ลักษณะ 3 ทรัพย์

--------------------
               มาตรา 137  ทรัพย์ หมายความว่า วัตถุมีรูปร่าง

               มาตรา 138  ทรัพย์สิน หมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้

               มาตรา 139  อสังหาริมทรัพย์ หมายความว่า ที่ดินและทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวรหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้น และหมายความรวมถึงทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดิน หรือทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้นด้วย

               มาตรา 140  สังหาริมทรัพย์ หมายความว่า ทรัพย์สินอื่นนอกจากอสังหาริมทรัพย์ และหมายความรวมถึงสิทธิอันเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นด้วย

               มาตรา 141  ทรัพย์แบ่งได้ หมายความว่า ทรัพย์อันอาจแยกออกจากกันเป็นส่วน ๆ ได้จริงถนัดชัดแจ้ง แต่ละส่วนได้รูปบริบูรณ์ลำพังตัว

               มาตรา 142  ทรัพย์แบ่งไม่ได้ หมายความว่า ทรัพย์อันจะแยกออกจากกันไม่ได้นอกจากเปลี่ยนแปลงภาวะของทรัพย์ และหมายความรวมถึงทรัพย์ที่มีกฎหมายบัญญัติว่าแบ่งไม่ได้ด้วย

               มาตรา 143  ทรัพย์นอกพาณิชย์ หมายความว่า ทรัพย์ที่ไม่สามารถถือเอาได้และทรัพย์ที่โอนแก่กันมิได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

               มาตรา 144  ส่วนควบของทรัพย์ หมายความว่า ส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้น และไม่อาจแยกจากกันได้นอกจากจะทำลาย ทำให้บุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป
               เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น

               มาตรา 145  ไม้ยืนต้นเป็นส่วนควบกับที่ดินที่ไม้นั้นขึ้นอยู่
               ไม้ล้มลุกหรือธัญชาติอันจะเก็บเกี่ยวรวงผลได้คราวหนึ่งหรือหลายคราวต่อปีไม่เป็นส่วนควบกับที่ดิน

               มาตรา 146  ทรัพย์ซึ่งติดกับที่ดินหรือติดกับโรงเรือนเพียงชั่วคราวไม่ถือว่าเป็นส่วนควบกับที่ดินหรือโรงเรือนนั้น ความข้อนี้ให้ใช้บังคับแก่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ซึ่งผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธินั้นปลูกสร้างไว้ในที่ดินนั้นด้วย

               มาตรา 147  อุปกรณ์ หมายความว่า สังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยปกตินิยมเฉพาะถิ่นหรือโดยเจตนาชัดแจ้งของเจ้าของทรัพย์ที่เป็นประธาน เป็นของใช้ประจำอยู่กับทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นอาจิณเพื่อประโยชน์แก่การจัดดูแล ใช้สอย หรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธาน และเจ้าของทรัพย์ได้นำมาสู่ทรัพย์ที่เป็นประธานโดยการนำมาติดต่อหรือปรับเข้าไว้ หรือทำโดยประการอื่นใดในฐานะเป็นของใช้ประกอบกับทรัพย์ที่เป็นประธานนั้น
               อุปกรณ์ที่แยกออกจากทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นการชั่วคราวก็ยังไม่ขาดจากการเป็นอุปกรณ์ของทรัพย์ที่เป็นประธานนั้น
               อุปกรณ์ย่อมตกติดไปกับทรัพย์ที่เป็นประธาน เว้นแต่จะมีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

               มาตรา 148  ดอกผลของทรัพย์ ได้แก่ ดอกผลธรรมดาและดอกผลนิตินัย
               ดอกผลธรรมดา หมายความว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของทรัพย์ ซึ่งได้มาจากตัวทรัพย์ โดยการมีหรือใช้ทรัพย์นั้นตามปกตินิยม และสามารถถือเอาได้เมื่อขาดจากทรัพย์นั้น
               ดอกผลนิตินัย หมายความว่า ทรัพย์หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้มาเป็นครั้งคราวแก่เจ้าของทรัพย์จากผู้อื่นเพื่อการที่ได้ใช้ทรัพย์นั้น และสามารถคำนวณและถือเอาได้เป็นรายวันหรือตามระยะเวลาที่กำหนดไว้

