ลักษณะ 18 อำนาจของเจ้าพนักงานจราจร
---------------------------
มาตรา 135 เพื่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร หัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรมีอำนาจกำหนดให้บริเวณหรือพื้นที่ใดที่เจ้าของที่ดินได้เปิดให้ประชาชนใช้ในการจราจรเป็นทางตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 136 ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจแต่งตั้งผู้ซึ่งมีคุณสมบัติตามที่จะกำหนดและผ่านการอบรมตามหลักสูตรอาสาจราจร เพื่อให้ทำหน้าที่ช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานจราจร
คุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการอบรม รายละเอียดเกี่ยวกับการฝึกอบรมหลักสูตรอาสาจราจร และหน้าที่ของอาสาจราจร ตลอดจนเครื่องแบบ เครื่องหมาย ให้เป็นไปตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนด
มาตรา 137 ในการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายของอาสาจราจรตามพระราชบัญญัตินี้ ให้อาสาจราจรเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 138 ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุเกิดขึ้น ทำให้ไม่ปลอดภัย หรือไม่สะดวกในการจราจรในอาณาบริเวณใด หัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรหรือเจ้าพนักงานจราจรมีอำนาจดำเนินการได้ตามที่เห็นสมควรและจำเป็นเกี่ยวกับการจราจรในอาณาบริเวณนั้นเพื่อให้เกิดความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจรดังต่อไปนี้
(1) ห้ามรถทุกชนิดหรือบางชนิดหรือคนเดินเท้าเดินในทางสายใดหรือเฉพาะทางตอนใด
(2) ห้ามหยุดหรือจอดรถในทางสายใดหรือเฉพาะทางตอนใด
(3) ห้ามเลี้ยวรถ กลับรถ หรือถอยหลังรถ ในทางสายใดหรือเฉพาะทางตอนใด
(4) กำหนดทางสายใดหรือเฉพาะทางตอนใดให้รถเดินได้ทางเดียว
ทั้งนี้ ชั่วระยะเวลาเท่าที่จำเป็น
มาตรา 139 ในทางสายใดหรือเฉพาะทางตอนใดที่หัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรเห็นว่าถ้าได้ออกประกาศข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการจราจรแล้วจะเป็นการปลอดภัย และสะดวกในการจราจร ให้หัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรมีอำนาจออกประกาศข้อบังคับ หรือระเบียบดังต่อไปนี้
(1) ห้ามรถทุกชนิดหรือบางชนิดเดิน
(2) ห้ามหยุดหรือจอด
(3) ห้ามเลี้ยวรถ กลับรถ หรือถอยหลังรถ
(4) กำหนดให้รถเดินได้ทางเดียว
(5) กำหนดระยะเวลาจอดรถในทางแคบหรือที่คับขัน
(6) กำหนดอัตราความเร็วของรถในทางภายในอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง
(7) กำหนดช่องหรือแนวทางเดินรถขึ้นและล่อง
(8) กำหนดทางเดินรถทางเอกและทางเดินรถทางโท
(9) กำหนดการจอดรถหรือที่จอดพักรถ
(10) กำหนดระเบียบการใช้ทางหรือช่องเดินรถสำหรับรถบางประเภท
(11) กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการใช้รถโรงเรียน
(12) กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการบรรทุกคนโดยสารสำหรับรถจักรยาน
(13) ควบคุมขบวนแห่หรือการชุมนุมสาธารณะ
(14) ควบคุมหรือห้ามเลี้ยวรถในทางร่วมทางแยก
(15) ขีดเส้นหรือทำเครื่องหมายจราจรบนผิวทาง หรือติดตั้งสัญญาณจราจร หรือเครื่องหมายจราจร
(16) กำหนดระยะทางตอนใดให้ขับรถล้ำเข้าไปในเส้นกึ่งกลางของทางที่หัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรกำหนดไว้ได้
(17) กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการจอดรถที่ชำรุด หักพัง ตลอดจนรถที่ซ่อมแซมในทาง
(18) กำหนดระเบียบการข้ามทางของคนเดินเท้าบนทางที่ไม่มีทางข้าม
(19) กำหนดการใช้โคมไฟ
(20) กำหนดการใช้เสียงสัญญาณ
(21) กำหนดระเบียบการอนุญาตและการใช้รถที่มีล้อหรือส่วนที่สัมผัสกับผิวทางไม่ใช่ยาง
