภายใต้ระบอบนี้เมื่อเปรียบกับระบอบอื่นแล้ว เห็นได้ชัดว่าการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมย่อมมีผลดีมากกว่าการผูกขาดอำนาจโดยบุคคลหรือคณะบุคคล
ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยเช่นกัน ผู้อ่านคงเคยได้ยินบ่อยครั้งเกี่ยวกับการเมืองที่มีความหมายในทางลบ   เรื่องราวหรือปรากฏการณ์เช่นนี้มักปรากฏเป็นข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์หรือสื่อต่าง ๆ ที่เป็นที่รับรู้ของสาธารณชน เช่น การแก่งแย่งตำแหน่งรัฐมนตรี การกำหนดนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือพวกพ้อง การใช้อำนาจทางการเมืองในการยึดครองที่ดินของรัฐ การกลั่นแกล้งโยกย้ายข้าราชการประจำที่ไม่สนองนโยบายของฝ่ายการเมือง การใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จในการกล่าวหาหรือโจมตีนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม การเล่นพรรคเล่นพวกหรือเกื้อหนุนแต่วงศาคณาญาติ ดังนี้เป็นต้น  เหตุการณ์ตัวอย่างเหล่านี้ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของ “การเมือง” และนักการเมืองเป็นลบ
การเมืองในเชิงลบมีมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์และมักถูกบันทึกไว้ในผลงานต่าง ๆ ของนักคิดนักเขียน 
ตัวอย่างเช่น งานเขียนเรื่อง The Prince ของนิคโคโล มาคิอาเวลลี (Niccolo Machiavelli) ได้สาธยายให้เห็นถึงการใช้เล่ห์เพทุบายต่าง ๆ นานาเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นการทรยศหักหลัง การใช้อำนาจอย่างเหี้ยมโหดเพียงเพื่อการรักษาอำนาจของตนไว้ การใช้ความเมตตาเป็นอาวุธในการปกครองหรือครอบงำผู้อื่น เป็นต้น การสาธยายถึงการเมืองในแง่ลบเช่นนี้ทำให้มาคิอาเวลลีถูกวิจารณ์ว่าเป็นผู้เผยแพร่ความรู้ในสิ่งที่ไม่ดีไม่งามในทางการเมืองจนถูกขนานนามว่าเป็น “ปรมาจารย์แห่งความชั่วร้าย” (The Teacher of Evil)
       การเมืองจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวพันกับมนุษย์เราไม่โดยทางตรงก็โดยทางอ้อม ด้วยเหตุนี้จึงมีคำกล่าวที่สะท้อนออกซึ่งสามัญสำนึกเสมอว่า “หากเราไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง สักวันหนึ่ง การเมืองก็จะมายุ่งเกี่ยวกับเรา” 
คำกล่าวนี้มีทั้งส่วนผิดและส่วนถูก ส่วนที่ผิด คือ เราทุกคนคงไม่มีโอกาสที่จะยุ่งกับการเมืองในลักษณะเดียวกันหรือในระดับเดียวกัน การเมืองเป็นกิจกรรมหนึ่งที่แต่ละบุคคลอาจเลือกสัมผัสแบบผิวเผินหรือแบบเข้มข้น นอกจากนั้น แม้การเมืองจะเป็นสิ่งที่ทุกคนควรสนใจ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะมีโอกาสทัดเทียมกันในการทำกิจกรรมทางการเมือง 
ในนครรัฐเอเธนส์เมื่อสมัย 600 – 500 ปีก่อนคริสต์ศักราชก็เช่นกัน  นครรัฐนี้ได้ชื่อว่าปกครองแบบ “ประชาธิปไตยโดยตรง” มีระบบการเลือกผู้นำด้วยวิธีการจับสลากซึ่งถือว่ายึดหลักความเท่าเทียมกันอย่างเคร่งครัดที่สุด นครรัฐแห่งนี้ให้สิทธิ์แก่ชายชาวเอเธนส์ทุกคนที่มีอายุเกิน 20 ปีขึ้นไปสามารถเข้าร่วมประชุมสภาเมืองได้ แต่ก็มีเพียงแค่ 20-30 % เท่านั้นที่เข้าร่วมประชุม ชาวเอเธนส์ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตตามปกติ ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการประชุมสภาเมืองแต่อย่างใด
       อีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า คนเราย่อมมีศักยภาพหรือมีความพร้อมไม่เท่าเทียมกันในการเข้าไป “ยุ่ง” กับกิจกรรมสาธารณะ คือ ความตื่นตัวของคนงานในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ปรากฏว่าจากการศึกษาวิจัยของนักรัฐศาสตร์คนสำคัญอย่าง อดัม เซวอร์สกี้ (Adam Przeworski) ทั้งในยุโรปและในสหรัฐอเมริกา สัดส่วนของคนงานที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน (Rate of Unionization) ลดน้อยถอยลงตามลำดับทั้ง ๆ ที่คนงานต่างตระหนักดีว่าการสนับสนุนสหภาพแรงงานจะทำให้คนงานแต่ละคนมีหลักประกันในด้านความมั่นคงในการทำงานและมีหลักประกันในเรื่องสวัสดิการต่าง ๆ ดีกว่าการไม่มีสหภาพแรงงาน
       อย่างไรก็ตาม การเมืองย่อมมีผลกระทบต่อคนเราไม่ทางตรงก็ทางอ้อม 
       ในด้านผลกระทบทางตรง เช่น หากรัฐบาลตัดสินใจลดอัตราภาษีนิติบุคคล แต่เพิ่มอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประชาชนทั่วไปย่อมเดือดร้อนจากอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้น แต่ผู้ที่เป็นเจ้าของหรือผู้ลงทุนในธุรกิจเอกชนย่อมได้รับผลประโยชน์จากการลดอัตราภาษีและย่อมพึงพอใจในนโยบายนั้นเป็นธรรมดา หากการปรับอัตราภาษีเช่นนี้เกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตย สาธารณชนย่อมมีโอกาสที่จะแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวและในท้ายที่สุด อาจนำไปสู่การปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดความยุติธรรมมากขึ้นก็เป็นได้
       ผลกระทบในทางอ้อม เช่น ในช่วงเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา ความแตกแยกทางการเมืองในสังคมไทยทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงเนื่องจากนักลงทุนไม่กล้าเสี่ยงที่จะลงทุนในประเทศไทย สภาพการณ์เช่นนี้ทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น รายได้ของผู้ที่มีรายได้น้อยอยู่แล้วหดตัวลง และภาวะหนี้สินของครัวเรือนก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม ในบางสถานการณ์ การเมืองก็อาจนำไปสู่ปรากฏการณ์ที่ไม่มีใครคาดหมายหรืออยู่เหนือความคาดหมายของผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังจะเห็นได้จากการนำเอาลัทธิคอมมิวนิสม์ (Communism) มาใช้ในการปกครองประเทศ วลาดิเมียร์ เลนิน (Vladimir Lenin) ก็ดี เหมาเจ๋อตุง (Mao Zedong) ก็ดี ต่างต้องการผลักดันให้เกิดความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม ไม่ให้มีการกดขี่เอารัดเอาเปรียบทางชนชั้น แต่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นไปตามความคาดหวัง

รัฐศาสตร์สำคัญอย่างไร
       โลกที่เราอาศัยอยู่นี้มีสภาวะที่แตกต่างกัน จากดินแดนที่มีแต่ความสงบสุขไปจนถึงดินแดนที่มีแต่ความขัดแย้งร้อนระอุอยู่ตลอดเวลา ความแตกต่างนี้เป็นปริศนาที่ชวนให้คิดว่า ทำไมแต่ละพื้นที่จึงมีความแตกต่างกันเช่นนี้และหากเราต้องการทำให้แต่ละพื้นที่มีความน่าอยู่มากยิ่งขึ้น จะมีองค์ความรู้ใดบ้างที่สามารถนำมาใช้หรือประยุกต์เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้ไม่มากก็น้อย
รัฐศาสตร์ถือกำเนิดบนพื้นฐานของความพยายามที่จะหาคำตอบสำหรับคำถามบางส่วนที่หยิบยกมาข้างต้น บรรดานักปราชญ์คนสำคัญของโลกนับแต่โสเครตีส เพลโต อริสโตเติ้ลเรื่อยมาจนถึงนักปราชญ์อื่น ๆ อีกนับร้อยนับพันต่างล้วนขบคิดถึงปัญหาเหล่านี้ทั้งสิ้น บ้างตั้งคำถามที่เป็นคำถามอมตะ เช่น เจเรมี่ เบนแธม (Jeremy Bentham) ถามคำถามเช่นเดียวกับที่อริสโตเติ้ลเคยถามนับพันปีก่อนหน้านี้ว่า “ความสุข คือ อะไร” ผู้ปกครองจะปกครองประชาชนให้เป็นสุขได้อย่างไรและเราจะรู้ได้อย่างไรว่าประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขภายใต้การปกครองนั้น ๆ หรือจอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill) ตั้งคำถามว่า สถาบันหรือองค์กรที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบผู้อื่นควรมีอำนาจมากแค่ไหนและเราจะมีหลักประกันอะไรที่จะป้องกันไม่ให้สถาบันหรือองค์กรตรวจสอบนั้น ๆ ใช้อำนาจเกินขอบเขตหรือใช้อำนาจในทางฉ้อฉลได้ ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นใกล้ตัวและศาสตร์ที่มุ่งมั่นในการค้นหาคำตอบทั้งในทางทฤษฎีและในทางปฏิบัติ คือ รัฐศาสตร์นั่นเอง
