ลักษณะ 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
-------------------------
มาตรา 4 กฎหมายนั้น ต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใด ๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้น ๆ
เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป
มาตรา 5 ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต
มาตรา 5 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต
มาตรา 7[1] ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี
อัตราตามวรรคหนึ่งอาจปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยปกติให้กระทรวงการคลังพิจารณาทบทวนทุกสามปีให้ใกล้เคียงกับอัตราเฉลี่ยระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์
มาตรา 8 คำว่า “เหตุสุดวิสัย” หมายความว่า เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น
มาตรา 9 เมื่อมีกิจการอันใดซึ่งกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือ บุคคลผู้จะต้องทำหนังสือไม่จำเป็นต้องเขียนเอง แต่หนังสือนั้นต้องลงลายมือชื่อของบุคคลนั้น
ลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได ตราประทับ หรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้นที่ทำลงในเอกสารแทนการลงลายมือชื่อ หากมีพยานลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วยสองคนแล้วให้ถือเสมอกับลงลายมือชื่อ
ความในวรรคสองไม่ใช้บังคับแก่การลงลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได ตราประทับ หรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้น ซึ่งทำลงในเอกสารที่ทำต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่
มาตรา 10 เมื่อความข้อใดข้อหนึ่งในเอกสารอาจตีความได้สองนัย นัยไหนจะทำให้เป็นผลบังคับได้ ให้ถือเอาตามนัยนั้นดีกว่าที่จะถือเอานัยที่ไร้ผล
มาตรา 11 ในกรณีที่มีข้อสงสัย ให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น
มาตรา 12 ในกรณีที่จำนวนเงินหรือปริมาณในเอกสารแสดงไว้ทั้งตัวอักษรและตัวเลข ถ้าตัวอักษรกับตัวเลขไม่ตรงกัน และมิอาจหยั่งทราบเจตนาอันแท้จริงได้ ให้ถือเอาจำนวนเงินหรือปริมาณที่เป็นตัวอักษรเป็นประมาณ
มาตรา 13 ถ้าจำนวนเงินหรือปริมาณในเอกสารแสดงไว้เป็นตัวอักษรหลายแห่ง หรือเป็นตัวเลขหลายแห่ง แต่ที่แสดงไว้หลายแห่งนั้นไม่ตรงกัน และมิอาจหยั่งทราบเจตนาอันแท้จริงได้ ให้ถือเอาจำนวนเงินหรือปริมาณน้อยที่สุดเป็นประมาณ
มาตรา ๑๔ ในกรณีที่เอกสารทำขึ้นไว้หลายภาษา ไม่ว่าจะเป็นฉบับเดียวกันหรือหลายฉบับก็ตามโดยมีภาษาไทยด้วย ถ้าข้อความในหลายภาษานั้นแตกต่างกัน และมิอาจหยั่งทราบเจตนาของคู่กรณีได้ว่าจะใช้ภาษาใดบังคับ ให้ถือตามภาษาไทย
------------------------------------------------
[1] มาตรา 7 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564
รวมคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง
มาตรา 4 การอุดช่องว่างของกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2157/2561 ข้อเท็จจริงได้ความว่า เงินในบัญชีเป็นเงินบริจาคที่ได้มาจากการทำศพของผู้ตาย จึงต้องพิจารณาว่า โจทก์เป็นผู้มีอำนาจจัดการศพของผู้ตายหรือไม่ ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์จำเลยว่า ผู้ตายไม่ได้ตั้งผู้จัดการมรดกและไม่ได้ตั้งผู้จัดการศพ ทายาทไม่ได้มอบหมายตั้งให้ผู้ใดเป็นผู้จัดการศพ อีกทั้งไม่มีผู้ได้รับทรัพย์มรดกด้วย เพราะผู้ตายไม่มีทรัพย์มรดก จึงเป็นกรณีที่ไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ต้องวินิจฉัยโดยเทียบบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง โดยนำ ป.พ.พ. มาตรา 1649 มาปรับใช้ว่า ผู้ที่มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายเป็นผู้มีหน้าที่จัดการศพ เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ตาย มีทายาท คงมีแต่โจทก์ซึ่งเป็นวัดที่ผู้ตายมีภูมิลำเนาขณะถึงแก่มรณภาพเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ป.พ.พ. มาตรา 1623 จึงถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิรับมรดกโดยสิทธิโดยธรรมตามนัยมาตรา 1649 โจทก์จึงเป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่จัดการทำศพผู้ตาย มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยจัดการมอบเงินในบัญชีให้โจทก์เพื่อนำไปใช้ในการจัดการทำศพผู้ตายต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7830/2560 กรรมการบริษัทเดินทางออกจากประเทศและไม่สามารถติดต่อได้เนื่องจากเป็นผู้ต้องหาหลบหนีคดี แม้ไม่ใช่กรณีผู้แทนนิติบุคคลว่างลงซึ่งผู้ร้องอาจขอให้แต่งตั้งผู้แทนนิติบุคคลชั่วคราวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 73 แต่เมื่อไม่มีกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ทั้งไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น จึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาวินิจฉัยคดี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง และเห็นได้ว่า ป.พ.พ. มาตรา 73 เป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง เพราะการที่กรรมการบริษัทไม่อยู่ทำหน้าที่ผู้แทนนิติบุคคลอาจมีผลเช่นเดียวกับตำแหน่งผู้แทนของนิติบุคคลว่างลง และการที่กรรมการดังกล่าวไม่อยู่อาจมีเหตุอันควรเชื่อว่าน่าจะเกิดความเสียหายขึ้นได้
