วิชา POL 2100 : การเมืองการปกครองในสหรัฐอเมริกา 

โดย อ.ดร.กฤติธี ศรีเกตุ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ข้อสอบอยู่ในคำบรรยายนี้ทั้งหมด โปรดอ่านและทำความเข้าใจให้ดี
--------------------------

     ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศใหม่ในโลกยุคใหม่ เริ่มต้นในปี ค.ศ.1760 มีประวัติการสร้างชาติไม่ยาวนานเมื่อเทียบกับประเทศในยุโรปเหนือและเอเชียบางประเทศ แต่ในแง่ของรัฐธรรมนูญ สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีรัฐธรรมนูญใช้มานานที่สุด ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1791 ในขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปเพิ่งมีรัฐธรรมนูญใช้ในช่วงศตวรรษที่ 19 เช่น สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ ส่วนอังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญ  ที่เป็นลายลักษณ์อักษร 

     การเมืองภายในสหรัฐอเมริกาค่อนข้างมีความต่อเนื่อง ไม่มีการเปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังมือ 
     คนอเมริกันเป็นผู้ต่อต้านอาณานิคมมาแต่ต้น เพราะผู้ที่มาอาศัยแต่แรกเริ่มเป็นผู้อพยพที่ต้องการอิสระ หลีกหนีการปกครองที่ควบคุมวิถีชีวิตในประเทศเดิมของตน  
     สหรัฐอเมริกาถือเป็นประเทศที่สำเร็จรูปมาแต่ต้น ในแง่ที่ว่าผู้ที่อพยพเข้ามาเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ผนวกกับทรัพยากรที่มีอย่างมหาศาล จึงสามารถพัฒนาประเทศได้อย่างดีเยี่ยม
     อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาก็เจอปัญหาสำคัญหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการค้าทาส ที่ส่งอิทธิพลมาถึงการเหยียดผิว และเป็นต้นเหตุสำคัญของสงครามกลางเมือง 

ประวัติการเมืองการปกครองในสหรัฐอเมริกา 
     ประเทศสหรัฐอเมริกา เกิดขึ้นในยุคสมัยใหม่ เป็นยุคที่ผู้คนใช้เหตุผลในทางสังคมเพื่ออยู่ร่วมกัน เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้เหตุผลในทางการเมือง อันนำมาสู่การเมืองที่เป็นประชาธิปไตยสมัยใหม่ การสร้างประเทศสหรัฐอเมริกา จึงเกิดขึ้นอย่างเป็นประชาธิปไตย
     ระบบการเมืองของสหรัฐอเมริกา เป็นเหมือนประดิษฐกรรมของนักคิดทางรัฐศาสตร์ร่วมสมัย ได้แก่ Franklin, Jefferson, Hamilton, James Wilson และ Madison 
     กลุ่มนักคิดเหล่านี้ เป็นผู้สร้างระบบสหพันธรัฐขึ้นอีกด้วย โดยมีลักษณะสำคัญอยู่ที่ “การสร้างรัฐบาลและการปกครองที่ใช้หลักการและเหตุผลของการอยู่ร่วมกัน” ที่นับเป็น “ศาสตร์ของการปกครอง” อย่างหนึ่ง 
     หลักการสำคัญที่ผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกายึดถือ ได้แก่ อำนาจอิสระที่ควรมีและการต่อต้านอาณานิคม การแสวงหาเสรีภาพ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติและเป็นอิสระต่อกัน 
     ผู้อพยพเดินจากมาจากหลากหลายถิ่น แต่ต่างมีแนวคิด วิถีชีวิตและธรรมเนียมปฏิบัติคล้ายคลึงกันโดยทั่วไป ส่งผลให้ไม่มีปัญหาการต่อสู้ในเรื่องชาติพันธุ์

สงครามกลางเมือง 
     สงครามกลางเมืองสหรัฐอเมริกา (ค.ศ. 1861-1865) เป็นการต่อสู้ระหว่างรัฐทางเหนือและรัฐทางใต้ มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งเรื่องการเลิกทาส
     กลุ่มต่อต้านระบบทาส คือมลรัฐทางเหนือ ก่อตั้งพรรคการเมืองชื่อ พรรครีพับลิกันขึ้น กลายเป็นพรรคระดับชาติในปี ค.ศ. 1856
     ลินคอร์น จากพรรครีพับลิกัน ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 1860 พยายามที่จะเลิกทาสจนเป็นเหตุให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้น ในที่สุดฝ่ายเหนือเป็นผู้ชนะ
     สงครามกลางเมืองสร้างความเสียหายอย่างหนัก มีผู้เสียชีวิตประมาณ 6 แสนคน 

