เหตุผลในการประกาศใช้

---------------------
  • พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎรพ.ศ. 2534
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้วไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน สมควรปรับปรุงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
    
  • พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551
          มาตรา 2  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

          มาตรา 26  ให้สำนักทะเบียนอำเภอ และสำนักทะเบียนท้องถิ่นที่ดำเนินการอยู่แล้วในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นสำนักทะเบียนอำเภอและสำนักทะเบียนท้องถิ่นที่จัดตั้งตามมาตรา 8/1 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้

          มาตรา 27  บรรดากฎกระทรวง ระเบียบหรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติตามพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมีกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

          มาตรา 28  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎรเพื่อให้นายทะเบียนสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อำนวยความเป็นธรรมและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนยิ่งขึ้น และกำหนดวิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการดำเนินการในการแจ้งการเกิด การออกสูติบัตร การออกหนังสือรับรองการเกิด และการจัดทำทะเบียนบ้านสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ เพื่อประโยชน์ในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลดังกล่าว รวมทั้งสมควรปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

  • พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดในทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล พ.ศ. 2560
          มาตรา 2  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 มาตรา 54 เฉพาะในส่วนที่สันนิษฐานให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษทางอาญาร่วมกับการกระทำความผิดของนิติบุคคล โดยไม่ปรากฏว่ามีการกระทำหรือเจตนาประการใดอันเกี่ยวกับการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 39 วรรคสอง เป็นอันใช้บังคับไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 6 และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยในลักษณะดังกล่าวทำนองเดียวกัน คือ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 74 พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 78 พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 มาตรา 28/4 และพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 มาตรา 72/5 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 39 วรรคสอง เป็นอันใช้บังคับไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 6  ดังนั้น เพื่อแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวและกฎหมายอื่นที่มีบทบัญญัติในลักษณะเดียวกันมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

  • พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562
          มาตรา 2  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

          มาตรา 24  บรรดากฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ที่ใช้อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมีกฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
          การดำเนินการออกกฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบรายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการได้ต่อคณะรัฐมนตรี

          มาตรา 25  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้  ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของตน

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎรในเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้นายทะเบียนสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถอำนวยความเป็นธรรมและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนยิ่งขึ้น และเพื่อรองรับการจัดการประชากรของประเทศไทย ซึ่งเป็นสมาชิกในประชาคมอาเซียนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และกำหนดสิทธิในการยื่นคำร้องขอมีสัญชาติไทยของเด็กและบุคคลตามมาตรา 19 มาตรา 19/1 มาตรา 19/3 และมาตรา 37 ซึ่งจะเป็นมาตรการในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเด็กที่ไร้รากเหง้าที่ไร้รัฐและไร้สัญชาติในประเทศไทยให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและหลักสิทธิมนุษยชน  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

---------------------------