หมวด 5 ทะเบียนบ้าน

--------------------

          มาตรา 34  ให้ทุกบ้านมีเลขประจำบ้าน บ้านใดยังไม่มีเลขประจำบ้าน ให้เจ้าบ้านแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งเพื่อขอเลขประจำบ้านภายในสิบห้าวันนับแต่วันสร้างบ้านเสร็จ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเจ้าบ้านอาจขอให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งกำหนดเลขประจำบ้านและออกทะเบียนบ้านชั่วคราวให้ก่อนที่บ้านจะสร้างเสร็จก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งระบุไว้ในทะเบียนบ้านชั่วคราวว่าอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง
          ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งกำหนดเลขประจำบ้านให้แก่ผู้แจ้งซึ่งมีบ้านอยู่ในเขตสำนักทะเบียนท้องถิ่นภายในเจ็ดวัน ถ้ามีบ้านอยู่นอกเขตสำนักทะเบียนท้องถิ่นให้กำหนดเลขประจำบ้านภายในสามสิบวัน  ทั้งนี้ นับแต่วันที่ได้รับคำขอ
          เมื่อได้รับเลขประจำบ้านแล้วให้ติดไว้ในที่ซึ่งเห็นได้ชัดแจ้ง
          การกำหนดเลขประจำบ้านตามวรรคหนึ่งและการจัดทำทะเบียนบ้านตามมาตรา 36 มีวัตถุประสงค์เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของประชาชน ผู้ใดจะอ้างการกำหนดเลขประจำบ้านหรือการจัดทำทะเบียนบ้านเพื่อแสดงว่าตนมีสิทธิในที่ดินหรือเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินมิได้
          ให้นำความในมาตรานี้มาใช้บังคับกับเจ้าของอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นโรงงาน คลังสินค้า หรือเพื่อประโยชน์อย่างอื่นอันมิใช่เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยตามที่กำหนดในกฎกระทรวงด้วยโดยอนุโลม

          มาตรา 35  ถ้ามีบ้านอยู่หลายหลังในบริเวณเดียวกัน ให้กำหนดเลขประจำบ้านเพียงเลขเดียว แต่ถ้าเจ้าบ้านประสงค์จะกำหนดเลขประจำบ้านเพิ่มขึ้นอีกให้ยื่นขอต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง
          บ้านที่ปลูกเป็นตึกแถว ห้องแถว หรืออาคารชุด ให้กำหนดเลขประจำบ้านทุกห้องหรือทุกห้องชุด โดยถือว่าห้องหรือห้องชุดหนึ่ง ๆ เป็นบ้านหลังหนึ่ง

          มาตรา 36  ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งจัดทำทะเบียนบ้านไว้ทุกบ้านที่มีเลขประจำบ้านสำหรับผู้มีสัญชาติไทยและคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยแต่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร และจัดทำทะเบียนอาคารสำหรับอาคารที่ได้รับเลขประจำอาคารตามมาตรา 34 วรรคห้า
          ทะเบียนบ้านตามวรรคหนึ่งที่ออกให้แก่แพหรือเรือซึ่งจอดเป็นประจำและใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือสถานที่หรือยานพาหนะอื่นซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยประจำ ให้ระบุสภาพของบ้านนั้นไว้ในทะเบียนบ้านด้วย
          ทะเบียนอาคารตามวรรคหนึ่งให้ระบุสภาพของอาคารและวัตถุประสงค์ของอาคารนั้นไว้ในทะเบียนตามรายการที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด
          ในการจัดทำทะเบียนบ้านหรือทะเบียนอาคารตามวรรคหนึ่ง ถ้าผู้ขอมิได้แสดงหลักฐานการได้รับอนุญาตก่อสร้าง หรือหลักฐานแสดงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือหลักฐานการมีสิทธิครอบครองในที่ดิน ให้นายทะเบียนระบุไว้ในทะเบียนว่าเป็นทะเบียนชั่วคราว
          การจัดทำทะเบียนบ้านและทะเบียนอาคารให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

          มาตรา 37  การเพิ่มชื่อและรายการของบุคคลลงในทะเบียนบ้านหรือทะเบียนบ้านกลาง ให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

          มาตรา 38  ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนบ้านสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และบุตรของบุคคลดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักร ในกรณีผู้มีรายการในทะเบียนบ้านพ้นจากการได้รับอนุญาตหรือผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักร ให้นายทะเบียนจำหน่ายรายการทะเบียนของผู้นั้นโดยเร็ว
          ให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางจัดให้มีทะเบียนประวัติสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ตามวรรคหนึ่งตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
          รายการและการบันทึกรายการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

