ส่วนที่ 12 อำนาจเจ้าพนักงานประเมิน

-------------------------

               มาตรา 88  เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามหมวดนี้ในเมื่อ
               (1) ปรากฏแก่เจ้าพนักงานประเมินว่าผู้มีหน้าที่เสียภาษีมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี แบบนำส่งภาษี หรือแบบใบขนสินค้าภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด
               (2) ในกรณีเจ้าพนักงานประเมินมีหลักฐานแสดงว่าผู้มีหน้าที่เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการภาษี แบบนำส่งภาษี หรือแบบใบขนสินค้าโดยแสดงจำนวนภาษีที่ต้องเสียต่ำกว่าความเป็นจริง
               (3) ผู้มีหน้าที่เสียภาษีไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมินหรือไม่ยอมตอบคำถามของเจ้าพนักงานประเมินโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
               (4) ผู้ประกอบการไม่สามารถแสดงใบกำกับภาษีในกรณีภาษีซื้อ หรือสำเนาใบกำกับภาษีในกรณีภาษีขาย พร้อมทั้งหลักฐานอื่นเพื่อการคำนวณภาษีหรือการเครดิตภาษี
               (5) ผู้ประกอบการไม่เก็บสำเนาใบกำกับภาษีในกรณีภาษีขายและหลักฐานต่าง ๆ ประกอบการลงรายงานตามที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือ
               (6) ปรากฏแก่เจ้าพนักงานประเมินว่าผู้ประกอบการซึ่งต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/1 มิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

               มาตรา 88/1  เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามหมวดนี้ ในเมื่อปรากฏว่าบุคคลใดออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้โดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมายตามมาตรา 86/13 โดยให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่ปรากฏในใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้นั้นได้

               มาตรา 88/2  เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามมาตรา 88 และมาตรา 88/1 เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจ
               (1) จัดทำรายการลงในแบบแสดงรายการภาษี แบบนำส่งภาษี หรือแบบใบขนสินค้าตามหลักฐานที่เห็นว่าถูกต้อง เมื่อผู้มีหน้าที่เสียภาษีมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี แบบนำส่งภาษี หรือแบบใบขนสินค้า
               (2) แก้ไขเพิ่มเติมรายการในแบบแสดงรายการภาษี แบบนำส่งภาษี หรือแบบใบขนสินค้าเพื่อให้ถูกต้อง
               (3) ประเมินภาษีในกรณีที่มีหลักฐานแสดงว่า ผู้ประกอบการเสียภาษีหรือแสดงมูลค่าของฐานภาษีต่ำกว่าความเป็นจริง
               (4) กำหนดมูลค่าที่ควรได้รับโดยพิจารณาถึงฐานะความเป็นอยู่ หรือพฤติการณ์ของผู้ประกอบการ หรือสถิติการค้าของผู้ประกอบการเองหรือของผู้ประกอบการที่กระทำกิจการทำนองเดียวกัน หรือพิจารณาจากหลักเกณฑ์อย่างอื่นอันอาจแสดงมูลค่าที่ได้รับได้โดยสมควร
               (5) แก้ไขเปลี่ยนแปลงมูลค่าของสินค้าที่ซื้อหรือของค่าบริการจากการรับบริการ แล้วแต่กรณี เมื่อมีกรณีตามมาตรา 88 (3) (4) หรือ (5)
               (6) ประเมินภาษีตามที่รู้เห็นหรือพิจารณาว่าถูกต้อง เมื่อมีกรณีตามมาตรา 88 (3) (4) หรือ (5) โดยไม่จำต้องปฏิบัติตาม (1) ถึง (4) ก็ได้
               ในการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานประเมินเมื่อมีกรณีตามมาตรา 88 (6) ให้ถือว่าผู้ประกอบการซึ่งต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/1 แต่มิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีความรับผิดในการเสียภาษีเสมือนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน

               มาตรา 88/3  เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจเข้าไปในสถานประกอบการของผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือไม่ หรือในสถานที่อื่นที่เกี่ยวข้องระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก หรือระหว่างเวลาทำการของผู้ประกอบการ และทำการตรวจสอบเพื่อให้ทราบว่าผู้ประกอบการได้ปฏิบัติการโดยถูกต้องตามบทบัญญัติในหมวดนี้หรือไม่ ในการนี้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจสั่งผู้ประกอบการหรือบุคคลที่อยู่ในสถานที่นั้นให้ปฏิบัติการเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ อันควรแก่เรื่อง และมีอำนาจยึดเอกสารหลักฐานเหล่านั้นมาตรวจสอบไต่สวนได้
               ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าพนักงานประเมินแสดงบัตรประจำตัวพร้อมทั้งหนังสือหรือหลักฐานต่อผู้ที่เกี่ยวข้องเมื่อเข้าไปทำการตรวจสอบ

               มาตรา 88/4  ในการดำเนินการของเจ้าพนักงานประเมินในส่วนนี้ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกผู้มีหน้าที่เสียภาษี ผู้ทำการแทน หรือพยานกับมีอำนาจสั่งบุคคลเหล่านั้นให้นำบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาตรวจสอบไต่สวนได้ หรือออกคำสั่งให้พยานตอบคำถามเป็นหนังสือ แต่จะต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันนับแต่วันได้รับหมายเรียกหรือได้รับคำสั่ง

               มาตรา 88/5  เมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 88 หรือมาตรา 88/1 แล้ว ให้แจ้งการประเมินเป็นหนังสือไปยังผู้มีหน้าที่เสียภาษี หรือบุคคลตามมาตรา 88/1 ในกรณีนี้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือบุคคลตามมาตรา 88/1 จะใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินตามบทบัญญัติในส่วน 2 ของหมวด 2 ลักษณะ 2 ก็ได้ เว้นแต่ในกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินเพราะเหตุตามมาตรา 88 (3) ห้ามมิให้อุทธรณ์

               มาตรา 88/6  การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินให้กระทำได้ภายในกำหนดเวลาดังต่อไปนี้
               (1) สำหรับผู้ประกอบการ
                     (ก) สองปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือวันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลาที่รัฐมนตรีหรืออธิบดีขยายหรือเลื่อนออกไปแล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลัง ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายในกำหนดเวลาดังกล่าว
                     (ข) สองปีนับแต่วันที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการภาษี ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการภาษีหลังวันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลาดังกล่าวใน (ก) แต่ต้องไม่เกินสิบปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี
                     (ค) สิบปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือยื่นแบบแสดงรายการภาษีโดยแสดงฐานภาษีต่ำกว่ามูลค่าที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับเป็นจำนวนเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของฐานภาษีที่แสดงในแบบแสดงรายการภาษี
               (2) สำหรับผู้นำเข้าซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการสองปีนับแต่วันยื่นใบขนสินค้า เว้นแต่กรณีที่ผู้นำเข้ามีข้อโต้แย้งตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรหรือเป็นคดีในศาลสองปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยข้อโต้แย้งอากรขาเข้าเป็นหนังสือ หรือนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณี
               (3) สำหรับผู้ที่มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/5 มาตรา 83/6 หรือมาตรา 83/7 สองปีนับแต่วันพ้นกำหนดเวลานำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม
               ในกรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ประกอบการ ผู้นำเข้า หรือผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มแสดงรายการตามแบบแสดงรายการภาษี แบบใบขนสินค้า หรือแบบนำส่งภาษีไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่สมบูรณ์ ให้เจ้าพนักงานประเมินโดยอนุมัติอธิบดีประเมินภาษีได้ภายในกำหนดเวลาห้าปีนับแต่กำหนดเวลาตาม (1) (ก) (2) และ (3) แล้วแต่กรณี

-------------------------