การที่ผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัทซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียขอให้ศาลแต่งตั้งผู้แทนนิติบุคคลชั่วคราว จะต้องได้ความว่าหากไม่แต่งตั้งผู้แทนนิติบุคคลชั่วคราวในขณะที่กรรมการบริษัทไม่อยู่จะเกิดความเสียหายขึ้นได้ และผู้ที่จะให้แต่งตั้งเป็นผู้แทนนิติบุคคลชั่วคราวเป็นผู้เหมาะสมที่จะทำหน้าที่ผู้แทนนิติบุคคลนั้นด้วย
มาตรา 5 การใช้สิทธิไม่สุจริต
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8727/2561 โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 มีเจตนาเช่าที่ดินพิพาทกันตามสัญญาเช่าที่ดินฉบับที่ระบุค่าเช่าเดือนละ 1,800,000 บาท มิได้มีเจตนาที่จะผูกพันกันตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดินฉบับที่ระบุค่าเช่าเดือนละ 120,000 บาท ที่ได้นำไปจดทะเบียนต่อสำนักงานที่ดิน ซึ่งทำขึ้นโดยมีเจตนาลวงโดยสมรู้กันระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 เพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมที่ต้องชำระย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง จึงต้องผูกพันกันตามหนังสือสัญญาเช่าฉบับค่าเช่าเดือนละ 1,800,000 บาท ซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาเช่า ระบุค่าเช่าต่ำกว่าความเป็นจริงและนำไปจดทะเบียนเพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการเช่าและภาษีอากร ถือว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจโดยไม่สุจริตด้วยกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ โจทก์ทั้งสองไม่อาจยกเอาความไม่สุจริตดังกล่าวขึ้นมาเรียกร้องค่าเช่าที่ดินและขับไล่จำเลยที่ 1 ออกจากที่ดินพิพาท โดยอาศัยหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน ที่ระบุค่าเช่าที่ดินเดือนละ 1,800,000 บาท ซึ่งเป็นนิติกรรมที่ได้อำพรางไว้ได้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม)
มาตรา 6 ข้อสันนิษฐานว่าบุคคลกระทำการโดยสุจริต
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12356/2558 โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจาก จ. และ ม. และจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์แล้ว ผู้ร้องซึ่งอ้างว่าได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทมาก่อนที่โจทก์จะซื้อที่ดินพิพาท เพื่อแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา (3) ผู้ร้องจึงต้องแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องมีสิทธิดีกว่าโจทก์อย่างไร ทั้งตามคำร้องเป็นการกล่าวอ้างว่าผู้ร้องได้สิทธิมาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมและยังมิได้จดทะเบียน กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ที่ห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว เมื่อผู้ร้องมิได้ตั้งประเด็นในคำร้องว่า โจทก์มิใช่บุคคลภายนอกและซื้อที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริต คดีจึงไม่มีประเด็นที่ผู้ร้องจะนำสืบว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริต จึงต้องฟังว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจาก จ. และ ม. โดยสุจริตตามข้อสันนิษฐานของ ป.พ.พ. มาตรา 6 นอกจากนี้ ผู้ร้องยังมิได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามคำร้องว่า ผู้ร้องครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์แล้วก่อนโจทก์จะจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทก็ตาม แต่เมื่อผู้ร้องมิได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ร้องจึงยกเอาสิทธิที่ได้มาอยู่ก่อนและยังมิได้จดทะเบียนขึ้นใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้ตามบทมาตราดังกล่าว และเมื่อตามคำร้องของผู้ร้องไม่สามารถแสดงอำนาจพิเศษให้ศาลเห็นได้ว่าผู้ร้องมีสิทธิดีกว่าโจทก์ที่อยู่ในที่ดินพิพาทได้จึงต้องถือว่าผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลย ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจสั่งยกคำร้องโดยไม่จำต้องทำการไต่สวน
มาตรา 7 เหตุสุดวิสัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10285/2557 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 8 คำว่า "เหตุสุดวิสัย" หมายความว่า เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น จากบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวเห็นได้ว่า เหตุที่จะถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยนั้นต้องเป็นเหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่ใช่ความผิดของบุคคลผู้นั้น และต้องเป็นเหตุที่ไม่สามารถป้องกันได้แม้บุคคลผู้ประสบเหตุนั้นจะได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว การที่ ธ. ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ซื้อทรัพย์ให้นำเงิน 550,000 บาท ไปชำระต่อกรมบังคับคดีแล้วกลับยักยอกเงินไปเป็นของตนเองโดยทุจริต ผู้ซื้อทรัพย์คงไม่อาจทราบได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ถือได้ว่าเหตุดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัย เมื่อเหตุแห่งการไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเวลาไม่ใช่ความผิดของผู้ซื้อทรัพย์ และเป็นเหตุที่ผู้ซื้อทรัพย์ไม่อาจคาดหมายได้ ผู้ซื้อทรัพย์จึงอ้างเหตุสุดวิสัยดังกล่าวเพื่อขอขยายระยะเวลาการวางเงินส่วนที่เหลือได้
-------------------------------------
0 ความคิดเห็น