มาตรา 140 เมื่อปรากฏแก่เจ้าพนักงานจราจร ไม่ว่าพบด้วยตนเอง หรือโดยการใช้เครื่องอุปกรณ์ หรือโดยวิธีการอื่นใดว่า ผู้ขับขี่ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับรถหรือการใช้ทาง ที่เป็นความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียว หรือมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนและมีโทษปรับ เจ้าพนักงานจราจรจะว่ากล่าวตักเตือนหรือออกใบสั่งให้ผู้ขับขี่ผู้นั้นชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบก็ได้
ในกรณีเจ้าพนักงานจราจรที่ออกใบสั่งไม่พบตัวผู้ขับขี่ ให้ติด ผูก หรือแสดงใบสั่งไว้ที่รถที่ผู้ขับขี่สามารถเห็นได้ง่าย หากไม่สามารถติด ผูก หรือแสดงใบสั่งไว้ที่รถได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้ส่งใบสั่งพร้อมด้วยพยานหลักฐานโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังภูมิลำเนาของเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถเพื่อให้ชำระค่าปรับภายในระยะเวลาที่กำหนดในใบสั่งนั้น ทั้งนี้ ตามระเบียบที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนด
ให้นำความในวรรคสองมาใช้บังคับกับกรณีที่เจ้าพนักงานจราจรพบการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับรถหรือการใช้ทาง แต่ไม่อาจทราบตัวผู้ขับขี่ด้วยโดยอนุโลม
เกณฑ์การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบเทียบและแบบของใบสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติประกาศกำหนด
มาตรา 140/1 เมื่อเจ้าพนักงานจราจรได้ติด ผูก หรือแสดงใบสั่งไว้ที่รถหรือส่งใบสั่งทางไปรษณีย์ตามมาตรา 140 วรรคสองและวรรคสาม แล้ว ให้ถือว่าเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถได้รับใบสั่งเมื่อพ้นกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ติด ผูก หรือแสดงใบสั่งไว้ที่รถหรือส่งใบสั่งทางไปรษณีย์ดังกล่าว เว้นแต่จะมีการพิสูจน์ได้ว่าไม่มีการได้รับหรือได้รับหลังจากวันนั้น เมื่อเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถได้รับใบสั่งดังกล่าวแล้ว ให้สันนิษฐานว่าเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถนั้นเป็นผู้กระทำความผิดตามที่ระบุในใบสั่ง เว้นแต่เจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถจะได้แจ้งต่อพนักงานสอบสวนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับใบสั่งว่าผู้อื่นเป็นผู้ขับขี่ และผู้นั้นยอมรับว่าตนเป็นผู้ขับขี่ หรือในกรณีที่ไม่มีผู้ใดยอมรับว่าเป็นผู้ขับขี่ เจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถซึ่งไม่ใช่นิติบุคคลจะต้องแสดงหลักฐานให้พนักงานสอบสวนเชื่อได้ว่าตนเองมิได้เป็นผู้ขับขี่นั้น
มาตรา 140/2 ในกรณีที่เจ้าพนักงานจราจรได้ว่ากล่าวตักเตือนหรือออกใบสั่งให้ผู้ขับขี่ผู้ใดตามมาตรา 140 แล้ว หากเจ้าพนักงานจราจรเห็นว่าผู้ขับขี่ผู้นั้นอยู่ในสภาพที่หากให้ขับรถต่อไปอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของตนเองหรือผู้อื่น ให้เจ้าพนักงานจราจรมีอำนาจยึดใบอนุญาตขับขี่ของผู้ขับขี่ดังกล่าว หรือบันทึกการยึดใบอนุญาตขับขี่ด้วยวิธีการทางข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือระงับการใช้รถเป็นการชั่วคราวเพื่อมิให้ผู้นั้นขับรถ และให้เจ้าพนักงานจราจรคืนใบอนุญาตขับขี่ หรือยกเลิกการบันทึกการยึดใบอนุญาตขับขี่ด้วยวิธีการทางข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือยอมให้ผู้ขับขี่ขับรถได้เมื่อผู้ขับขี่นั้นอยู่ในสภาพที่สามารถขับรถต่อไปได้หรือเมื่อเจ้าพนักงานจราจรแน่ใจว่าผู้ขับขี่จะไม่ขับรถในขณะที่อยู่ในสภาพดังกล่าว ทั้งนี้ ตามระเบียบที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและอธิบดีกรมการขนส่งทางบกร่วมกันกำหนด
มาตรา 140/3 ในกรณีที่เจ้าพนักงานจราจรพบว่าผู้ขับขี่ผู้ใดเป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการได้รับใบอนุญาตขับขี่ ให้เจ้าพนักงานจราจรมีอำนาจยึดใบอนุญาตขับขี่ หรือบันทึกการยึดใบอนุญาตขับขี่ด้วยวิธีการทางข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ขับขี่ผู้นั้น โดยแจ้งการสั่งยึดใบอนุญาตขับขี่พร้อมด้วยเหตุผลในการสั่งยึดใบอนุญาตขับขี่ให้ผู้ขับขี่ดังกล่าวทราบ พร้อมทั้งมอบหลักฐานการสั่งยึดใบอนุญาตขับขี่นั้นให้แก่ผู้ขับขี่ไว้เป็นหลักฐาน
ในกรณีที่เจ้าพนักงานจราจรยึดใบอนุญาตขับขี่ตามวรรคหนึ่ง ให้จัดทำบันทึกการยึดใบอนุญาตขับขี่ และให้ส่งบันทึกนั้นพร้อมด้วยใบอนุญาตขับขี่ของบุคคลดังกล่าว ไปยังนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก เพื่อให้นายทะเบียนดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
มาตรา 141 เมื่อผู้ขับขี่ เจ้าของรถ หรือผู้ครอบครองรถได้รับใบสั่งตามมาตรา 140 แล้ว ให้ชำระค่าปรับภายในเวลาที่กำหนดไว้ในใบสั่ง ด้วยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) ชำระค่าปรับโดยการส่งธนาณัติหรือการส่งตั๋วแลกเงินของธนาคารโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนสั่งจ่ายให้แก่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยสำเนาใบสั่งไปยังสถานที่ที่ระบุไว้ในใบสั่ง หรือโดยวิธีการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ บัตรเครดิต หรือวิธีการอื่น โดยผ่านธนาคารหรือหน่วยบริการรับชำระเงิน ตามจำนวนที่ระบุไว้ในใบสั่ง ทั้งนี้ ตามระเบียบที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนด
(2) ชำระค่าปรับที่สถานีตำรวจ โดยชำระตามจำนวนที่กำหนดไว้ในใบสั่งหรือตามจำนวนที่พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบ และในกรณีนี้ ให้พนักงานสอบสวนทุกท้องที่มีเขตอำนาจในการเปรียบเทียบปรับได้ทั่วราชอาณาจักร
เมื่อผู้ได้รับใบสั่งได้ชำระค่าปรับครบถ้วนถูกต้องแล้ว ให้คดีเป็นอันเลิกกัน
มาตรา 141/1 ในกรณีที่ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถซึ่งได้รับใบสั่งไม่ปฏิบัติตามมาตรา 141 ให้เจ้าพนักงานจราจรและนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(1) ให้เจ้าพนักงานจราจรตำแหน่งตั้งแต่สารวัตรขึ้นไปมีหนังสือแจ้งการไม่ปฏิบัติตามใบสั่งและจำนวนค่าปรับที่ค้างชำระให้ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ครบกำหนดชำระค่าปรับตามที่ระบุในใบสั่ง และให้ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถทำการชำระค่าปรับที่ค้างชำระด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามมาตรา 141 ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
การแจ้งตามวรรคหนึ่ง ให้ทำเป็นหนังสือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับให้ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถ แล้วแต่กรณี ณ ภูมิลำเนาของผู้นั้น ทั้งนี้ ตามแบบที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนดและให้ถือว่าผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถได้รับแจ้งเมื่อพ้นกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ส่ง
(2) ในกรณีที่ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถคันใดไม่ชำระค่าปรับตาม (1) ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(ก) ให้เจ้าพนักงานจราจรแจ้งจำนวนค่าปรับที่ค้างชำระพร้อมหลักฐานตาม (1) ไปยังนายทะเบียน และให้นายทะเบียนตรวจสอบข้อมูลและแจ้งให้ผู้มาติดต่อขอชำระภาษีประจำปีสำหรับรถคันนั้นทราบ เพื่อไปชำระค่าปรับที่ค้างชำระภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ถ้าผู้มาติดต่อขอชำระภาษีประจำปีเป็นเพียงตัวแทนเจ้าของรถ ให้ผู้มาติดต่อแจ้งให้เจ้าของรถทราบเพื่อไปชำระค่าปรับภายในระยะเวลาดังกล่าว ในการนี้ ให้นายทะเบียนรับชำระภาษีประจำปีสำหรับรถคันนั้นไว้โดยออกหลักฐานชั่วคราวแทนการออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปีให้เจ้าของรถหรือตัวแทนเจ้าของรถแทน
หลักฐานชั่วคราวตามวรรคหนึ่งให้ใช้แทนเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปีโดยให้มีอายุสามสิบวันนับแต่วันที่นายทะเบียนได้ออกให้
