เหตุผลในการประกาศใช้

--------------------------
  • พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากการคมนาคมและขนส่งทางบกได้เจริญก้าวหน้าขยายตัวไปทั่วประเทศและเชื่อมโยงไปยังประเทศใกล้เคียง และจำนวนยานพาหนะในท้องถนนและทางหลวงได้ทวีจำนวนขึ้นเป็นลำดับ ประกอบกับประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนนและพิธีสารว่าด้วยเครื่องหมายและสัญญาณตามถนน สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกซึ่งได้ใช้บังคับมากว่าสี่สิบปี ให้เหมาะสมกับสภาพการจราจรและจำนวนยานพาหนะที่เพิ่มขึ้น และเพื่อความปลอดภัยแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น
    
  • พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 บางมาตรามีลักษณะไม่เหมาะสมและบกพร่อง ขัดต่อการปฏิบัติในบางท้องที่  จึงเห็นสมควรที่จะตราพระราชบัญญัติเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ขึ้น

  • พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2529
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มีบทบัญญัติห้ามรถบรรทุกและรถบรรทุกคนโดยสารแล่นในช่องทางเดินรถด้านขวามือ ข้อห้ามนี้รวมถึงรถบรรทุกเล็กที่มีน้ำหนักรถไม่เกินหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัมด้วย แต่รถดังกล่าวมิใช่รถที่มีความเร็วช้าหรือใช้ความเร็วต่ำ จึงไม่จำเป็นต้องบังคับให้ขับรถในช่องทางเดินรถด้านซ้ายสุด การบังคับเช่นนี้ทำให้ผู้ใช้รถดังกล่าวไม่ได้รับความเป็นธรรม สมควรให้รถบรรทุกเล็กที่มีน้ำหนักไม่เกินหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัม สามารถใช้ทางเดินรถขวามือได้  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

  • ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 39 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 
โดยที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติได้พิจารณาเห็นว่า ในปัจจุบันกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบกได้บัญญัติให้อำนาจเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเคลื่อนย้ายรถที่จอดหรือหยุดโดยฝ่าฝืนกฎหมายได้ แต่ยังไม่เป็นการเพียงพอที่จะให้เจ้าของรถหรือผู้ขับขี่ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย สมควรเพิ่มมาตรการให้เจ้าของรถหรือผู้ขับขี่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายหรือไม่ให้เคลื่อนย้ายรถ รวมทั้งค่าดูแลรักษานั้นด้วย

          ข้อ 2  ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

  • พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2535
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว บทบัญญัติบางประการแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้เกิดความสะดวกและความปลอดภัยในการจราจร  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

  • พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2538
มาตรา 4  ในกรณีของรถยนต์ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ผู้ขับขี่รถยนต์และคนโดยสารรถยนต์นั้น ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 123 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ เป็นเวลาสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา 5  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบัน อุบัติเหตุจากการจราจรทางบกมีผลต่อการพัฒนาประเทศโดยตรงและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนสูงขึ้นเป็นอันมาก สมควรกำหนดมาตรการเพื่อสร้างความปลอดภัยและลดความรุนแรงของอันตรายที่อาจเกิดขึ้นแก่ผู้ขับขี่รถยนต์และคนโดยสารรถยนต์ โดยกำหนดให้ผู้ขับขี่รถยนต์ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งในขณะขับขี่รถยนต์ และต้องจัดให้คนโดยสารรถยนต์ ซึ่งนั่งที่นั่งตอนหน้าแถวเดียวกับที่นั่งผู้ขับขี่รถยนต์รัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งในขณะโดยสารรถยนต์ และคนโดยสารรถยนต์ดังกล่าวต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งในขณะโดยสารรถยนต์ด้วย  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

  • พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2542
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันอุบัติเหตุร้ายแรงที่เกิดขึ้นบนท้องถนนอันเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลต่าง ๆ นั้น มีสาเหตุส่วนหนึ่งเนื่องมาจากผู้ขับขี่เมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นหรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทกลุ่มแอมเฟตามีนในขณะขับรถ แม้จะได้มีการจับกุมปราบปรามและป้องกันมิให้ผู้ขับขี่เสพหรือเมาสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวในขณะขับรถแล้วก็ตาม แต่ก็ปรากฏว่ายังมีผู้ขับขี่ที่ฝ่าฝืนอยู่อีก สมควรกำหนดให้ผู้ตรวจการตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกและผู้ตรวจการตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์มีอำนาจดำเนินการเกี่ยวกับการทดสอบหรือการตรวจสอบของมึนเมาหรือสารเสพติดดังกล่าวในผู้ขับขี่ได้เช่นเดียวกับเจ้าพนักงานจราจรและพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของเจ้าพนักงานดังกล่าวและปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน พนักงานเจ้าหน้าที่ และผู้ตรวจการให้สามารถดำเนินการทดสอบหรือตรวจสอบตลอดจนจับกุมปราบปราบผู้ขับขี่ซึ่งเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นหรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทกลุ่มแอมเฟตามีนในขณะขับรถให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้เกิดความปลอดภัยในท้องถนนมากยิ่งขึ้น  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

  • พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550
มาตรา 3  ให้แก้ไขคำว่า “รถยนตร์” “รถจักรยานยนตร์” และ “เครื่องยนตร์” ในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นคำว่า “รถยนต์” “รถจักรยานยนต์” และ “เครื่องยนต์” ทุกแห่ง

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันการโดยสารรถจักรยานยนต์เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย และจำนวนอุบัติเหตุอันเนื่องจากรถจักรยานยนต์ได้เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการเกิดอุบัติเหตุทางถนนอันเนื่องมาจากการขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น หรือเสพยาเสพติดให้โทษ หรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทได้เพิ่มสูงขึ้นด้วย สมควรกำหนดให้คนโดยสารรถจักรยานยนต์ต้องสวมหมวกที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะเพื่อป้องกันอันตราย และกำหนดให้ความผิดของผู้ขับขี่ที่ได้ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น เป็นความผิดที่ไม่อาจว่ากล่าวตักเตือนหรือทำการเปรียบเทียบได้ รวมทั้งปรับปรุงบทกำหนดโทษสำหรับความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น หรือเสพยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ตลอดจนปรับปรุงประเภทของรถที่ใช้บรรทุกคน สัตว์ หรือสิ่งของให้ครอบคลุมถึงการบรรทุกของรถทุกประเภทด้วย  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

  • พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2551
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบัน ผู้ขับขี่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะขับรถ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนและก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคล สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 เพื่อกำหนดห้ามผู้ขับขี่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะขับรถ เว้นแต่ในกรณีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนา โดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 87/2557 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมผู้รักษาการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ ลงวันที่ 10 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557 

ข้อ 4  ให้บรรดา กฎกระทรวง กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่ง ที่ออกตามพระราชบัญญัติตามข้อ 1 ข้อ 2 และข้อ 3 ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปจนกว่าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติม

  • พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2557
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันเมื่อเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่พบการกระทำความผิดของผู้ขับขี่ไม่ว่าด้วยตนเองหรือด้วยเครื่องอุปกรณ์ใด ๆ แล้วแต่ไม่อาจออกใบสั่งให้ผู้ขับขี่ได้ในขณะนั้นเพราะไม่สามารถเรียกให้ผู้ขับขี่หยุดรถได้ ซึ่งส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร สมควรแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 140 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2535 เพื่อให้เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่พบการกระทำความผิดดังกล่าวสามารถส่งใบสั่งไปยังภูมิลำเนาของเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับได้  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

  • พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2557
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดมาตรการในด้านความปลอดภัยเพื่อช่วยในการให้สัญญาณจราจรและสมควรกำหนดข้อสันนิษฐานว่าผู้ขับขี่ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น ในกรณีที่ไม่ยอมให้ทดสอบโดยไม่มีเหตุอันควร อันจะเป็นมาตรการในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดจากผู้ขับขี่รถขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

  • พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2559
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันได้มีการนำระบบการชำระเงินด้วยวิธีการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้เพื่อการชำระค่าสินค้าและบริการเพิ่มมากขึ้น สมควรเพิ่มช่องทางการชำระค่าปรับตามใบสั่งด้วยวิธีการดังกล่าวในกรณีที่เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่เรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถในการชำระค่าปรับตามใบสั่ง ประกอบกับได้มีการโอนกรมตำรวจไปเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว สมควรแก้ไขการระบุชื่อตำแหน่ง “อธิบดีกรมตำรวจ” ตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก เป็น “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” ในคราวเดียวกัน  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

  • คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 14/2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก
ข้อ 4  บทบัญญัติในมาตรา 141/1 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งนี้ มิให้ใช้บังคับกับใบสั่งที่เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ออกให้ก่อนวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ โดยให้นำบทบัญญัติในมาตรา 141 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2535 ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ มาใช้บังคับกับใบสั่งดังกล่าว

ข้อ 5  ในกรณีเห็นสมควรนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้

ข้อ 6  คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

  • พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2562
มาตรา 2  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 5  ให้แก้ไขคำว่า “เจ้าพนักงานจราจร” ในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 เป็นคำว่า “หัวหน้าเจ้าพนักงานจราจร” ทุกแห่ง
ให้แก้ไขคำว่า “เจ้าพนักงานจราจรและพนักงานเจ้าหน้าที่” และ “พนักงานเจ้าหน้าที่” ในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 เป็นคำว่า “เจ้าพนักงานจราจร” ทุกแห่ง เว้นแต่ในมาตรา 78 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ให้แก้ไขคำว่า “พนักงานเจ้าหน้าที่” เป็นคำว่า “ตำรวจ”

มาตรา 18  บรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎกระทรวง ข้อบังคับ ข้อกำหนด ระเบียบ ประกาศ กฎ หรือคำสั่งใดที่อ้างถึง “เจ้าพนักงานจราจร” หรือ “พนักงานเจ้าหน้าที่” ให้ถือว่าอ้างถึง “เจ้าพนักงานจราจร” หรือ “หัวหน้าเจ้าพนักงานจราจร” ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี

มาตรา 19  บรรดาใบรับแทนใบอนุญาตขับขี่ที่ออกตามมาตรา 140 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ และยังมีผลใช้บังคับ ให้ใช้แทนใบอนุญาตขับขี่ได้จนกว่าจะครบระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในใบรับแทนใบอนุญาตขับขี่นั้น

มาตรา 20  บรรดาคำสั่งยึดใบอนุญาตขับขี่ที่ออกตามมาตรา 161 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้และยังมีผลใช้บังคับ ให้ใช้บังคับได้ต่อไปจนกว่าจะครบระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในคำสั่งยึดใบอนุญาตขับขี่นั้น  ทั้งนี้ ผู้ขับขี่ซึ่งถูกสั่งยึดใบอนุญาตขับขี่มีสิทธิอุทธรณ์ตามมาตรา 161 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ และหากได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งยึดใบอนุญาตขับขี่ดังกล่าวภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ถูกสั่งยึดแล้ว ให้ถือว่าเป็นคำขออุทธรณ์ตามมาตรา 161 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้
คำขออุทธรณ์ตามมาตรา 161 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ที่ได้ยื่นไว้แล้วและพิจารณายังไม่แล้วเสร็จอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และคำขออุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ให้พิจารณาต่อไปตามมาตรา 161 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะเสร็จสิ้น

มาตรา 21  บรรดาข้อบังคับ ข้อกำหนด ระเบียบ ประกาศ หรือกฎใดที่ออกตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมีข้อบังคับ ข้อกำหนด ระเบียบ ประกาศ หรือกฎ ที่ออกตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา 22  การออกข้อบังคับ ข้อกำหนด ระเบียบ ประกาศ หรือกฎ ตามมาตรา 4/1 มาตรา 140 มาตรา 140/2 มาตรา 141 มาตรา 142/1 มาตรา 142/2 มาตรา 142/5 และมาตรา 142/8 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา 23  ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันการเกิดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการที่ผู้ขับขี่ขาดวินัยในการใช้รถใช้ถนน และไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก ประกอบกับพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว บทบัญญัติบางประการแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน สมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์และกลไกในการออกใบสั่งสำหรับผู้ขับขี่ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายการบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับขี่ และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมดูแลและบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้เกิดความสะดวกและความปลอดภัยในการจราจรทางบก  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

-------------------------------