POL2100 : การเมืองการปกครองในประเทศอังกฤษ

โดย อ.ดร.กฤติธี ศรีเกตุ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ข้อสอบอยู่ในคำบรรยายนี้ทั้งหมด โปรดอ่านและทำความเข้าใจให้ดี
-------------------------
กฎหมายรัฐธรรมนูญอังกฤษ : รัฐธรรมนูญที่มีชีวิต 
  • รัฐธรรมนูญไม่เป็นลายลักษณ์อักษร (Unwritten Constitution) ประกอบด้วย หลักการปกครองต่างๆ ที่ไม่ได้อยู่รวมเป็นรัฐธรรมนูญเฉพาะ แต่กระจายตามกฎหมายและคำพิพากษาต่างๆ รวมถึงธรรมเนียมปฏิบัติสืบทอดกันมา
  • มีความยืดหยุ่น สามารถมีการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ เสมือนเป็นสิ่งมีชีวิต
  • เป็นผลวิวัฒนาการยาวนานของระบอบประชาธิปไตยในประเทศอังกฤษที่สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในดุลอำนาจของกลุ่มและชนชั้นต่างๆ ค่อยๆ ลดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ลงที่ละเล็กละน้อย
  • ศตวรรษที่ 19 มีรัฐธรรมนูญที่เป็นตัวแทนของชนชั้นกลางมากขึ้น เรื่อยมาจนเป็นรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตยในศตวรรษที่ 20 
ประวัติของกฎหมายรัฐธรรมนูญอังกฤษ
 บทบัญญัติแมคนาคาร์ตา (Magna Carta 1215) มีหลักการดังนี้
  • พระเจ้าแผ่นดินจะเรียกเก็บภาษี หรือขอให้ราษฎรให้ความช่วยเหลือไม่ได้ นอกจากจะได้รับความยินยอมจากที่ประชุมหัวหน้าราษฎร
  • การงดใช้กฎหมาย หรือการยกเว้นไม่ใช้กฎหมายบังคับแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งจะกระทำไม่ได้
  • บุคคลใดๆ จะถูกจับกุมคุมขัง หน่วงเหนี่ยว หรือขับไล่เนรเทศไม่ได้ นอกจากการนั้นเป็นไปโดยคำพิพากษาที่ชอบ และตามกฎหมายของบ้านเมือง 
 เป็นรากเหง้าของประชาธิปไตยและรากฐานรัฐธรรมนูญของอังกฤษ
  • คำขอสิทธิ (Petition of Right 1628) วางพื้นฐานให้ประชาชนสามารถประท้วงพระมหากษัตริย์ ในเรื่องของการเก็บภาษี โดยไม่ได้รับความยินยอมจากรัฐสภา การจับกุมคุมขังตามอำเภอใจ และการกระทำอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบถึงเสรีภาพของประชาชน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงจำยอมต่อข้อเรียกร้องเหล่านี้ทุกข้อ
  • พระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิ (Bill of Rights 1689) เป็นการยุติพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่ละเว้น และเพิกเฉยต่อการออกกฎหมายโดยไม่ได้รับความยินยอมจากรัฐสภา ถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของสภาสามัญ ในการต่อสู้ กับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์มาเป็นเวลายาวนาน
  • กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ (The Act of Settlement 1701) วางหลักความเป็นอิสระในการพิพากษาคดีของศาล และวางเงื่อนไขหลักการปกครองแบบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

 ที่มาของกฎหมายรัฐธรรมนูญอังกฤษ 
  • กฎหมายที่บัญญัติขึ้น (Statute Law) พระราชบัญญัติที่บัญญัติผ่านโดยรัฐสภา
  • กฎหมายจารีต (Common Law) กฎ ระเบียบ และจารีตประเพณี ที่มีมาแต่โบราณ ศาลได้ตีความวินิจฉัยแล้วให้ความเห็นชอบด้วย จึงถือเป็นกฎหมายที่มีมาก่อน (Precedent) 
  • ธรรมเนียมปฏิบัติ (Conventions Law) กรอบการประพฤติปฏิบัติเชิงรัฐธรรมนูญที่มีมาเป็นระยะเวลานาน แต่ไม่ถือเป็นกฎหมาย ไม่สามารถฟ้องร้องต่อศาลได้ 
