ส่วนที่ 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป


               มาตรา 65  นิติบุคคลจะมีขึ้นได้ก็แต่ด้วยอาศัยอำนาจแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น

               มาตรา 66  นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ภายในขอบแห่งอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ดังได้บัญญัติหรือกำหนดไว้ในกฎหมาย ข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้ง

               มาตรา 67  ภายใต้บังคับมาตรา ๖๖ นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา เว้นแต่สิทธิและหน้าที่ซึ่งโดยสภาพจะพึงมีพึงเป็นได้เฉพาะแก่บุคคลธรรมดาเท่านั้น

               มาตรา 68  ภูมิลำเนาของนิติบุคคลได้แก่ถิ่นอันเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่หรือถิ่นอันเป็นที่ตั้งที่ทำการ หรือถิ่นที่ได้เลือกเอาเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการตามข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้ง

               มาตรา 69  ในกรณีที่นิติบุคคลมีที่ตั้งทำการหลายแห่งหรือมีสำนักงานสาขา ให้ถือว่าถิ่นอันเป็นที่ตั้งของที่ทำการหรือของสำนักงานสาขาเป็นภูมิลำเนาในส่วนกิจการอันได้กระทำ ณ ที่นั้นด้วย

               มาตรา 70  นิติบุคคลต้องมีผู้แทนคนหนึ่งหรือหลายคน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมาย ข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้งจะได้กำหนดไว้
               ความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคล

               มาตรา 71  ในกรณีที่นิติบุคคลมีผู้แทนหลายคน การดำเนินกิจการของนิติบุคคลให้เป็นไปตามเสียงข้างมากของผู้แทนของนิติบุคคลนั้น เว้นแต่จะได้มีข้อกำหนดไว้เป็นประการอื่นในกฎหมาย ข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้ง

               มาตรา 72  การเปลี่ยนตัวผู้แทนของนิติบุคคล หรือการจำกัดหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงอำนาจของผู้แทนของนิติบุคคล ให้มีผลต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้งแล้ว แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตมิได้

               มาตรา 73  ถ้ามีตำแหน่งว่างลงในจำนวนผู้แทนของนิติบุคคล และมีเหตุอันควรเชื่อว่าการปล่อยตำแหน่งว่างไว้น่าจะเกิดความเสียหายขึ้นได้ เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอศาลจะแต่งตั้งผู้แทนชั่วคราวขึ้นก็ได้

               มาตรา 74  ถ้าประโยชน์ได้เสียของนิติบุคคลขัดกับประโยชน์ได้เสียของผู้แทนของนิติบุคคลในการอันใด ผู้แทนของนิติบุคคลนั้นจะเป็นผู้แทนในการอันนั้นไม่ได้

               มาตรา 75  ถ้ากรณีตามมาตรา 74 เป็นเหตุให้ไม่มีผู้แทนของนิติบุคคลเหลืออยู่ หรือผู้แทนของนิติบุคคลที่เหลืออยู่มีจำนวนไม่พอจะเป็นองค์ประชุม หรือไม่พอจะกระทำการอันนั้นได้ หากกฎหมาย ข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้งของนิติบุคคลนั้น มิได้มีข้อกำหนดในเรื่องนี้ไว้เป็นอย่างอื่น ให้นำความในมาตรา ๗๓ มาใช้บังคับเพื่อตั้งผู้แทนเฉพาะการโดยอนุโลม

               มาตรา 76  ถ้าการกระทำตามหน้าที่ของผู้แทนของนิติบุคคลหรือผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคล เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น นิติบุคคลนั้นต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น แต่ไม่สูญเสียสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้ก่อความเสียหาย
               ถ้าความเสียหายแก่บุคคลอื่นเกิดจากการกระทำที่ไม่อยู่ในขอบวัตถุประสงค์หรืออำนาจหน้าที่ของนิติบุคคล บรรดาบุคคลดังกล่าวตามวรรคหนึ่งที่ได้เห็นชอบให้กระทำการนั้นหรือได้เป็นผู้กระทำการดังกล่าว ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายนั้น

               มาตรา 77  ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทนแห่งประมวลกฎหมายนี้ มาใช้บังคับแก่ความเกี่ยวพันระหว่างนิติบุคคลกับผู้แทนของนิติบุคคล และระหว่างนิติบุคคล หรือผู้แทนของนิติบุคคลกับบุคคลภายนอก โดยอนุโลม

------------------------------

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4554/2559  บริษัทมหาชนจำกัดเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้ถือหุ้น และมีสิทธิและหน้าที่ได้ตามกฎหมาย จึงเป็นเจ้าของเงินที่ให้กู้ยืมไป เมื่อมีผู้เบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าว ย่อมเป็นผู้เสียหายโดยตรงตาม ป.วิ.อ. 
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 520/2559  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 65 นิติบุคคลจะมีขึ้นได้ก็แต่ด้วยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นเท่านั้น ดังนั้น คณะบุคคลหรือหน่วยงานใด หากไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายรับรองสถานะว่ามีฐานะเป็นนิติบุคคล ย่อมไม่อาจมีสภาพเป็นนิติบุคคลได้ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กร อยู่ในหมวดที่ 2 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยมาตรา 30 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ให้มีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีฐานะเป็นนิติบุคคลและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยมีประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด" ส่วนบทบัญญัติในหมวด 1 คณะกรรมการการเลือกตั้ง หาได้มีบทมาตราใดบัญญัติรับรองให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่  
 