-------------------------

คำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4586/2551  ตามคำฟ้องของโจทก์ ข้อ 1 บรรยายสรุปได้ว่า มีคนร้ายเอาไปเสียซึ่งบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียหายที่ 1 แล้วนำไปทำปลอมโดยนำภาพถ่ายของบุคคลอื่นมาปิดทับภาพถ่ายผู้เสียหายที่ 1 ในบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าว จากนั้น คนร้ายได้นำบัตรประจำตัวประชาชนปลอมดังกล่าว ไปหลอกลวงผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 จนได้ซิมการ์ดและหมายเลขโทรศัพท์ของผู้เสียหายที่ 2 ไป และตามคำฟ้องโจทก์ ข้อ 2 บรรยายว่า ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้พร้อมด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง ซึ่งใช้กระทำผิดโดยใช้กับหมายเลขโทรศัพท์และซิมการ์ดของผู้เสียหายที่ 2 อยู่ในความครอบครองของจำเลยเป็นของกลาง ทั้งนี้โดยจำเลยรับเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง หมายเลขโทรศัพท์และซิมการ์ด ไว้จากคนร้ายโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดลักษณะลักทรัพย์และฉ้อโกง ตามคำฟ้องดังกล่าวเป็นที่เห็นได้ชัดเจน ทรัพย์แห่งการกระทำผิดฐานรับของโจรอันหนึ่งคือซิมการ์ด ของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นวัตถุมีรูปร่างอันเป็นทรัพย์ตามคำจำกัดความตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 137 ไม่ใช่สิทธิการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หรือการใช้คลื่นสัญญาณโทรศัพท์เพียงอย่างเดียว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานรับของโจรซิมการ์ด
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5161/2547  ข้อมูล ตามพจนานุกรมให้ความหมายว่า ข้อเท็จจริง หรือ สิ่งที่ถือหรือยอมรับว่าเป็นข้อเท็จจริง สำหรับใช้เป็นหลักอนุมานหาความจริงหรือการคำนวณ ส่วนข้อเท็จจริง หมายความว่า ข้อความแห่งเหตุการณ์ที่เป็นมาหรือที่เป็นอยู่จริง ข้อความหรือเหตุการณ์ที่จะต้องวินิจฉัยว่าเท็จหรือจริง ดังนั้นข้อมูลจึงไม่นับเป็นวัตถุมีรูปร่าง สำหรับตัวอักษร ภาพ แผนผัง และตราสารเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ถ่ายทอดความหมายของข้อมูลออกจากแผ่นบันทึกข้อมูล โดยอาศัยเครื่องคอมพิวเตอร์ มิใช่รูปร่างของข้อมูล เมื่อ ป.พ.พ. มาตรา 137 บัญญัติว่า ทรัพย์ หมายความว่า วัตถุมีรูปร่าง ข้อมูลในแผ่นบันทึกข้อมูลจึงไม่ถือเป็นทรัพย์ การที่จำเลยนำแผ่นบันทึกข้อมูลเปล่าลอกข้อมูลจากแผ่นบันทึกข้อมูลของโจทก์ร่วม จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3534/2560  แม้ผู้คัดค้านเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายและไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย มิให้เป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1718 แต่ผู้ตายทำพินัยกรรมมีข้อความส่วนที่เป็นสาระสำคัญว่า "ข้าพเจ้าขอยกทรัพย์สมบัติ อาคารบ้านเรือน ที่ดิน ที่มีชื่อข้าพเจ้าเป็นเจ้าของให้แก่ พ. และ น. ต่อเมื่อข้าพเจ้าได้สิ้นชีวิตไปแล้ว" ซึ่งคำว่า "ทรัพย์สมบัติ" นั้น ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้หมายความไว้ว่า หมายถึง ทรัพย์สินที่อยู่ในครอบครองอันอาจใช้สอยแจกจ่ายได้ คำว่า "ทรัพย์สิน" ตาม ป.พ.พ. มาตรา 138 หมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ตายเป็นเจ้าของโรงเรียนอนุบาลและโรงเรียนระดับชั้นประถม เป็นครูสอนภาษาไทยและภาษาอังกฤษในโรงเรียนที่ตนเองเป็นเจ้าของ ผู้ตายทำพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ คำว่า "ทรัพย์สมบัติ" เป็นคำธรรมดาที่ปุถุชนทั่วไปพอจะเข้าใจความหมายได้ว่าหมายถึงทรัพย์สิน การทำพินัยกรรม เห็นได้ว่าเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายยกทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ตาย ซึ่งรวมตลอดถึงอาคาร บ้านเรือน ที่ดิน ที่มีชื่อของผู้ตายเป็นเจ้าของให้แก่ผู้ร้องและ น. หากผู้ตายประสงค์จะยกทรัพย์สินให้ผู้คัดค้านหรือทายาทโดยธรรมอื่น ก็คงเขียนการยกทรัพย์สินอื่นนั้นไว้ในพินัยกรรมให้ชัดแจ้งแล้ว เพราะแม้แต่ ส. และ ว. ผู้ตายยังเขียนไว้ในพินัยกรรม ให้ผู้ร้องและ น. อุปการะ ส. และ ว. ตลอดชีวิตด้วย แต่เนื่องจาก ว. ถึงแก่ความตายไปแล้ว ผู้ตายจึงขีดฆ่าชื่อของ ว. ออก ทั้งการทำพินัยกรรมเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สิน พินัยกรรมจะมีผลต่อเมื่อผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตายทรัพย์สินที่ว่าจึงหมายถึงทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ในขณะถึงแก่ความตาย ไม่ใช่ทรัพย์สินที่มีอยู่ในวันทำพินัยกรรม เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าแม้อาจจะมีทรัพย์มรดกอื่นของผู้ตายที่ยังไม่พบ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดในพินัยกรรมคือ หากมีชื่อผู้ตายเป็นเจ้าของทางเอกสารให้ตกแก่ผู้ร้องและ น. แต่จากคำเบิกความของผู้ร้องและผู้คัดค้านและข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามสำนวนยังไม่มีปรากฏทรัพย์สินอื่นของผู้ตาย ผู้คัดค้านไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่ามีทรัพย์สินเช่นว่านั้นอีก ทรัพย์มรดกที่ปรากฏจึงตกเป็นของผู้ร้องและ น. เท่านั้น การตั้งผู้คัดค้านให้เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง ย่อมเกิดข้อขัดข้องในการจัดการทรัพย์มรดก จึงไม่สมควรตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 752 - 780/2554  สิทธิตามสัญญาเช่าเป็นทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 138 ดังนั้นสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดินตามสัญญาเช่าของจำเลยซึ่งเป็นสิทธิตามสัญญาเช่าอย่างหนึ่งจึงเป็นทรัพย์สินของจำเลย แม้จะยังไม่เป็นรายได้ของรัฐตาม พ.ร.บ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 39 แต่ก็เป็นรายได้อันเป็นทรัพย์สินของจำเลย จึงไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 747/2544  เช็คเป็นตราสารซึ่งผู้สั่งจ่ายสั่งธนาคารให้ใช้เงินเมื่อทวงถามให้แก่ผู้รับเงินจึงเป็นทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 138 และเป็นสิ่งที่มีค่าในตัวเอง เพราะสามารถเรียกเก็บเงินหรือโอนเปลี่ยนมือได้ จึงส่งมอบให้แก่กันเป็นมัดจำได้
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 584/2558  โจทก์ได้ปรับปรุงถมดินเต็มเนื้อที่ในที่ดินพิพาทเพื่อจะปลูกสร้างบ้านเป็นเวลาล่วงเลยมานานถึง 12 ปี ดินที่โจทก์นำมาถมย่อมเปลี่ยนแปลงสภาพเกลื่อนกลืนกับที่ดินพิพาทของจำเลยไปตามกาลเวลากลายเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินจำเลยซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ไปแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 139 แม้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนดินที่ถมหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนก็ตาม ก็ไม่อาจคืนดินที่ถมไปแล้วให้แก่โจทก์ได้ แต่การที่โจทก์ขอให้ใช้ราคาแทนดินที่ถม ถือได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายอย่างอื่นที่เสียไปอันทำให้ที่ดินของจำเลยมีราคาสูงขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 417 ที่บัญญัติให้โจทก์เรียกจากจำเลยได้ก็เพียงเท่าราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น เมื่อที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 1 ไร่ 38 ตารางวา และโจทก์ถมดินไป 3,000 คิว ประกอบกับสภาพสถานที่ตั้งของที่ดิน ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีแล้วเห็นควรกำหนดให้จำเลยใช้ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์เป็นเงิน 510,000 บาท