  • ข้อเขียนที่เชื่อถือได้ (Work of Authority) ผลงานการตีความกฎหมาย โดยอาศัย หนังสือ และข้อเขียนที่ได้รับการยอมรับว่า เป็นแนวทางในการตีความของรัฐธรรมนูญ

หลักการสำคัญของกฎหมายรัฐธรรมนูญอังกฤษ
  • ความเป็นเอกรัฐ/รัฐเดี่ยว (Unitary State)
  • อำนาจอธิปไตยของรัฐสภา (Parliamentary Sovereignty)
  • หลักนิติธรรม (Rule of Law)
  • ประชาธิปไตยแบบรัฐสภาภายใต้พระมหากษัตริย์เป็นประมุข (Parliamentary Government Under a Constitutional Monarchy)
ลักษณะสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ของอังกฤษ
  • ระบบกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และสืบทอดโดยการสืบสันตติวงศ์ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา 
  • พระมหากษัตริย์ คือ ประมุขของประเทศ เป็นสัญลักษณ์ของประเทศและรัฐธรรมนูญ มีบทบาททางพิธีการ 
  • พระมหากษัตริย์ทรงเป็นกลางทางการเมืองไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด 
  • พระมหากษัตริย์ต้องนับถือศาสนาคริสต์นิกายอังกฤษ (Church of England) 
  • พระมหากษัตริย์กษัตริย์จะเป็นหญิงหรือชายก็ได้ 
  • พระมหากษัตริย์ทรงบรรลุนิติภาวะเมื่อมีพระชนมายุได้ 18 พรรษา
  • อำนาจดั้งเดิมของพระมหากษัตริย์เป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติ การบริหารอำนาจในปัจจุบันโดยผ่านการถวายคำแนะนำจากผู้นำฝ่ายบริหาร คือ นายกรัฐมนตรี
  • พระมหากษัตริย์ทรงทำผิดไม่ได้ (The King Can Do No Wrong) รัฐบาลในฐานะผู้รับสนองพระบรมราชโองการต้องรับผิดชอบทางการเมืองต่อพระมหากษัตริย์ 
ระบบการเมืองอังกฤษ
  • หลักการที่สำคัญที่สุดของระบบการเมืองอังกฤษ คือ “อำนาจอธิปไตยของรัฐสภา” 
  • รัฐสภามีสิทธิที่จะออกกฎหมาย หรือยกเลิกกฎหมายใดๆ ก็ได้ ไม่มีผู้ใดในอังกฤษที่จะมีสิทธิเพิกเฉย หรือละเมิดต่อกฎหมายรัฐสภา
  • รัฐสภาภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งอังกฤษมีสิทธิในการที่จะบัญญัติ หรือไม่บัญญัติกฎหมายใดๆ และไม่มีบุคคลใดจะได้รับการยอมรับโดยกฎหมายอังกฤษที่จะมีสิทธิล้มล้างกฎหมายที่บัญญัติโดยรัฐสภา
 ฝ่ายนิติบัญญัติ
  •  รัฐสภาสหราชอาณาจักรมีอำนาจ หลักในการบัญญัติกฎหมายขึ้น เพื่อบังคับแก่กิจการทั้งปวง รวมทั้งบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับการปกครองให้มีผลเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรด้วย และมีหน้าที่สรุปได้ดังนี้
 พิจารณาออกกฎหมาย และพระราชบัญญัติต่างๆ
 พิจารณาข้อเสนอเกี่ยวกับนโยบายด้านภาษีและการคลังของรัฐบาล 
 พิจารณานโยบายและกำกับดูแลการบริหารของรัฐบาล 
  •  ส่วนประกอบของรัฐสภาอังกฤษแบ่งออกเป็นสภาสามัญ (the House of Commons) และสภาขุนนาง (the House of Lords) ในทางทฤษฎีจะรวมเอาพระมหากษัตริย์เข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐสภาด้วย
 พระมหากษัตริย์
  •  เป็นประมุขและสัญลักษณ์ของประเทศ (ปัจจุบันประมุข คือ สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 (Charles III)  ) 
  •  ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ด้วยการลงพระปรมาภิไธยในกฎหมายต่างๆ และแม้จะไม่มีอำนาจใดๆ ทางการเมือง แต่ก็ทรงใช้อำนาจการบริหารผ่านคณะรัฐมนตรีได้
  •  ทรงมีอำนาจในการเรียกประชุมหรือยุบสภา ตลอดจนให้ความเห็นชอบต่อร่างพระราชบัญญัติ มีอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี 