การวางรากฐานทางการปกครอง 
     การวางรากฐานทางการปกครองของสหรัฐอเมริกา คำนึงถึงการวางเกณฑ์ที่จะปกป้องระบบธุรกิจต่างๆ ที่มีอยู่เป็นสำคัญ และให้อำนาจมลรัฐในการออกกฎหมายภายในรัฐของตนอย่างมาก กฎหมายในแต่ละมลรัฐจึงแตกต่างกัน ถือเป็นสิ่งที่ก้าวก่ายกันไม่ได้ แม้แต่รัฐบาลกลาง หากรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐไม่ได้กำหนดขอบเขตไว้ให้กับรัฐบาลกลาง
     การมีส่วนร่วมทางการเมืองมีความสำคัญ ตั้งแต่ระดับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ กลุ่มผู้สนับสนุนทางการเมือง และการมีส่วนร่วมในระดับบุคคล ผ่านการเลือกตั้ง การรณรงค์ การสนับสนุนพรรคการเมือง 

โครงสร้างทางการปกครอง : ระบบสหพันธรัฐ
     ผู้คนในสังคมอเมริกัน มีวัฒนธรรมทางการเมืองที่คล้ายคลึงกัน สภาพความผูกพันทางสังคมของอเมริกันมีมาก่อนการมีรัฐธรรมนูญ การร่างรัฐธรรมนูญจึงเป็นการสร้างขึ้นจากพื้นฐานสังคมที่เป็นอยู่ และเหมาะสมตามเหตุผลความต้องการของผู้คน ไม่ใช่ตามความคิดของผู้ปกครองหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ
     โดยมีการจัดรูปแบบการปกครองเป็นแบบสหพันธรัฐหรือแบบรัฐรวม วางอยู่บนรากฐานของความเคารพเชื่อถือไว้วางใจซึ่งกันและกันใน 3 ฝ่าย ได้แก่ รัฐบาลแห่งมลรัฐของตนเอง รัฐบาลแห่งสหพันธรัฐ และรัฐบาลแห่งมลรัฐอื่นๆ 

รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา 
     รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา (ค.ศ. 1789) มีอายุกว่า 200 ปีแล้ว ประกอบด้วย บทนำ และ 7 มาตรา และข้อแก้ไขเพิ่มเติม 27 มาตรา  
     หลักการสำคัญของระบอบการปกครองที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญประกอบด้วย 2 ประการ คือ ระบอบสหพันธรัฐ และการแยกอำนาจ 

รัฐสภา (Congress)
     รัฐสภาของสหรัฐอเมริกาประกอบด้วย 2 ส่วน คือ สภาผู้แทนราษฎร (The house) และสภาผู้แทนรัฐ (The Senate) สะท้อนหลักการเรื่อง   “พหุนิยม” 
     สภาผู้แทนราษฎร มีวาระ 2 ปี สภาผู้แทนรัฐ 6 ปี (หมุนเวียนคราวละ 1 ใน 3)

การทำงานของสภาและฝ่ายบริหาร
     มีการเลือกตั้งแยกระหว่างฝ่ายสภาและฝ่ายบริหาร 
     มีการทำงานที่เป็นอิสระต่อกัน โดยใช้หลักการแบ่งแยกอำนาจ (Separation of power) การตรวจสอบและถ่วงดุล (Check and Balance) 

ประธานาธิบดี
     ประธานาธิบดีมีอำนาจสูงสุดในการปกครอง ดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี และดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ ใช้การเลือกตั้งแบบ 2 ขั้นตอน และมีฐานคะแนนเสียงจากทั่วทั้งประเทศ 
     ประธานาธิบดี ต้องดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพด้วย เป็นผู้บริหารสูงสุดของประเทศ เป็นผู้นำพรรคการเมือง และเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ 
     การถอดถอนประธานาธิบดี สามารถทำได้ หากประพฤติผิดร้ายแรง 