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20875/2556  ห้องแถวพิพาทที่ถูกยึดนำออกขายทอดตลาดเป็นทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวร จึงเป็นอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 139 แม้ที่ดินที่สิ่งปลูกสร้างดังกล่าวตั้งอยู่จะเป็นของกรมป่าไม้ ก็หาทำให้สิ่งปลูกสร้างนั้นกลับกลายเป็นสังหาริมทรัพย์ไม่ ส่วนที่ประกาศขายทอดตลาดระบุให้ผู้ซื้อทรัพย์รื้อหรือติดต่อเจ้าของที่ดินก็เป็นเรื่องที่ผู้ซื้อทรัพย์จะเลือกดำเนินการ หาเกี่ยวข้องกับจำเลยไม่ การออกคำบังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี ชอบแล้ว
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5400/2562  ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงเป็นการใช้ที่ดินพิพาทปลูกไม้ยืนต้นโดยไม่สุจริต การปลูกต้นไม้ลงในที่ดินซึ่งเป็นการกระทำโดยมิชอบนั้น แม้จะมีเจตนาตัดฟันขายเมื่อโตใหญ่ต่อมาก็ตาม ไม้ยืนต้นย่อมตกเป็นส่วนควบของที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง และไม้ยืนต้นที่เติบใหญ่และมีราคาเพิ่มขึ้นเรื่อยมาจึงเป็นของแผ่นดินเจ้าของที่ดินตามมาตรา 144 วรรคสอง ผู้คัดค้านทั้งสามไม่อาจอ้างกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของที่จะตัดฟันไม้ยืนต้นนั้นนำออกจากที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้ และเมื่อการกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (15) และผู้คัดค้านทั้งสามไม่ใช่เจ้าของที่แท้จริง ไม้ยืนต้นนั้นคงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐาน ชอบที่ศาลจะมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดิน
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 935/2562  แม้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 12 บัญญัติไว้ว่า "กรรมสิทธิ์ในห้องชุดจะแบ่งแยกไม่ได้" แต่มาตรา 13 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เจ้าของห้องชุดมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคลที่เป็นของตน และมีกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์ส่วนกลาง" และ พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดคำนิยามไว้ในมาตรา 4 "ทรัพย์ส่วนบุคคล" หมายความว่า ห้องชุด และหมายความรวมถึงสิ่งปลูกสร้างหรือที่ดินที่จัดไว้ให้เป็นของเจ้าของห้องชุดแต่ละราย "ห้องชุด" หมายความว่า ส่วนของอาคารชุดที่แยกการถือกรรมสิทธิ์ออกได้เป็นส่วนเฉพาะของแต่ละบุคคล จากบทนิยามดังกล่าวและบทบัญญัติในมาตรา 12, 13 หาได้มีการกล่าวถึงการเป็นส่วนควบของห้องชุดไว้แต่อย่างใด การที่ที่จอดรถซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนบุคคลจะเป็นส่วนควบของห้องชุดหรือไม่นั้น จึงต้องพิจารณาตาม ป.พ.พ. บรรพ 1 ว่าด้วยทรัพย์ ซึ่งมีบทบัญญัติส่วนควบในมาตรา 144 ว่า "ส่วนควบของทรัพย์หมายความว่า ส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้น และไม่อาจแยกจากกันได้ นอกจากจะทำลาย ทำให้บุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น" เมื่อพิจารณาสภาพของที่จอดรถของห้องชุดที่กำหนดไว้ในหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด ก็ระบุเพียงว่าเป็นรายการทรัพย์ส่วนบุคคลที่อยู่นอกห้องชุด ทั้งที่จอดรถสำหรับห้องชุดก็หาได้อยู่ติดกับห้องชุดไม่ โดยจะเป็นพื้นที่สำหรับจอดรถแยกไว้ต่างหากในบริเวณที่กำหนดให้เป็นที่จอดรถ ประกอบกับที่จอดรถนั้น แม้จะมีความสำคัญสำหรับผู้อยู่อาศัยในอาคารชุด ซึ่งต้องมีที่จอดรถสำหรับรถยนต์ของตนเอง แต่ที่จอดรถก็หาได้เป็นสิ่งที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีคู่กับห้องชุดทุกห้องไม่ โดยลักษณะของห้องชุดที่ซื้อขายกันทั่วไปนั้น อาจจะมีที่จอดรถรวมอยู่หรือไม่ก็ได้ และอาจจะซื้อที่จอดรถเพิ่มได้สำหรับบางอาคารชุด ดังนั้นที่จอดรถตามสภาพแห่งทรัพย์และจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นจึงไม่เป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของห้องชุด สามารถแยกออกจากกันได้ ที่จอดรถจึงเป็นเพียงทรัพย์ส่วนบุคคลของเจ้าของห้องชุด มิใช่ส่วนควบ
 
