หมวด 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป

-------------------------

               มาตรา 149  นิติกรรม หมายความว่า การใด ๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ

               มาตรา 150  การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ

               มาตรา 151  การใดเป็นการแตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมาย ถ้ามิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นไม่เป็นโมฆะ

               มาตรา 152  การใดมิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ การนั้นเป็นโมฆะ

               มาตรา 153  การใดมิได้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยความสามารถของบุคคล การนั้นเป็นโมฆียะ
-------------------------------

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6968/2559  เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมและโจทก์ประสงค์จะได้รับชำระหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิร้องขอให้บังคับคดีตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา โดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาด หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงจะมีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพื่อนำออกขายทอดตลาดและนำเงินที่ขายได้สุทธิมาชำระหนี้ที่ยังค้างชำระได้ภายในสิบปีนับแต่วันถัดจากวันสุดท้ายที่จำเลยจะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามที่กำหนดในคำพิพากษาตามยอม หากทรัพย์สินจำนองยังขายมิได้ โจทก์ย่อมไม่อาจร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลย เนื่องจากขัดต่อขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาตามยอมที่โจทก์และจำเลยตกลงกันโดยสมัครใจและบังคับต่อกันได้ โดยความศักดิ์สิทธิ์ของการแสดงเจตนาและชอบด้วยกฎหมายสารบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 ซึ่งกฎหมายวิธีสบัญญัติคือ ป.วิ.พ. มาตรา 138 ก็ให้ศาลพิพากษาไปตามข้อตกลงนั้นได้บัญญัติรับรองไว้ ดังนี้ การบังคับคดีจึงต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ซึ่งเป็นบทมาตราหลัก คือต้องบังคับคดีตามคำบังคับที่ออกตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาตามยอมซึ่งผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2559)