  • พระมหากษัตริย์มีสิทธิที่จะได้รับทราบถึงนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะต้องเข้าเฝ้าถวายรายงานทุกสัปดาห์
  • บทบาทที่สำคัญทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ ได้แก่ การกล่าวพระราชดำรัสต่อที่ประชุมรัฐสภาในการเปิดสมัยประชุมรัฐสภา ในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ซึ่งถือว่าพระราชดำรัสดังกล่าว เป็นการแถลงนโยบายของรัฐบาล
 สภาขุนนาง
  • สมาชิกประมาณ 1,000 คน (จำนวนอาจเปลี่ยนแปลงได้)
  • ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และประชาชนไม่มีอำนาจที่จะถอดถอนหรือควบคุม 
  • แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ ขุนนางฝ่ายศาสนา (Lords Spiritual) ผู้นำทางศาสนจักรที่ดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆ ของนิกายต่างๆ หรือ บุคคลระดับสูงทางฝ่ายศาสนาของ Church of England ในระดับ Archbishops และขุนนางฝ่ายฆราวาส (Lords Temporal) มาจาการสืบเชื้อสายทางราชวงศ์ และการสืบตระกูล
  • ในอดีตมีอำนาจมาก แต่เมื่อมีการออก Parliament Act 1911 และ 1949 ทำให้เป็นการลดอำนาจสภาขุนนางอย่างเป็นทางการ
  • ปัจจุบัน อำนาจสภาขุนนางลดน้อยลงมาก 

 หน้าที่ของสภาขุนนาง
  • อำนวยความสะดวกในการพิจารณาร่างกฎหมายที่ไม่เร่งด่วน และไม่เป็นปัญหาขัดแย้งกันมากในรัฐสภา ร่างกฎหมายประเภทนี้จะเสนอต่อสภาขุนนางก่อน 
  • ทบทวนร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาจากสภาสามัญ และสามารถยับยั้งร่างกฎหมายไว้ชั่วเวลาหนึ่งเท่านั้น
  • ในกรณีที่คดีมีความสำคัญสำหรับสาธารณชน สภาขุนนาง ก็จะเป็นผู้พิจารณาฎีกาในขั้นสุดท้าย ดังนั้นสภาขุนนาง จึงมีหน้าที่สำคัญ คือ เป็นศาลสูงสุดของประเทศ
 สภาสามัญ
  • ฝ่ายนิติบัญญัติที่มีบทบาทในการปกครองประเทศอย่างแท้จริง 
  • สมาชิกจำนวน 659 คน (แล้วแต่จำนวนประชากร) แบ่งเป็น (1) 529 ที่นั่งจากอังกฤษ (2) 72 ที่นั่งจากสกอตแลนด์ (3) 40 ที่นั่ง จากเวลส์ (4) 18 ที่นั่ง จากไอร์แลนด์เหนือ 
  • มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต เขตละหนึ่งคน (Single Constituency) โดยผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดในแต่ละเขตเลือกตั้งจะเป็นผู้ชนะ วาระของสภาสามัญมีวาระละ 5 ปี
 หน้าที่ของสภาสามัญ
  • หน้าที่ในการตรวจสอบทางนิติบัญญัติ ตรวจสอบพิจารณาร่างกฎหมายของรัฐบาลซึ่งขั้นตอนพิจารณากฎหมายของสภาสามัญ แบ่งออกเป็น
  • วาระแรก นำเสนอร่างพระราชบัญญัติอย่างเป็นทางการต่อที่ประชุมสภา โดยไม่มีการอภิปราย 
  • วาระที่ 2 อภิปรายหลักการของร่างพระราชบัญญัติโดยรัฐมนตรี สมาชิกสภาสามัญ คณะกรรมาธิการ และรายงานต่อที่ประชุมสภาเพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม หากไม่มีการแก้ไขจึงเข้าสู่วาระที่ 3
  • วาระที่ 3 เพื่อให้ทั้งสภาพิจารณาผ่านร่างพระราชบัญญัติโดยการลงมติ เมื่อผ่านขั้นตอนของสภาสามัญครบแล้วจึงเสนอร่างฯไปยังสภาขุนนางหากสภาขุนนางมีข้อแก้ไขก็จะกลับสู่สภาสามัญในขั้นตอนของการอภิปรายข้อแก้ไขของสภาขุนนาง เมื่อผ่านร่างพระราชบัญญัติทั้งสองสภาแล้ว จึงถวายเพื่อลงพระปรมาภิไธย เป็นพระราชบัญญัติ

 หน้าที่ในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร 
  • อภิปราย 
  • การตั้งกระทู้ถาม 
  • การตั้งคณะกรรมาธิการเฉพาะเรื่อง เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ และตรวจสอบการทำงานของกระทรวงต่างๆ แบ่งเป็น
1. คณะกรรมาธิการเต็มสภา