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1612/2562  วันที่ 1 กันยายน 2535 บริษัท ป. โอนกรรมสิทธิ์รั้วกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กรอบหมู่บ้าน พ. ให้โจทก์ทั้งสองเพื่อประโยชน์เกี่ยวกับการสาธารณสุข การคมนาคม การจราจร และความปลอดภัยของผู้ซื้อบ้านในโครงการ ต่อมาวันที่ 14 ตุลาคม 2535 บริษัท ป. แบ่งหักที่ดินโฉนดเลขที่ 3331 ออกเป็นทางสาธารณประโยชน์ แสดงว่าการโอนกรรมสิทธิ์รั้วกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กเกิดขึ้นก่อนการแบ่งหักที่ดินเป็นทางสาธารณประโยชน์ ดังนั้น ขณะบริษัท ป. แบ่งหักที่ดินเป็นทางสาธารณประโยชน์ บริษัทดังกล่าวไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รั้วกำแพงรอบหมู่บ้าน ซึ่งมีรั้วกำแพงพิพาทเป็นส่วนหนึ่งด้วยรั้วกำแพงรอบหมู่บ้านมิได้มีไว้เพื่อประโยชน์แก่การคมนาคมและการจราจรเท่านั้น แต่มีไว้เพื่อความปลอดภัยของผู้ซื้อบ้านในโครงการด้วยอันเป็นสาธารณูปโภคตามข้อ 1 ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น โดยผลของประกาศคณะปฏิวัติดังกล่าวตามข้อ 30 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 43 ทำให้รั้วกำแพงรอบหมู่บ้านรวมทั้งรั้วกำแพงพิพาทตกเป็นภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ผู้ซื้อบ้านในโครงการทั้งหมด ไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดินที่รั้วกำแพงตั้งอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 เมื่อบริษัท ป. ผู้โอนมีเจตนาแยกรั้วกำแพงพิพาทเป็นคนละส่วนกับที่ดินที่ตั้งรั้วกำแพงและรั้วกำแพงไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน ไม่ถือเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ตกติดไปกับที่ดิน รั้วกำแพงพิพาทจึงไม่เป็นส่วนหนึ่งของทางสาธารณประโยชน์ แต่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสอง ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจเทศบาลนนทบุรีก้าวล่วงกรรมสิทธิ์ส่วนเอกชนอนุญาตให้ผู้ใดพรากกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่น แม้จำเลยทั้งสามเป็นเจ้าของและผู้พักอาศัยที่ดินแปลงที่ 29 และ 30 ในโครงการมีสิทธิใช้รั้วกำแพงรอบหมู่บ้านอันเป็นภารยทรัพย์ แต่จำเลยทั้งสามไม่มีสิทธิทำการเปลี่ยนแปลงในภารยทรัพย์ซึ่งทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้น ยิ่งกว่านั้นที่ดินโฉนดเลขที่ 229966 และ 229967 ซึ่งจำเลยทั้งสามซื้อมาภายหลังและอยู่นอกโครงการจึงไม่เป็นสามยทรัพย์ที่จำเลยทั้งสามจะยกขึ้นอ้างสิทธิใด ๆ เหนือกำแพงรั้วพิพาทได้ การกระทำของจำเลยทั้งสามที่ทุบทำลายรั้วกำแพงพิพาทจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง 
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2401/2558  สายไฟฟ้ามิใช่ส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของอาคารโรงงานอันเป็นสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน ซึ่งจำเลยจำนองแก่ผู้ร้องและที่ผู้ร้องยึดไว้ในคดีที่ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลย ก่อนที่โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดในคดีนี้ ทั้งไม่อาจแยกจากกันได้นอกจากจะทำลาย ทำให้บุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป สายไฟฟ้าพิพาทจึงไม่เป็นส่วนควบของโรงงานของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 144 ทั้งมิใช่เป็นของใช้ประจำอยู่กับโรงงานดังกล่าวที่เป็นทรัพย์ประธานเป็นอาจิณเพื่อประโยชน์แก่การจัดดูแล