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15668/2558  การที่จำเลยมอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1 ประมูลงานและทำสัญญารับจ้างก่อสร้างอาคารเรียนกับกรมสามัญศึกษาและให้โจทก์ทั้งสามก่อสร้างโดยโจทก์ทั้งสามเป็นผู้ลงทุนและรับค่าจ้างในนามจำเลย หากโจทก์ทั้งสามขาดเงินทุนและจำเลยออกเงินทดรองจ่ายไป โจทก์ทั้งสามจะใช้คืนพร้อมดอกเบี้ย ไม่ทำให้จำเลยกลายเป็นตัวแทนของโจทก์ทั้งสามในการทำสัญญารับจ้างก่อสร้างกับกรมสามัญศึกษา เพราะจำเลยยังคงต้องรับผิดตามสัญญาจ้างก่อสร้างกับกรมสามัญศึกษา แต่การที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยต่างต้องลงทุนและก่อสร้าง และจำเลยยังต้องรับผิดตามสัญญาจ้างดังกล่าวเป็นการตกลงร่วมกันประกอบกิจการโดยต่างได้รับผลประโยชน์ตอบแทน เป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อสัญญาดังกล่าวไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 สัญญานี้ย่อมบังคับกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 และ 369 แม้โจทก์ทั้งสามจะฟ้องอ้างว่าจำเลยเป็นตัวแทน แต่เมื่อข้อตกลงระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่โจทก์บรรยายฟ้องเป็นเรื่องตกลงร่วมกันประกอบการโดยต่างได้รับผลประโยชน์ตอบแทน จึงเป็นเรื่องที่โจทก์เข้าใจข้อกฎหมายคลาดเคลื่อนไปว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาตัวแทน ศาลย่อมมีอำนาจใช้บทบัญญัติเรื่องสัญญาต่างตอบแทนบังคับแก่คดีนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 134 มิใช่การพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องอันจะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13070/2558  โจทก์ฟ้องโดยมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ คำให้การแก้ฟ้องแย้งก็ขอชำระเงินตามจำนวนที่เห็นว่าถูกต้อง ถือว่าโจทก์ยินยอมชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระแล้ว เมื่อโจทก์ชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 แล้ว หนี้เป็นอันระงับสิ้นไป โจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ตอบแทนเช่นกัน เพราะโจทก์ประสงค์จะนำหนังสือนี้ไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอจดทะเบียนโอนห้องชุดมาเป็นของตน การที่จำเลยออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้จึงก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะโอนห้องชุดได้ จึงเป็นการกระทำนิติกรรมฝ่ายเดียวของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 ดังนั้น ในการบังคับชำระหนี้ หากสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่อง ศาลชอบที่จะสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคสอง
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6614/2562  จำเลยรับจะดำเนินการวิ่งเต้นให้โจทก์ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธร โจทก์ย่อมคาดหมายได้ว่าจำเลยจะต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยตนเองหรือผ่านบุคคลอื่นเพื่อแทรกแซงการใช้ดุลพินิจของผู้มีอำนาจแต่งตั้ง โดยมีเงินที่ได้รับจากโจทก์เป็นค่าตอบแทนหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ การที่โจทก์ตกลงมอบเงินให้ตามข้อเสนอของจำเลย แต่โจทก์ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 การคืนทรัพย์อันเกิดจากโมฆะกรรม ต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับตาม มาตรา 172 วรรคสอง การที่โจทก์มอบเงินให้จำเลยไปดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ถือเป็นการกระทำตามอำเภอใจ เสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ทั้งยังเป็นการชำระหนี้อันฝ่าฝืนศีลธรรมอันดี จึงไม่อาจเรียกร้องเงินคืนได้ตาม มาตรา 407 และ 411
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1986/2562  โจทก์ตกลงซื้อที่ดินมือเปล่าที่จำเลยอ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายจำนวนเนื้อที่ 25 ไร่ ราคา 10,000,000 บาท โจทก์ชำระราคาที่ดินให้แก่จำเลยครบถ้วน และจำเลยส่งมอบการครอบครองที่ดินให้โจทก์แล้ว ต่อมาโจทก์ได้ยื่นเรื่องขอออกโฉนดที่ดินต่อสำนักงานที่ดินจึงทราบว่าที่ดินที่จำเลยขายแก่โจทก์ตั้งอยู่ในเขตที่สวนเลี้ยงสัตว์บ้านท่าแดงซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จึงเป็นการที่โจทก์กับจำเลยทำสัญญาซื้อขายทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ซึ่งจะโอนแก่กันมิได้ตามมาตรา 1305 ซึ่งเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นโมฆะตามมาตรา 150 ทั้งเป็นกรณีที่จำเลยรู้อยู่แล้วว่าที่ดินที่นำมาขายแก่โจทก์เป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่อาจซื้อขายได้ แต่จำเลยจงใจนิ่งเสียไม่แจ้งความจริงดังกล่าวแก่โจทก์ ซึ่งหากโจทก์รู้ความจริงสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเกี่ยวกับที่ดินพิพาทคงจะไม่เกิดขึ้น กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยได้รับเงินค่าที่ดินจำนวนดังกล่าวไปจากโจทก์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย การที่โจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวเท่ากับราคาที่ดินที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยไปนั้น จึงมีลักษณะเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของโจทก์คืนจากจำเลยผู้ที่ไม่มีสิทธิที่จะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีกำหนดอายุความ ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ จำเลยจึงต้องรับผิดคืนเงินราคาที่ดินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3698/2561  ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารกำหนดสิทธิของผู้ว่าจ้างภายหลังบอกเลิกสัญญาไว้ในข้อ 13 มีสาระสำคัญว่า จำเลยมีสิทธิริบค่าจ้างที่โจทก์ดำเนินการไปแล้วแต่จำเลยยังไม่ชำระ รวมทั้งหลักประกันใดๆ ที่โจทก์มอบไว้แก่จำเลยตามสัญญา เพื่อนำมาหักชำระเป็นค่าปรับ ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลยอันเนื่องมาจากการผิดสัญญาของโจทก์ รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการทำงานต่อไป หรือค่าเสียหายในการแก้ไขงานในระยะเวลารับประกันผลงาน ส่วนเครื่องมือและอุปกรณ์การก่อสร้างที่โจทก์นำมาในสถานที่ก่อสร้าง โจทก์ยินยอมให้จำเลยยึดทรัพย์สินเหล่านั้นมาขายเพื่อหักใช้หนี้ใด ๆ ที่โจทก์มีต่อจำเลยได้ทันทีซึ่งเป็นข้อตกลงที่แตกต่างไปจากผลของการเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 ข้อตกลงที่แตกต่างดังกล่าวมิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม ป.พ.พ. มาตรา 151 จึงมีผลใช้บังคับได้ระหว่างโจทก์ จำเลย ผลก็คือโจทก์จะบังคับให้จำเลยยอมรับเอางานที่เสร็จบางส่วนงวดที่ 19 และ 20 อันเป็นการงานที่โจทก์ทำให้แล้วใช้เงินค่าจ้างให้ตามส่วนของงานนั้น ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 391 วรรคสาม ไม่ได้