2. คณะกรรมาธิการสามัญ 
3. คณะกรรมการวิสามัญ 
4. คณะกรรมาธิการร่วมกันสองสภา
  • หน้าที่ในการควบคุมทางการคลัง เป็นวิธีการที่สภาสามัญใช้ควบคุมการบริหารงานของรัฐบาล โดยการอนุมัติงบประมาณ ให้ความเห็นชอบการใช้จ่ายงบประมาณ และคอยตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาล 
ฝ่ายบริหาร
  • ทำหน้าที่หลักรับผิดชอบในการบริหารงานของประเทศ โดยมีนายกรัฐมนตรีซึ่งได้รับแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ เป็นหัวหน้ารัฐบาล และรัฐมนตรีอื่นๆ ทั้งหมด ก็ได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์โดยการเสนอของนายกรัฐมนตรี
  • หน้าที่ของนายกรัฐมนตรี เช่น รายงานกิจการงานฝ่ายบริหารต่อองค์พระประมุข รวมทั้งเป็นประธานของคณะรัฐมนตรีควบคุมงานของทุกกระทรวง
  • อำนาจของนายกรัฐมนตรี คือ การให้ความสำคัญกับเรื่องของการป้องกันประเทศ การต่างประเทศ เศรษฐกิจ และความมั่นคงแห่งชาติ โดยที่อำนาจที่สำคัญที่สุดของนายกรัฐมนตรี ก็คือ อำนาจในการยุบสภา ให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่
  • หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษมีนายกรัฐมนตรีมาแล้วทั้งสิ้น 18 คน ปัจจุบัน คือ นายริชี ซูแน็ก จากพรรคอนุรักษ์นิยม และจากประวัติศาสตร์การเลือกตั้งที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีจะสลับหมุนเวียนกันระหว่างพรรคอนุรักษ์นิยมกับพรรคแรงงาน
  •  คณะรัฐมนตรี มีวิวัฒนาการมาจากคณะองคมนตรีซึ่งเป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ และในศตวรรษที่ 18 ได้ค่อยๆ เป็นอิสระจากสถาบันกษัตริย์ จนเชื่อมโยงใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ
  •  ในปัจจุบัน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมีหน้าที่รับผิดชอบงานของกระทรวงต่างๆ ประมาณ 22 คน รวมกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง อีกรวมเป็นคณะรัฐบาลกว่า 100 คน ซึ่งตามกฎหมายไม่มีการกำหนดเรื่องจำนวนรัฐมนตรี โดยจะอยู่ในตำแหน่งเป็นเวลา 5 ปี
  •  คณะรัฐมนตรีไม่ได้เป็นอิสระจากสภาสามัญ แต่ต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อสภาสามัญ และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันซึ่งเป็นไปตาม “หลักการที่ไม่มีการแบ่งแยกอำนาจเด็ดขาดระหว่างกัน (Fusion of Powers)” 
ฝ่ายตุลาการ
  • ประกอบด้วยผู้พิพากษาที่มาจากวงการวิชาชีพนักกฎหมาย ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง โดยคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีหรือประธานสภาขุนนาง
  • มีอำนาจน้อยกว่าของฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร เนื่องจากศาลมีหน้าที่อย่างจำกัดในการตีความพระราชบัญญัติที่รัฐสภาเป็นผู้ออก ไม่มีอำนาจบ่งชี้ว่าพระราชบัญญัติฉบับใดมีลักษณะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักการอำนาจอธิปไตยของรัฐสภาที่มีอำนาจสูงสุด
  • ฝ่ายตุลาการของอังกฤษมีความยึดโยงกับรัฐสภา เนื่องจากหัวหน้าฝ่ายตุลาการมีหน้าที่แต่งตั้งผู้พิพากษาไม่ทางตรงก็ทางอ้อม และอาจเป็นหัวหน้าคณะผู้พิพากษา เมื่อสภาขุนนางทำหน้าที่ศาลอุทธรณ์ และก็เป็นนักกฎหมายอาวุโสที่เป็นสมาชิกสภาขุนนาง ซึ่งทำหน้าที่ประธานสภาขุนนาง ในขณะเดียวกันก็เป็นรัฐมนตรีอยู่ในคณะรัฐมนตรีด้วยทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล 
-----------------------