ใช้สอย หรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธาน จึงไม่ต้องด้วยลักษณะเป็นอุปกรณ์ของโรงงานนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 147 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานำยึดสายไฟฟ้าพิพาทในคดีนี้ จึงไม่เป็นการยึดซ้ำอันจะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2731/2559  ค่าเช่าห้องพักเป็นดอกผลนิตินัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 148 วรรคสาม ในการยึดอสังหาริมทรัพย์นั้น ป.วิ.พ. มาตรา 304 วรรคสอง บัญญัติให้ครอบไปถึงเครื่องอุปกรณ์และดอกผลนิตินัยของอสังหาริมทรัพย์นั้นด้วย เว้นแต่จะได้มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นแล้ว การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ย่อมครอบไปถึงค่าเช่าอันเป็นดอกผลนิตินัยแห่งทรัพย์นั้นด้วย ไม่ว่าดอกผลนิตินัยนั้นจะมีอยู่ก่อนหรือขณะยึดอสังหาริมทรัพย์ และผู้นำยึดไม่จำต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบถึงความมีอยู่แห่งดอกผลนิตินัยแต่อย่างใด เมื่อโจทก์นำยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาแล้วโจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดค่าเช่าห้องพัก ซึ่งเป็นดอกผลนิตินัยของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกยึดได้ แม้จะพ้นระยะเวลา 10 ปีแล้วก็ตาม กรณีหาใช่เป็นการอายัดทรัพย์เพิ่มเติมเมื่อพ้นระยะเวลาในการบังคับคดีไม่ การบังคับคดีของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 988/2559  เงินปันผลเป็นเงินที่จ่ายจากกำไรของบริษัทให้แก่ผู้ถือหุ้นเป็นครั้งเป็นคราวตามส่วนจำนวนหุ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1200 และมาตรา 1201 เงินปันผลจึงเป็นดอกผลนิตินัยตามมาตรา 148 วรรคสาม เมื่อโจทก์ยึดหุ้นของบริษัท น. ภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาแล้ว การยึดหุ้นย่อมครอบไปถึงเงินปันผลอันเป็นดอกผลนิตินัยแห่งทรัพย์นั้นด้วย โจทก์จึงมีสิทธิอายัดเงินปันผลของหุ้นได้แม้จะพ้นระยะเวลา 10 ปีแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10361/2557  โจทก์ฟ้องขอหย่าขาดจากจำเลยที่ 1 และขอให้พิพากษาแบ่งสินสมรสแก่โจทก์กึ่งหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแบ่งสินสมรสที่ดินสวนยางพาราพิพาทเนื้อที่ 60 ไร่ และที่ดินสวนปาล์มน้ำมันพิพาทเนื้อที่ 15 ไร่ แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ระหว่างพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ภาค 8 โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ชั่วคราว และศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ทำบัญชีดอกผลรายได้จากผลผลิตในที่ดินพิพาทเป็นรายเดือน แล้วนำเงินรายได้จากผลผลิตที่จะได้รับจำนวนกึ่งหนึ่งของทั้งหมดมาวางศาลเป็นรายเดือน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 จนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น จึงเป็นคำสั่งเกี่ยวด้วยดอกผลของทรัพย์พิพาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 148 วรรคหนึ่ง ซึ่งในที่สุดหากโจทก์ชนะคดีโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับแบ่งดอกผลของทรัพย์ที่พิพาทดังกล่าวซึ่งเป็นสินสมรสได้ คำสั่งคุ้มครองประโยชน์ชั่วคราวจึงหาเกินกว่าคำขอในคำฟ้อง อันเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นไม่
 