(ข) ในกรณีที่เจ้าของรถได้ชำระค่าปรับที่ค้างชำระครบถ้วนภายในระยะเวลาตามที่กำหนดใน (ก) ให้เจ้าของรถหรือตัวแทนเจ้าของรถนำหลักฐานแสดงการชำระค่าปรับที่ได้รับจากเจ้าพนักงานจราจรมาแสดงต่อนายทะเบียนเพื่อให้ออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปีสำหรับรถคันนั้น
(ค) ในกรณีที่เจ้าของรถหรือตัวแทนเจ้าของรถที่ได้รับหนังสือแจ้งตาม (ก) ประสงค์จะชำระค่าปรับในวันที่มาติดต่อขอชำระภาษีประจำปี ให้นายทะเบียนมีอำนาจรับชำระค่าปรับตามจำนวนที่ค้างชำระแทนได้ โดยให้นายทะเบียนรับชำระภาษีประจำปีสำหรับรถคันนั้นและออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปีให้เจ้าของรถหรือตัวแทนเจ้าของรถ
(ง) ในกรณีที่เจ้าของรถไม่ชำระค่าปรับที่ค้างชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนดใน (ก) ให้เจ้าพนักงานจราจรแจ้งนายทะเบียนให้งดการออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปีสำหรับรถคันนั้น และแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
ในกรณีที่ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถผู้ใดเห็นว่า ตนมิได้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับรถนั้น ให้ทำหนังสือโต้แย้งข้อกล่าวหานั้นภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากนายทะเบียนตาม (ก) ส่งไปยังสถานที่ที่ระบุไว้ในใบสั่งหรือสถานที่ที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ การทำหนังสือโต้แย้งให้ใช้วิธีส่งทางไปรษณีย์ตอบรับหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะกำหนดวิธีการอื่นใดด้วยก็ได้
เมื่อเจ้าพนักงานจราจรหรือหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรได้รับหนังสือโต้แย้งตามวรรคสองหากเจ้าพนักงานจราจรหรือหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรยังคงยืนยันและเห็นสมควรดำเนินคดีต่อผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถผู้นั้นให้ส่งเรื่องไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการฟ้องต่อศาลต่อไป แล้วแจ้งผลให้ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถทราบ
เมื่อได้มีการชำระค่าปรับครบถ้วนถูกต้องแล้ว ให้คดีเป็นอันเลิกกัน และในกรณีที่มีการเรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ไว้ ให้ผู้ขับขี่นำหลักฐานการชำระค่าปรับไปขอรับใบอนุญาตขับขี่คืนจากเจ้าพนักงานจราจรผู้เรียกเก็บ ทั้งนี้ ในระหว่างที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตขับขี่คืน ให้ถือว่าหลักฐานแสดงการชำระค่าปรับเป็นใบแทนใบอนุญาตขับขี่มีกำหนดสิบวันนับแต่วันที่ชำระค่าปรับ
การรับชำระและการนำส่งเงินค่าปรับ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมการขนส่งทางบกกำหนด
เงินที่ได้รับตามวรรคหนึ่ง (2) (ก) ให้อธิบดีกรมการขนส่งทางบกหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายหักไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในอัตราร้อยละห้าของจำนวนเงินที่ได้รับโดยให้นำไปใช้จ่ายได้เช่นเดียวกับเงินงบประมาณตามระเบียบที่อธิบดีกรมการขนส่งทางบกกำหนดส่วนเงินที่เหลือให้นำส่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
การดำเนินการใด ๆ ของเจ้าพนักงานจราจรและนายทะเบียนตามมาตรานี้ สามารถใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นใดตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมการขนส่งทางบกกำหนด
มาตรา 142 หัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรหรือเจ้าพนักงานจราจรมีอำนาจสั่งให้ผู้ขับขี่หยุดรถในเมื่อ
(1) รถนั้นมีสภาพไม่ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6
(2) เห็นว่าผู้ขับขี่หรือบุคคลใดในรถนั้นได้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอันเกี่ยวกับรถนั้น ๆ
ในกรณีที่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าผู้ขับขี่ฝ่าฝืนมาตรา 43 (1) หรือ (2) ให้หัวหน้าเจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานจราจรสั่งให้มีการทดสอบผู้ขับขี่ดังกล่าวว่าหย่อนความสามารถในอันที่จะขับหรือเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นหรือไม่