ตุลาการ 
     ศาลสูงของสหรัฐอเมริกา มีอำนาจและบทบาทในระดับสูง เพราะเกี่ยวข้องกับการดูแลการตีความและการใช้กฎหมายต่างๆ ในระดับสหพันธรัฐและในระดับมลรัฐด้วย ตลอดจนมีอำนาจในการพิจารณาการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารของรัฐบาลสหพันธรัฐและรัฐบาลมลรัฐ

รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา 
การทำสงครามประกาศอิสรภาพ 
     เนื่องจากความขัดแย้ง ระหว่างชาวอาณานิคมและรัฐบาลอังกฤษ ได้มีการเริ่มจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อการติดต่อสื่อสาร (Committees of Correspondence) ทำหน้าที่ส่งข่าวและติดต่อขอความร่วมมือระหว่างอาณานิคมทั้ง 13 แห่ง โดยในปี ค.ศ. 1774 ผู้แทนของอาณานิคมทุกแห่งยกเว้นจอร์เจีย ได้ประชุมกันที่เมืองฟิลาเดเฟีย และจัดประชุม “สภาแห่งทวีป ครั้งที่ 1” (The first Continental Congress) ขึ้น เพื่อประณามการกระทำของอังกฤษจนนำมาซึ่งการเรียกร้องเอกราชในเวลาต่อมา (สงครามประกาศอิสรภาพเริ่มขึ้นที่รัฐแมสซาซูเซตส์ ในเดือน เมษายน ค.ศ. 1775) 
     มีการประชุมสภาแห่งทวีปครั้งที่ 2 ในช่วงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1775 และมีการก่อตั้งกองทัพแห่งทวีปขึ้น โดยมีจอร์ช วอชิงตัน เป็นแม่ทัพ 
     สภาแห่งทวีปตัดสินใจประกาศอิสรภาพแยกตัวออกจากอังกฤษ โดยมีโทมัส เจฟเฟอร์สัน เป็นผู้ร่างคำประกาศอิสรภาพ ซึ่งคำประกาศอิสรภาพนี้ก็ได้กลายเป็นพื้นฐานของหลักการแห่งเสรีภาพด้วย สงครามประกาศอิสรภาพครั้งนั้น จึงกลายเป็น “สงครามเพื่อหลักการแห่งสิทธิเสรีภาพ” ไปด้วย 
     ในช่วงระหว่างสงคราม สภาแห่งทวีป ในสมัยประชุมครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1775-1781) ก็ได้ทำหน้าที่เป็นรัฐบาลแห่งอาณานิคมทั้ง 13 
     ในช่วงนี้ เหล่าอาณานิคมได้รวมตัวกันเป็นสมาพันธรัฐแบบหลวมๆ ทำการออกเงินตรา ตั้งกองทัพ และส่งทูตไปยังประเทศต่างๆ เพื่อขอรับรองและความช่วยเหลือ (ฝรั่งเศสเข้าช่วยรบในปี ค.ศ. 1779) 
     สงครามสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1781 และมีการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพ (สนธิสัญญาปารีส) ในปี ค.ศ. 1783 อังกฤษรับรองเอกราชของอเมริกาอย่างเป็นทางการ