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7333/2558  โจทก์กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ทำหนังสือสัญญาประกันความเสียหายข้อ 2 ระบุว่า "ลูกจ้างให้สัญญาว่าจะทำงานให้แก่นายจ้างอย่างน้อยเป็นเวลา 1 ปี โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2552 เป็นต้นไป หากทำงานไม่ครบเวลา 1 ปี ฝ่ายลูกจ้างยินดีให้นายจ้างยึดเงินประกันความเสียหายตามข้อ 1" จำเลยที่ 2 ลาออกจากงานเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 การทำสัญญาดังกล่าวที่มีข้อตกลงให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างทำงานอย่างน้อย 1 ปี หากผิดสัญญายินยอมให้ยึดเงินประกันถือเป็นเรื่องผิดสัญญาจ้าง มิใช่เป็นเรื่องการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 เมื่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันหรือทำสัญญาประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ความเสียหายที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทำ เมื่อนายจ้างเลิกจ้างหรือลูกจ้างลาออกหรือสัญญาประกันสิ้นอายุ ให้นายจ้างคืนหลักประกันพร้อมดอกเบี้ย ถ้ามี ให้แก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้างหรือวันที่ลูกจ้างลาออกหรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุ แล้วแต่กรณี ดังนี้ ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่ว่า หากจำเลยที่ 2 ทำงานไม่ครบ 1 ปี ยินดีให้โจทก์ยึดเงินประกัน จึงเป็นข้อตกลงที่แตกต่างกับบทบัญญัติข้างต้นซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 151 โจทก์จึงต้องคืนเงินประกันจำนวน 5,000 บาท ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5440/2561  การที่โจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยทั้งสอง แต่ได้เงินไม่ครบตามที่จดทะเบียนจำนองไว้ ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทเป็นของตนแล้ว วันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 2 ก็ทำสัญญาให้โจทก์ไถ่คืนที่ดินพิพาทได้ นอกจากนี้โจทก์ยังเป็นผู้เก็บค่าเช่าในที่ดินพิพาทมาโดยตลอด แสดงว่าการที่โจทก์โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเพียงการแสดงเจตนาลวง โดยไม่มีเจตนาผูกพันกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง สัญญาโอนที่ดินพิพาทตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจและสำเนาบันทึกถ้อยคำข้อตกลงเรื่องโอนชำระหนี้จำนอง จึงเป็นการอำพรางสัญญาซึ่งมีข้อตกลงว่าให้ไถ่คืนที่ดินพิพาทได้อันเป็นสัญญาขายฝาก เมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎหมายจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 152 การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทเป็นของตนเองและจำเลยที่ 2 ทำสัญญาขายฝากต่างมีมูลหนี้มาจากการกู้ยืมที่จำเลยทั้งสองให้โจทก์กู้ การทำสัญญาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นไปในฐานะส่วนตัวและในฐานะตัวแทนของจำเลยอีกคนหนึ่งด้วย เมื่อสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวต่างเป็นโมฆะ กรณีจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ เมื่อโจทก์ชำระเงินให้จำเลยที่ 1 จนครบจำนวนที่โจทก์ยืมจากจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคืนโจทก์
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4049/2555  ตามสัญญาให้สิทธิดำเนินกิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง โจทก์เพียงตกลงให้สิทธิแก่จำเลยที่ 1 ในการเข้าดำเนินกิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงของโจทก์ภายใต้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าคำว่า ของโจทก์เท่านั้น ผลิตภัณฑ์ปิโตเลียมที่จำเลยที่ 1 ต้องซื้อจากโจทก์มาจำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงตามข้อสัญญาดังกล่าวก็เป็นสินค้าของโจทก์เอง แม้จะมีการใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า ก็เป็นการใช้เครื่องหมายการค้านั้นโดยโจทก์เองแล้วโจทก์ขายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า ให้จำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 1 นำไปจำหน่ายให้แก่ลูกค้าต่อไปเท่านั้น มิใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 จัดหาผลิตภัณฑ์หรือสินค้ามาเองแล้วจำเลยที่ 1 นำเครื่องหมายการค้าคำว่า ของโจทก์มาใช้กับสินค้าของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์อนุญาตอันจะถือเป็นกรณีที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า ของโจทก์กับสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิงของจำเลยที่ 1 สัญญาให้สิทธิดำเนินการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วอันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียนดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 68 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งเป็นแบบนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 152 ดังนั้น แม้หนังสือสัญญาให้สิทธิดำเนินกิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นจะไม่ได้จดทะเบียนต่อนายทะเบียน สัญญาดังกล่าวก็หาตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 152 ไม่ 
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8308/2561  ว. เป็นมารดาของผู้คัดค้านทั้งสามย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของบุตรผู้เยาว์ ซึ่งทรัพย์สินหมายความรวมถึงสิทธิเรียกร้องอันเป็นวัตถุไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ บทบัญญัติมาตรา 1574 มีเจตนารมณ์คุ้มครองประโยชน์ของบุตรผู้เยาว์โดยให้ศาลกำกับดูแล การฝ่าฝืนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลก่อนก็ไม่ได้ตัดอำนาจทำนิติกรรมแทนของผู้ใช้อำนาจปกครอง ไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ทำให้นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะหรือโมฆียะกรรม คงมีผลเพียงไม่ผูกพันบุตรผู้เยาว์ที่กฎหมายมุ่งคุ้มครอง ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่มีสิทธิกล่าวอ้างเพื่อตัดอำนาจของผู้ใช้อำนาจปกครอง

----------------------------------