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3901/2559  ธ. ทำสัญญาขายหุ้นของบริษัทโจทก์ให้แก่บริษัท อ. ก่อนที่ ธ. จะทำสัญญาจ้างแรงงานกับบริษัท พ. แม้บริษัท อ. จะควบรวมกิจการกับบริษัท จ. กลายเป็นบริษัท พ. และถือว่าบริษัท พ. สวมสิทธิเป็นผู้ถือหุ้นที่ซื้อจาก ธ. แทนบริษัท อ. ก็ตาม แต่บริษัท พ. เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากโจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นคู่สัญญาที่มีสิทธิยกเอาข้อตกลงตามสัญญาขายหุ้นดังกล่าวที่ห้าม ธ. ประกอบธุรกิจหรือให้ข้อมูลแก่บุคคลหรือหน่วยงานอื่นที่เป็นการแข่งขันทางธุรกิจกับโจทก์มากล่าวอ้างฟ้องร้องคดีนี้
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12776/2558  โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง มีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นผู้แทนนิติบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการส่วนจังหวัดในเขตจังหวัดตามมาตรา 7 ซึ่งอำนาจหน้าที่ในการดำเนินกิจการนี้ย่อมหมายรวมถึงอำนาจติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของรัฐที่อยู่ในเขตจังหวัดที่อยู่ในความดูแล ตลอดจนมีอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งปวงเกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าวได้ตามสิทธิและหน้าที่ที่บัญญัติไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 66 และ 67 ด้วย เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นการทำโดยละเมิดต่อโจทก์โดยตรง โจทก์โดยนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดจึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ โดยไม่จำต้องรับมอบอำนาจจากผู้ว่าราชการจังหวัดอีก
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2832/2559  ป.พ.พ. มาตรา 68 บัญญัติว่า "ภูมิลำเนาของนิติบุคคลได้แก่ถิ่นอันเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่หรือถิ่นอันเป็นที่ตั้งที่ทำการ..." และ ป.รัษฎากร มาตรา 8 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "หมายเรียก หนังสือแจ้งให้เสียภาษีอากรหรือหนังสืออื่นซึ่งมีถึงบุคคลใดตามลักษณะนี้ ให้ส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับหรือให้เจ้าพนักงานสรรพากรนำไปส่ง ณ ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ หรือสำนักงานของบุคคลนั้น... ถ้าไม่พบผู้รับ ณ ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่หรือสำนักงานของผู้รับ จะส่งให้แก่บุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วและอยู่หรือทำงานในบ้านหรือสำนักงานที่ปรากฏว่าเป็นของผู้รับนั้นก็ได้" ตามหนังสือรับรองของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปี 2553 จำเลยมิได้จดทะเบียนเลิกกิจการหรือเปลี่ยนแปลงที่ทำการ จึงถือว่าจำเลยยังคงมีภูมิลำเนาอยู่ที่เดิม เมื่อโจทก์ส่งหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้แก่จำเลยโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับภายในประเทศไปยังภูมิลำเนาของจำเลยและมีผู้ลงลายมือชื่อรับไว้ในฐานะเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ซึ่งจำเลยนำสืบยอมรับว่ามีการจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำบริษัทจำเลยไว้ จึงต้องถือว่าจำเลยได้ทราบหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์โดยชอบด้วยมาตรา 8 แล้ว
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5330/2561  ตามหนังสือรับรองมีข้อความจำกัดอำนาจของ อ. ให้ลงลายมือชื่อและประทับตราผูกพันบริษัทได้เฉพาะในเรื่องที่เป็นคำขอและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และกรมสรรพากรเท่านั้น การยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ การฟ้องคดีหรือมอบอำนาจให้ฟ้องคดี มิใช่คำขอที่เกี่ยวกับการจดทะเบียน แต่เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายของนิติบุคคลที่แสดงออกโดยผู้แทนนิติบุคคล เมื่อโจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โดย อ. ลงลายมือชื่อและประทับตราของโจทก์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็รับไว้พิจารณาและมีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์โจทก์ แต่ลดเบี้ยปรับให้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ 
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8565 - 8566/2558  การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า บริษัท ว. เป็นนิติบุคคล มี ส. เป็นกรรมการผู้แทนนิติบุคคลตามกฎหมาย และมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้บริหารดำเนินกิจการตามความเป็นจริง เท่ากับโจทก์ยืนยันว่าบริษัทได้เชิด ส. ออกแสดงเป็นผู้แทนของตน แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้มีชื่อเป็นผู้แทนตามหนังสือรับรองแต่ก็เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโดยผ่านทาง ส. นั่นเอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1167 ที่กำหนดให้ความเกี่ยวพันในระหว่างกรรมการและบริษัทและบุคคลภายนอกนั้น ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน คำฟ้องโจทก์จึงไม่ขัดแย้งกันหรือเป็นไปไม่ได้ดังคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 หากแต่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 แล้ว