ระยะอันตรภัยช่วงหลังจากการได้รับอิสรภาพ 
     ในช่วงหลังจากได้รับอิสรภาพ เป็นระยะที่เกิดความแตกแยกและกระทบกระทั่งระหว่างมลรัฐหรืออาณานิคมทั้ง 13 แห่ง เกิดความไม่มั่นคงทางการเมือง ปัญหาทางเศรษฐกิจ ที่อาจส่งผลให้ประเทศเกิดใหม่นี้ ล่มสลายไปในเวลาไม่นาน
     เนื่องจากในช่วงหลังได้รับอิสรภาพนั้น ทั้ง 13 มลรัฐ ยึดหลักการร่วมกันคือ เอกราช และ สหภาพ รวมตัวกันในรูปแบบ “สมาพันธรัฐ” (Confederation) คือการรวมตัวเป็นพันธมิตร มากกว่าจะเป็นประเทศที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
     ตามทฤษฎี การปกครองแบบสมาพันธรัฐ รูปแบบการใช้อำนาจจะเป็นการใช้อำนาจร่วมกันระหว่างมลรัฐต่างๆ กับรัฐสภา (แต่ละมลรัฐมี 1 เสียงในรัฐสภาของรัฐบาลกลาง แต่ในเชิงปฏิบัติ มลรัฐมีอำนาจมากกว่ารัฐบาลกลางมหาศาล เพราะรัฐบาลกลางไม่สามารถเก็บภาษีหรือควบคุมการค้าได้ รัฐบาลกลางขอเงินจากมลรัฐได้ แต่การที่มลรัฐจะจ่ายหรือไม่ ก็ไม่อาจบังคับได้ การบัญญัติกฎหมายก็ยาก เพราะต้องได้รับความเห็นชอบ 9 ใน 13 มลรัฐ และแม้จะออกกฎหมายได้ ก็ไม่อาจบังคับใช้ได้ เพราะรัฐบาลกลางเป็นเพียงฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ได้เป็นฝ่ายบริหารและตุลาการ การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายก็ต้องได้รับความเห็นชอบเอกฉันท์ 
     การปกครองแบบสมาพันธรัฐก่อให้เกิดปัญหาแก่ประเทศใหม่หลายประการ เช่น รัฐบาลกลางไม่สามารถหาเงินมาใช้จ่ายและจ่ายดอกเบี้ยหนี้สินเมื่อครั้งสงคราม แต่ละมลรัฐก็มุ่งทำเพื่อผลประโยชน์ของรัฐตน เกิดปัญหาเรื่องพรมแดน กำแพงภาษี การควบคุมลำน้ำ 
     มีจลาจลเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยที่รัฐบาลกลางไม่อาจปราบปรามได้ ทำให้ประเทศยุโรปไม่มีความเกรงใจในสมาพันธรัฐนี้เลย ก่อให้เกิดความยุ่งยากภายในประเทศและเกิดความไม่มั่นคงทางการเมือง
     ในที่สุด ผู้นำของทั้ง 13 มลรัฐ ซึ่งตระหนักถึงความสำคัญที่จะต้องมีรัฐบาลกลางที่เข้มแข็ง จึงได้ขอให้มลรัฐทุกแห่งส่งตัวแทนมาประชุมที่ฟิลาเดเฟีย เพื่อหาทางแก้ไขสถานการณ์ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญของสมาพันธรัฐ ทุกมลรัฐยกเว้นโรดไอแลนด์ ส่งผู้แทนไปประชุมในปี ค.ศ. 1787 
     ผู้เข้าร่วมประชุมเห็นควรร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ การประชุมครั้งนั้นจึงถูกเรียกว่า “Constitutional Convention”  เป็นเหตุให้ประเทศสหรัฐอเมริกากลายเป็นประเทศตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 

รากฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยของชาวอเมริกันที่เป็นหลักการพื้นฐานในรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา 
     เมื่อชาวอเมริกันได้รับเอกราชแล้ว แนวคิดในการปฏิวัติที่มีพื้นฐานมาจากทฤษฎีของ จอห์น ล็อค ได้หยั่งรากลงในสังคมอเมริกา ไม่เพียงเฉพาะวิธีคิดเรื่องการปฏิวัติ แต่รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชน ระหว่างเอกชนด้วยกัน รัฐต้องมีอำนาจจำกัด รัฐต้องไม่ยุ่มย่ามกับชีวิตของเอกชน เอกชนจัดการชีวิตตนเอง โดยรัฐมีหน้าที่ดูแลปกป้องรักษาชีวิตและทรัพย์สินของเอกชนเท่านั้น และรัฐต้องเกิดขึ้นมาจากการยินยอมของเอกชน
     อย่างไรก็ตาม หลักการพื้นฐานดังกล่าวซึ่งปรากฏในตอนแรกในกฎบัตรของสมาพัน ก่อให้เกิดปัญหาตามที่กล่าวไปแล้ว 
     การร่างรัฐธรรมนูญใหม่เป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้โดยง่าย เนื่องจากแต่ละมลรัฐมีปัญหาและความขัดแย้งอยู่มากมาย และมีการถกเถียงกันว่า รูปแบบการปกครองสำหรับประเทศใหม่ควรเป็นลักษณะใด
     เจมส์ เมดิสัน (ประธานาธิบดีคนที่ 4) เสนอรูปแบบการปกครองด้วยตัวแทน หรือมหาชนรัฐ (Republic) ซึ่งต่อมาถูกเสนอในเอกสารที่เรียกว่า “Federalist Papers” ซึ่งเมดิสันมองว่า การปกครองด้วยตัวแทน เป็นรูปแบบการปกครองเดียวที่สามารถเป็นไปได้ในยุคสมัยใหม่ โดยเฉพาะในอเมริกาที่เป็นรัฐขนาดใหญ่ และมีประชากรจำนวนมาก
     มีการประนีประนอมระหว่างตัวแทนจากมลรัฐต่างๆ ซึ่งได้กลายมาเป็นลักษณะสำคัญของการเมืองสหรัฐอเมริกาปัจจุบัน ในประเด็นสำคัญๆ ดังนี้ 
     การประนีประนอมระหว่างรัฐเล็กกับรัฐใหญ่ เป็นการประนีประนอมเรื่องของผู้แทนในสภา ที่รัฐใหญ่ต้องการให้มีตัวแทนมากกว่า ซึ่งรัฐเล็กก็ไม่ยินยอม จึงตกลงกันที่การมีระบบ 2 สภา คือสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกเลือกมาจากมลรัฐตามจำนวนประชากร กับวุฒิสภาที่มีจำนวนเท่ากันทุกมลรัฐ การผ่านกฎหมายต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้ง 2 สภา และการออกกฎหมายเกี่ยวกับเงิน ต้องเริ่มที่สภาผู้แทนราษฎรทุกครั้ง 
     การประนีประนอมระหว่างรัฐที่มีทาสและรัฐที่ไม่มีทาส มีการประนีประนอมให้นับจำนวนทาส 3/5 ของจำนวนจริง เพื่อมิให้รัฐฝ่ายใต้เสียเปรียบฝ่ายเหนือมากนักในจำนวนประชากร 
     การประนีประนอมระหว่างรัฐกสิกรรมกับรัฐพาณิชย์ ประนีประนอมโดยให้รัฐสภาไม่มีอำนาจออกกฎหมายห้ามค้าทาสก่อน ค.ศ. 1808 ห้ามเก็บภาษีขาออกของสินค้าภายในประเทศที่ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร
     การประนีประนอมเกี่ยวกับการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางทั้งหมด กับแบบสมาพันธรัฐซึ่งอำนาจกระจายไปตามมลรัฐต่างๆ โดยได้ก่อตั้งระบบสหพันธรัฐขึ้น กำหนดให้อำนาจที่สำคัญและจำเป็นในการปกครองประเทศมอบให้รัฐบาลกลาง ส่วนอำนาจอื่นๆ มลรัฐยังคงไว้ และรัฐบาลกลางจะเข้าไปยุ่งไม่ได้ 

ข้อความอื่นๆ ที่จำเป็นและปรากฏในรัฐธรรมนูญ
  • การให้อำนาจรัฐสภาออกกฎหมายเก็บภาษีและควบคุมการพาณิชย์
  • การก่อตั้งฝ่ายบริหารที่เข้มแข็งและก่อตั้งระบบศาลของสหรัฐ
  • การประกันสิทธิของการเป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติ มิให้ถูกยื้อแย่งไปโดยผิดกฎหมาย
  • การป้องกันการเลือกตั้งของประชาชนที่มีความรู้ไม่เพียงพอ โดยการเลือกตั้งประธานาธิบดีและวุฒิสมาชิกโดยทางอ้อม 
     รัฐธรรมนูญถูกเขียนขึ้น ในปี ค.ศ.1787 ประกอบด้วย 7 มาตรา ถูกโต้แย้งเป็นจำนวนมากจากผู้ที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ไม่มีการประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน และคนหลายกลุ่มเห็นว่ารัฐบาลกลางมีอำนาจมากเกินไป อย่างไรก็ตาม ก็มีการรับรองหรือให้สัตยาบันครบ 9 มลรัฐ ในปี ค.ศ. 1788 รัฐธรรมนูญใหม่จึงมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่บัดนั้น โดยผู้สนับสนุนรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เฮมิลตัน เมดิสัน และจอห์น เจย์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากวอชิงตันด้วย ได้ให้คำมั่นสัญญาว่า เมื่อมีการรับรองรัฐธรรมนูญแล้ว จะรีบแก้ไขในประเด็นการประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน 
     รัฐธรรมนูญถูกเขียนขึ้น ในปี ค.ศ.1787 ประกอบด้วย 7 มาตรา ถูกโต้แย้งเป็นจำนวนมากจากผู้ที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ไม่มีการประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน และคนหลายกลุ่มเห็นว่ารัฐบาลกลางมีอำนาจมากเกินไป อย่างไรก็ตาม ก็มีการรับรองหรือให้สัตยาบันครบ 9 มลรัฐ ในเดือน มิถุนายน ค.ศ. 1788 รัฐธรรมนูญใหม่จึงมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่บัดนั้น โดยผู้สนับสนุนรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เฮมิลตัน เมดิสัน และจอห์น เจย์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากวอชิงตันด้วย ได้ให้คำมั่นสัญญาว่า เมื่อมีการรับรองรัฐธรรมนูญแล้ว จะรีบแก้ไขในประเด็นการประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน (ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ลงนามครบ 11 มลรัฐ โดยโรดไอร์แลนด์กับนอร์ทแคโรไลนา ขอเข้าร่วมกับสหรัฐภายหลัง 
     ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. 1788 ก็ได้ถูกแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ (Amendment) ซึ่งร่างแก้ไขเสร็จในปี ค.ศ.1789 โดยมีการร่างออกมาทั้งสิ้น 17 ฉบับแยกจากกัน สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบทั้ง 17 ฉบับ แต่ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา 12 ฉบับ และเมื่อส่งไปยังมลรัฐ มลรัฐเห็นชอบเพียง 10 ฉบับ ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงได้เรียก บทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวว่า “Bill of Right” รัฐต่างๆ จึงให้สัตยาบันครบในปี พ.ศ. 1791 

หลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา 
  • ประเทศสหรัฐอเมริกามีรูปแบบการปกครองแบบสาธารณรัฐประชาธิปไตย
  • ประชาชนทุกคนเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย
  • มีบทบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการพูด การพิมพ์ การนับถือศาสนา การรวมกลุ่มโดยสงบ สิทธิในการได้รับการพิจารณาความจากกฎหมาย หรือสิทธิในบ้านเรือนที่จะบุกรุกเข้าไปโดยไม่มีหมายค้นไม่ได้
  • แบ่งแยกรัฐกับศาสนาออกอย่างเด็ดขาด
  • การแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกเป็น 3 ส่วน มีระบบการคานอำนาจซึ่งกันและกัน (Checks and balances)
  • ลัทธิสหรัฐนิยม (Federalism) แบ่งสรรอำนาจระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลมลรัฐ (อำนาจที่มลรัฐมอบให้รัฐบาลกลาง อำนาจที่รัฐบาลมลรัฐเก็บไว้กับตนเอง อำนาจที่ใช้ร่วมกัน)
หลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา 
  • ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย 
  • รัฐธรรมนูญของสหรัฐเป็นกฎหมายที่สูงสุดในแผ่นดิน 
  • ประชาชนมีสิทธิที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของสหรัฐได้ แต่กระบวนการก็ยากพอสมควร คือ 
     การเสนอขอแก้ไขต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิก 2 ใน 3 ของทั้ง 2 สภา หรือ มลรัฐรวมกัน 2 ใน 3 เสนอให้รัฐสภาเรียกประชุมคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ
     บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะบังคับใช้ได้ต้องให้รัฐสภาของมลรัฐรับรอง 3 ใน 4 หรือที่ประชุมคณะกรรมการแห่งชาติเห็นด้วย 3 .ใน 4

โครงสร้างของรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา 
บทนำ (Preamble) เป็นปรัชญาและพื้นฐานของระบบการเมือง 
  • การสร้างประเทศให้เป็นปึกแผ่น
  • การอธิบายเหตุผลที่ต้องมีรัฐธรรมนูญ
  • อธิบายจึงจุดมุ่งหมายที่จะสร้างอิสรภาพและความมั่นคงให้กับประชาชน
  • การสร้างรัฐบาล 
โครงสร้างของรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา 
มาตราที่ 1 ว่าด้วยอำนาจนิติบัญญัติ
มาตรที่ 2 ว่าด้วยอำนาจบริหาร 
มาตรที่ 3 ว่าด้วยอำนาจตุลาการ 
มาตราที่ 4 ว่าด้วยอำนาจของแต่ละมลรัฐ 
มาตราที่ 5 ว่าด้วยอำนาจการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
มาตรที่ 6 ว่าด้วยอำนาจความเป็นใหญ่ของรัฐธรรมนูญ
มาตรที่ 7 ว่าด้วยอำนาจการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 