       ด้วยเหตุนี้ความสำคัญของวิชารัฐศาสตร์จึงมีดังต่อไปนี้
ประการแรก รัฐศาสตร์เป็นสาขาวิชาทางสังคมศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับชีวิตของปัจเจกบุคคลและชีวิตของสังคมโดยรวม องค์ความรู้นี้ได้แตกแขนงออกเป็นสาขาวิชาย่อยต่าง ๆ เช่น การปกครอง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การบริหารงานสาธารณะหรือการบริหารรัฐกิจหรือรัฐประศาสนศาสตร์ รวมตลอดทั้งเศรษฐศาสตร์การเมือง 
ประการที่สอง รัฐศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาจริยธรรมของนักการเมืองและบรรทัดฐานของสังคมโดยรวม ในแง่นี้ การถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาจริยธรรมจึงเป็นการยกระดับความคิดและจิตสำนึกของคนเราไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นผู้นำหรือนักการเมืองหรือไม่ก็ตาม
ประการที่สาม นอกจากผู้ศึกษาวิชารัฐศาสตร์จะได้รับความรู้เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง การบริหารรัฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแล้วก็ตาม การศึกษาวิชารัฐศาสตร์ยังทำให้ผู้ศึกษามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับที่มาของหลักการต่าง ๆ ในระบบการเมือง เช่น เหตุใดบางประเทศจึงใช้ระบบการเลือกตั้งที่กำหนดให้ผู้ชนะการเลือกตั้งต้องได้คะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด (Absolute Majority) ในขณะที่บางประเทศใช้ระบบเสียงข้างมากธรรมดา (Simple Majority หรือ Plurality System) หรือบางประเทศใช้ระบบคะแนนเสียงแบบสัดส่วน (Proportional system) เป็นต้น
ประการที่สี่ รัฐศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ให้ความสนใจกับการคิดค้นทฤษฎีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับมนุษย์และสังคมโดยรวม ทฤษฎีเป็นเครื่องมือทางความคิดที่สำคัญที่ทำให้เราสามารถจัดระเบียบข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างเป็นระบบและไม่หลงประเด็นในการวิวาทะทางปัญญา 
ประการที่ห้า สาขาวิชารัฐศาสตร์มีนักรัฐศาสตร์หรือนักทฤษฎีจำนวนมากที่ต้องการค้นหาคำตอบเกี่ยวกับ “การพัฒนา” หรือการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมหรือต้องการค้นหา “กุญแจ” ดอกสำคัญที่นำไปสู่คำตอบเกี่ยวกับแนวทางของการสร้างความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน ด้วยเหตุนี้ “การเมืองกับการพัฒนา” จึงเป็นหัวข้อหนึ่งที่อยู่ในความสนใจของสาขาวิชานี้
ประการสุดท้าย องค์ความรู้ทางรัฐศาสตร์เป็นองค์ความรู้ที่มีขอบเขตที่กว้าง มีมิติหรือมุมมองทางวิชาการที่ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ เกือบทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของมนุษย์และสังคม แต่อย่างไรก็ตาม ในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา รัฐศาสตร์ได้พัฒนาไปสู่ “การศึกษานโยบายสาธารณะ” (Public Policy Studies) มากยิ่งขึ้น จนกลายเป็นสาขาวิชาหนึ่งที่แพร่หลายในหลายสถาบันการศึกษา
--------------------------------------