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7830/2560  กรรมการบริษัทเดินทางออกจากประเทศและไม่สามารถติดต่อได้เนื่องจากเป็นผู้ต้องหาหลบหนีคดี แม้ไม่ใช่กรณีผู้แทนนิติบุคคลว่างลงซึ่งผู้ร้องอาจขอให้แต่งตั้งผู้แทนนิติบุคคลชั่วคราวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 73 แต่เมื่อไม่มีกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ทั้งไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น จึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาวินิจฉัยคดี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง และเห็นได้ว่า ป.พ.พ. มาตรา 73 เป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง เพราะการที่กรรมการบริษัทไม่อยู่ทำหน้าที่ผู้แทนนิติบุคคลอาจมีผลเช่นเดียวกับตำแหน่งผู้แทนของนิติบุคคลว่างลง และการที่กรรมการดังกล่าวไม่อยู่อาจมีเหตุอันควรเชื่อว่าน่าจะเกิดความเสียหายขึ้นได้
          การที่ผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัทซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียขอให้ศาลแต่งตั้งผู้แทนนิติบุคคลชั่วคราว จะต้องได้ความว่าหากไม่แต่งตั้งผู้แทนนิติบุคคลชั่วคราวในขณะที่กรรมการบริษัทไม่อยู่จะเกิดความเสียหายขึ้นได้ และผู้ที่จะให้แต่งตั้งเป็นผู้แทนนิติบุคคลชั่วคราวเป็นผู้เหมาะสมที่จะทำหน้าที่ผู้แทนนิติบุคคลนั้นด้วย 
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8579/2553  ผู้ร้องอ้างว่ากรรมการของบริษัท ศ. ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้ร้องในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ได้รับความเสียหายกรณีจึงไม่ใช่เป็นเรื่องมีตำแหน่งว่างลงในจำนวนผู้แทนนิติบุคคลและมีเหตุอันควรเชื่อว่าการปล่อยตำแหน่งว่างไว้น่าจะเกิดความเสียหายขึ้นได้ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 73 หรือเป็นเรื่องที่นิติบุคคลไม่สามารถดำเนินการได้อันเนื่องมาจากผู้แทนบางคนไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่อันจะนำ ป.พ.พ. มาบังคับใช้ในฐานะบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 ประกอบมาตรา 73
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1297/2562  ตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครเอกสารแนบท้ายคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 และ ธ. เป็นกรรมการของโจทก์ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 และ ธ. ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของโจทก์ในคำร้องขอถอนฟ้องย่อมมีผลผูกพันโจทก์และถือว่าโจทก์โดยจำเลยที่ 1 และ ธ. กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ขอถอนฟ้องของโจทก์แทนโจทก์และมีผลผูกพันโจทก์แล้ว การถอนฟ้องคดีนี้จะเป็นผลดีหรือผลเสียต่อโจทก์ ผลดีหรือผลเสียนั้นย่อมตกแก่จำเลยที่ 1 ในฐานะที่เป็นกรรมการของโจทก์ด้วยในลักษณะอย่างเดียวกันจะถือว่าผลประโยชน์ทางได้ทางเสียของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในการฟ้องคดีนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อกันดังที่บัญญัติใน ป.พ.พ. มาตรา 74 ไม่ได้
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15198/2551  ผู้ร้องคัดค้านได้ร่วมก่อตั้งบริษัท อ. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัท ม. โดยผู้ร้องคัดค้านเป็นผู้ถือหุ้น การที่ผู้ร้องคัดค้านซึ่งเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดไม่ดำเนินการใดๆ กับบริษัท ม.ซึ่งค้างชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นจำนวนมากนั้น เนื่องจากคำนึงถึงผลกระทบที่จะมีต่อเครือญาติและตนเองในบริษัทดังกล่าว อันเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์ของนิติบุคคลอาคารชุดมิลฟอร์ด พาราไดซ์ คอนโดเทล ถือได้ว่าประโยชน์ได้เสียของนิติบุคคลขัดกับประโยชน์ได้เสียของผู้แทนของนิติบุคคลในเรื่องดังกล่าว เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่กรณีดังกล่าวได้ ทั้งไม่ปรากฏว่ามีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นในกรณีเช่นนี้ จึงต้องวินิจฉัยคดีโดยอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของร่วมในอาคารชุดย่อมร้องขอให้ศาลแต่งตั้ง ธ. เป็นผู้แทนเฉพาะการเพื่อดำเนินการในเรื่องการทวงถามค่าใช้จ่ายส่วนกลางตลอดจนการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องตามข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดมิลฟอร์ด พาราไดซ์ คอนโดเทลได้ ตามป.พ.พ. มาตรา 75

------------------------------

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรื่อง นิติบุคคล