บทบัญญัติเพิ่มเติม 10 มาตรา หรือ Bill of Rights 
ฉบับที่ 1 เสรีภาพในการนับถือศาสนา การพูด การพิมพ์ การชุมนุม สิทธิในการร้องเรียน และเสรีภาพในการสมาคม
ฉบับที่ 2 สิทธิในการมีอาวุธ 
ฉบับที่ 3 สิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินและการใช้ทรัพย์สิน
ฉบับที่ 4 การคุ้มครองบุคคลจากการถูกค้นและยึด
ฉบับที่ 5 สิทธิในคดีอาญา 
ฉบับที่ 6 สิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรมในคดีอาญา
ฉบับที่ 7 สิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีโดยคณะลูกขุนในคดีแพ่ง
ฉบับที่ 8 การประกันตัว การปรับ และการลงโทษ
ฉบับที่ 9 สิทธิซึ่งสงวนไว้โดยประชาชน 
ฉบับที่ 10 อำนาจซึ่งสงวนไว้โดยมลรัฐและประชาชน

บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 11 (1798) การจำกัดอำนาจตุลาการศาลสหรัฐ
บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 12 (1804) การเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี 
บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 13 (1865) เลิกทาส
บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 14 (1868) 
  • มาตรา 1 สิทธิพลเมือง
  • มาตรา 2 การแบ่งสัดส่วนและลดจำนวนผู้แทนราษฎร
  • มาตรา 3 การขาดคุณสมบัติดำรงตำแหน่ง
  • มาตรา 4 หนี้สาธารณะ หนี้ และค่าเสียหายจากการจลาจล
  • มาตรา 5 รัฐสภามีอำนาจในการบังคับมาตรนี้ โดยการตราเป็นกฎหมายตามความเหมาะสม 
บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 15 (1870) 
  • มาตรา 1 สิทธิเลือกตั้งของพลเมืองจากเชื้อชาติ สีผิว
  • มาตรา 2 รัฐสภามีอำนาจในการบังคับมาตรนี้ โดยการตราเป็นกฎหมายตามความเหมาะสม 
บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 16 (1913) ภาษีเงินได้
บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 17 (1913) 
  • มาตรา 1 ที่มา จำนวนคะแนนเสียง และคุณสมบัติวุฒิสมาชิก
  • มาตรา 2 เมื่อตำแหน่งวุฒิสมาชิกว่างลง 
  • มาตรา 3 ยกเว้นวุฒิสมาชิกเดิม
บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 18 (1917) การห้ามของมึนเมา 
บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 19 (1920) สิทธิสตรีลงคะแนนเสียง
บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 20 (1933) 
  • มาตรา 1 วาระการดำรงตำแหน่งของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ
  • มาตรา 2 วันเปิดประชุมรัฐสภา
  • มาตรา 3 การสืบตำแหน่งประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี 
  • มาตรา 4 กรณีประธานาธิบดี รองประธานาธิบดีเสียชีวิต การเลือกผู้สืบตำแหน่ง
  • มาตรา 5 มาตรา 1 และ 2 ให้มีผลตั้งแต่ 15 ตุลาคม หลังจากมาตรนี้ได้รับสัตยาบัน
  • มาตรา 6 กำหนดเกณฑ์การประกาศใช้ 
บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 21 (1933) ยกเลิกบทแก้ไขเพิ่มเติมที่ 18 
บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 22 (1951) สมัยการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี
บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 23 (1961) ผู้ออกเสียงเลือกตั้งเขตดิสทริค
บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 24 (1964) คุณสมบัติผู้เลือกตั้ง
บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 25 (1967)
  • มาตรา 1 การสืบตำแหน่งประธานาธิบดี
  • มาตรา 2 การสืบตำแหน่งรองประธานาธิบดี
  • มาตรา 3 ประธานาธิบดีแจ้งไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่
  • มาตรา 4 ผู้อื่นแจ้งไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่
บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 26 (1971) สิทธิเลือกตั้งของผู้มีอายุ 18 ปี 
บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 27 (1992) กฎหมายเกี่ยวข้องกับอัตราเงินเดือน
----------------------------