          มาตรา 38/1  ให้คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยและมีหน้าที่ต้องเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านหรือจัดทำทะเบียนประวัติตามที่กำหนดในกฎกระทรวงไปแจ้งต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นภายในเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวงเพื่อให้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านหรือจัดทำทะเบียนประวัติ และเมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นได้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านหรือจัดทำทะเบียนประวัติให้บุคคลนั้นแล้ว ให้ออกบัตรประจำตัวให้ เว้นแต่ผู้นั้นอายุยังไม่ครบห้าปีให้ออกเอกสารแสดงตนให้ไปพลางก่อน ทั้งนี้  ตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

          มาตรา 38/2  ให้บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่รับอุปการะดูแลเด็กที่มีเอกสารแสดงตนตามมาตรา 19/2 และมาตรา 38/1 ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวแทนเด็กภายในหกสิบวันนับแต่วันที่เด็กมีอายุครบห้าปี

          มาตรา 38/3  บัตรประจำตัวตามมาตรา 19/2 มาตรา 38/1 และมาตรา 38/2 มีอายุสิบปี และให้ผู้ถือบัตรมีหน้าที่ยื่นคำขอต่ออายุบัตรประจำตัวภายในหกสิบวันนับแต่วันที่บัตรหมดอายุ เว้นแต่ผู้นั้นจะมีอายุครบเจ็ดสิบปี ในกรณีเช่นนั้นให้บัตรประจำตัวที่มีอยู่มีอายุตลอดชีวิต แต่ไม่เป็นการห้ามที่บุคคลนั้นจะขอมีบัตรใหม่ตามวรรคสอง
          ในกรณีที่บัตรประจำตัวสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดในสาระสำคัญ หรือมีการแก้ไขชื่อตัว ชื่อสกุล หรือวันเดือนปีเกิดในทะเบียนบ้านหรือทะเบียนประวัติ ให้ผู้ถือบัตรประจำตัวขอมีบัตรประจำตัวใหม่ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่บัตรประจำตัวสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดในสาระสำคัญ หรือนับแต่มีการแก้ไขชื่อตัว ชื่อสกุล หรือวันเดือนปีเกิดในทะเบียนบ้านหรือทะเบียนประวัติ แล้วแต่กรณี
          การขอมีบัตรประจำตัวของเด็กที่มีอายุไม่ถึงสิบห้าปี ให้เป็นหน้าที่ของบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่รับอุปการะดูแลเด็กคนนั้นเป็นผู้ยื่นคำขอมีบัตร
          หลักเกณฑ์และวิธีการในการขอมีบัตรประจำตัว แบบและลักษณะของบัตรประจำตัว และรายการในบัตรประจำตัว ให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

          มาตรา 39  ให้นายทะเบียนอำเภอและนายทะเบียนท้องถิ่นมอบสำเนาทะเบียนบ้านให้เจ้าบ้านเก็บรักษา เมื่อมีการเพิ่ม เปลี่ยนแปลง หรือจำหน่ายรายการในทะเบียนบ้านให้เจ้าบ้านนำสำเนาทะเบียนบ้านไปให้นายทะเบียนบันทึกรายการให้ถูกต้องตรงกับต้นฉบับทุกครั้งภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการเพิ่มเปลี่ยนแปลง หรือจำหน่ายรายการ แล้วแต่กรณี
          ถ้าสำเนาทะเบียนบ้านชำรุดจนใช้การไม่ได้หรือสูญหาย ให้เจ้าบ้านขอรับสำเนาทะเบียนบ้านใหม่ได้ และเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
          เมื่อผู้อำนวยการทะเบียนกลางเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องมีสำเนาทะเบียนบ้านต่อไปในเขตสำนักทะเบียนใด ให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางมีอำนาจยกเลิกการใช้สำเนาทะเบียนบ้านในเขตสำนักทะเบียนนั้นโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

          มาตรา 40  การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในทะเบียนบ้านหรือสำเนาทะเบียนบ้านให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

          มาตรา 41  ผู้ใดรื้อบ้านที่มีเลขประจำบ้านโดยไม่ประสงค์จะปลูกบ้านใหม่ในที่ดินบริเวณนั้นอีกต่อไปหรือรื้อเพื่อไปปลูกสร้างบ้านในที่อื่น ให้แจ้งการรื้อบ้านต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่รื้อบ้านเสร็จเพื่อจำหน่ายเลขประจำบ้านและทะเบียนบ้าน
          บ้านที่รื้อถอนโดยไม่แจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนจำหน่ายเลขประจำบ้านและทะเบียนบ้านและแจ้งย้ายผู้มีรายชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านนั้นไปไว้ในทะเบียนบ้านกลางตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

          มาตรา 42  การย้ายบ้านซึ่งเคลื่อนย้ายได้ หรือการย้ายแพหรือเรือหรือยานพาหนะอื่นซึ่งใช้เป็นที่อยู่ประจำไปอยู่หรือจอด ณ ที่อื่น ถ้าอยู่หรือจอดเกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน เจ้าบ้านต้องแจ้งการย้ายออกและย้ายเข้าต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่ไปอยู่หรือจอดใหม่ภายในสิบห้าวันนับแต่วันครบกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวัน

---------------------------