ในกรณีที่ผู้ขับขี่ตามวรรคสองไม่ยอมให้ทดสอบ ให้หัวหน้าเจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานจราจรมีอำนาจกักตัวผู้นั้นไว้ดำเนินการทดสอบได้ภายในระยะเวลาเท่าที่จำเป็นแห่งกรณีเพื่อให้การทดสอบเสร็จสิ้นไปโดยเร็ว หากผู้นั้นยอมให้ทดสอบและผลการทดสอบปรากฏว่าไม่ได้ฝ่าฝืนมาตรา 43 (1) หรือ (2) ก็ให้ปล่อยตัวไปทันที
ในกรณีที่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าผู้ขับขี่ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น หากผู้นั้นยังไม่ยอมให้ทดสอบตามวรรคสามโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นฝ่าฝืนมาตรา 43 (2)
การทดสอบตามมาตรานี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 142/1 เพื่อประโยชน์ในการควบคุมความประพฤติของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ให้เกิดความปลอดภัยในการจราจร ในกรณีที่ผู้ขับขี่ผู้ใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับรถหรือการใช้ทาง ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดให้มีระบบการบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่
ระบบการบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถตามวรรคหนึ่ง อย่างน้อยต้องประกอบด้วยการกำหนดคะแนน การตัดคะแนน และการคืนคะแนน โดยวิธีดำเนินการดังกล่าวให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและอธิบดีกรมการขนส่งทางบกร่วมกันกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ ในการกำหนดคะแนนความประพฤติในการขับรถให้คำนึงถึงประเภทของใบอนุญาตขับขี่ และเหตุแห่งการกระทำความผิดด้วย
ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ผู้ใดถูกตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถจนหมดคะแนนตามที่กำหนดไว้ ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในแต่ละท้องที่สั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ผู้นั้นคราวละเก้าสิบวัน ทั้งนี้ ตามระเบียบที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนด
มาตรา 142/2 คำสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ตามมาตรา 142/1 วรรคสาม ให้ทำเป็นหนังสือและให้แจ้งคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่แก่ผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ทราบ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
เมื่อได้แจ้งคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้แจ้งนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกทราบโดยเร็ว พร้อมทั้งบันทึกข้อมูลตามระเบียบที่กำหนดไว้ในมาตรา 4/1
มาตรา 142/3 ผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ซึ่งถูกตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถหรือถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ตามมาตรา 142/1 วรรคสาม อาจเข้ารับการอบรมความรู้เกี่ยวกับการขับรถและวินัยจราจรตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดได้
ให้กรมการขนส่งทางบกจัดการอบรมความรู้เกี่ยวกับการขับรถและวินัยจราจร ตามหลักสูตรที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและอธิบดีกรมการขนส่งทางบกร่วมกันกำหนด
การจัดให้มีการอบรมความรู้เกี่ยวกับการขับรถและวินัยจราจรตามวรรคสอง กรมการขนส่งทางบกอาจมอบหมายให้โรงเรียนสอนขับรถที่กรมการขนส่งทางบกรับรองดำเนินการก็ได้
ในการอบรมตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้เข้ารับการอบรมเสียค่าใช้จ่ายตามที่อธิบดีกรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด
มาตรา 142/4 ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ซึ่งผ่านการอบรมตามมาตรา 142/3 มีสิทธิได้รับคืนคะแนนความประพฤติในการขับรถที่ถูกตัดไปอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้โดยยื่นคำขอต่อหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจร ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ประกาศกำหนดตามมาตรา 142/1 วรรคสอง
มาตรา 142/5 ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ผู้ใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับรถหรือการใช้ทาง หากการกระทำความผิดดังกล่าวมีเหตุหรือก่อให้เกิดหรือน่าจะก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสาธารณะ หรือมีลักษณะเป็นภัยแก่ประชาชนอย่างร้ายแรง หรือมีพฤติการณ์หลบหนีเมื่อตนเองก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้บัญชาการหรือเทียบเท่าที่ได้รับมอบหมายจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ผู้นั้นได้ไม่เกินเก้าสิบวัน
คำสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ตามวรรคหนึ่ง ให้ทำเป็นหนังสือ และให้แจ้งคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่แก่ผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ทราบ พร้อมทั้งข้อหาในการกระทำความผิด กำหนดเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ โดยแนบพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปด้วย ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา พร้อมทั้งบันทึกข้อมูลตามระเบียบที่กำหนดไว้ในมาตรา 4/1
มาตรา 142/6 ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ผู้ใดถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ตามพระราชบัญญัตินี้เกินสองครั้งภายในระยะเวลาสามปีนับแต่วันที่ถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ครั้งแรก หากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้บัญชาการหรือเทียบเท่าที่ได้รับมอบหมายจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเห็นว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ผู้นั้นสมควรถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่เกินเก้าสิบวัน ให้แจ้งนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกพร้อมด้วยข้อหาในการกระทำความผิดและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้นายทะเบียนดำเนินการพิจารณาสั่งยึดหรือพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก แล้วแต่กรณี พร้อมทั้งทำการบันทึกข้อมูลตามระเบียบที่กำหนดไว้ในมาตรา 4/1
มาตรา 142/7 ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ผู้ใดเคยถูกสั่งยึดหรือพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกตามมาตรา 142/6 มาแล้ว และได้กระทำความผิดและถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ตามพระราชบัญญัตินี้อีกภายในระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่พ้นกำหนดระยะเวลาที่ถูกสั่งยึดหรือพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ตามมาตรา 142/6 หากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้บัญชาการหรือเทียบเท่าที่ได้รับมอบหมายจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเห็นว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ผู้นั้นสมควรถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ให้แจ้งนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก พร้อมด้วยข้อหาในการกระทำความผิดและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้นายทะเบียนดำเนินการพิจารณาสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก แล้วแต่กรณี พร้อมทั้งทำการบันทึกข้อมูลตามระเบียบที่กำหนดไว้ในมาตรา 4/1
มาตรา 142/8 ผู้ได้รับคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ตามมาตรา 142/1 หรือมาตรา 142/5 ให้มีสิทธิอุทธรณ์ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งตามมาตรา 142/2 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 142/5 วรรคสอง แล้วแต่กรณี ดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้ออกคำสั่ง ให้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี
(2) ในกรณีผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้บัญชาการหรือเทียบเท่าเป็นผู้ออกคำสั่งให้อุทธรณ์ต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
(3) ในกรณีผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งอื่นนอกจาก (1) และ (2) เป็นผู้ออกคำสั่ง ให้อุทธรณ์ต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปชั้นหนึ่ง
ให้ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง พิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ คำวินิจฉัยของผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด
หลักเกณฑ์และวิธีการในการแจ้งสิทธิอุทธรณ์ การยื่นอุทธรณ์ และวิธีพิจารณาอุทธรณ์ ให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนด
มาตรา 143 ถ้าปรากฏว่าผู้ขับขี่นำรถที่มีสภาพไม่ถูกต้องตามมาตรา 6 ไปใช้ในทาง นอกจากจะต้องรับโทษตามบทบัญญัตินั้น ๆ แล้ว หัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรหรือเจ้าพนักงานจราจรมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าของรถหรือผู้ขับขี่ซ่อมหรือแก้ไขรถให้ถูกต้อง
มาตรา 143 ทวิ หัวหน้าเจ้าพนักงานจราจร เจ้าพนักงานจราจร หรือผู้ตรวจการมีอำนาจสั่งให้ผู้ขับขี่หยุดรถเพื่อทำการตรวจสอบในเมื่อรถนั้นมีสภาพไม่ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 ทวิ และมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้ระงับการใช้รถนั้นเป็นการชั่วคราว และให้เจ้าของรถหรือผู้ขับขี่ซ่อมหรือแก้ไขรถให้ถูกต้อง
มาตรา 144 เมื่อเจ้าของรถหรือผู้ขับขี่ได้ซ่อมหรือแก้ไขรถถูกต้องตามคำสั่งหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจร เจ้าพนักงานจราจร หรือผู้ตรวจการ ซึ่งสั่งตามมาตรา 143 หรือมาตรา 143 ทวิ แล้ว ให้นำรถไปให้หัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรหรือผู้ที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแต่งตั้งให้มีอำนาจตรวจรถตรวจรับรอง เจ้าของรถหรือผู้ขับขี่จะนำรถออกใช้ในทางได้เมื่อได้รับใบตรวจรับรอง
การตรวจรับรองรถตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 145 บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้นอกจากความผิดที่กำหนดโทษไว้ในมาตรา 157/1 มาตรา 159 มาตรา 160 มาตรา 160 ทวิ และมาตรา 160 ตรี ให้พนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจทำการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีอำนาจเปรียบเทียบหรือว่ากล่าวตักเตือนได้
ในกรณีที่ผู้ขับขี่ได้ขับรถชนหรือโดนคนเดินเท้าที่ข้ามทางนอกทางข้ามและอยู่ในระหว่างทางข้ามกับเครื่องหมายจราจรแสดงเขตทางข้าม หรือที่ข้ามทางนอกทางข้ามโดยลอด ข้าม หรือผ่านสิ่งปิดกั้น หรือแผงปิดกั้นที่หัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรหรือเจ้าพนักงานจราจรนำมาวางหรือตั้งอยู่บนทางเท้าหรือกลางถนน เมื่อพนักงานสอบสวนมีเหตุผลอันควรเชื่อว่าผู้ขับขี่ ซึ่งเป็นผู้ต้องหาได้ใช้ความระมัดระวังตามความในมาตรา 32 แล้ว ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจปล่อยตัวผู้ต้องหาไปชั่วคราวโดยไม่มีประกันได้ เมื่อผู้ต้องหาหรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องร้องขอ
มาตรา 146 เงินค่าปรับตามพระราชบัญญัตินี้ที่ได้รับในกรุงเทพมหานครหรือในจังหวัดใด หรือในท้องถิ่นที่กระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนด ให้แบ่งให้แก่กรุงเทพมหานครหรือเทศบาลในจังหวัดนั้นเพื่อใช้ในการดำเนินการเกี่ยวกับการจราจร ในอัตราร้อยละห้าสิบของจำนวนเงินค่าปรับ หรือให้ตกเป็นของท้องถิ่นที่กระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนดทั้งหมด
-----------------------------
0 ความคิดเห็น