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1932/2550  เบี้ยปรับคือสัญญาที่ลูกหนี้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร แต่ตามหนังสือสัญญากู้เงินมีใจความว่า ผู้กู้ยืมยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้เป็นรายเดือน ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยมีระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้ ส่วนระยะเวลาที่เหลือจำเลยทั้งสองยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราใหม่ตามประกาศธนาคารโจทก์ ซึ่งโจทก์อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ข้างต้น โดยโจทก์ไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบล่วงหน้า นอกจากนั้นจำเลยทั้งสองยังได้ทำบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงินมีใจความว่า จำเลยทั้งสองทำสัญญากู้เงินอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี โดยให้ถือบันทึกดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญากู้เงินด้วย จากข้อสัญญาดังกล่าวแสดงว่าในระยะเวลา 3 ปีแรก นับแต่วันที่ทำสัญญากู้ โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราคงที่ได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่านั้น จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นกว่านั้นไม่ได้จนกว่าจะล่วงพ้น 3 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญากู้เงินและเมื่อล่วงพ้นกำหนดเวลา 3 ปี โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ตามประกาศธนาคารโจทก์ซึ่งโจทก์อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ข้างต้น โดยโจทก์ไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบล่วงหน้า ซึ่งเมื่อพิจารณาบัญชีเงินกู้ จะเห็นว่า เมื่อล่วงพ้นกำหนดระยะเวลา 3 ปี โจทก์ทำการปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นอัตราร้อยละ 6.5 ต่อปี และ 6 ต่อปี ตามลำดับ โดยมิได้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ถือเป็นข้อปฏิบัติในลักษณะที่โจทก์ให้ประโยชน์แก่จำเลยทั้งสอง ดังนั้นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในระยะเริ่มแรกก็ดี และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 6.5 ต่อปี และ 6 ต่อปี หลังจากล่วงพ้น 3 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้เงินก็ดี ล้วนเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามข้อสัญญาทั้งสิ้น โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยทั้งสองตกเป็นผู้ผิดนัดหรือไม่ และเป็นดอกผลนิตินัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 148 วรรคสาม ต่อมาจำเลยทั้งสองได้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเวลา โจทก์จึงทำการปรับอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 6 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2547 เป็นต้นมา และแม้ตามหนังสือสัญญากู้เงินระบุว่า หากผู้กู้ผิดนัดยินยอมให้ผู้ให้กู้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นกว่าที่กำหนดได้ก็ตาม แต่ดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2547 เป็นต้นมาดังกล่าว โจทก์เรียกจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ซึ่งน้อยกว่าอัตราร้อยละ 19 ต่อปี อันเป็นอัตราตามข้อตกลงในสัญญากู้เงินและบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงิน ถือได้ว่าโจทก์มิได้คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามสัญญากู้เงินแต่อย่างใด อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 13.5 ต่อปี ดังกล่าวจึงมิใช่เบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลจะมีอำนาจลดลงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองตามบัญชีเงินกู้ จึงเป็นการถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว

---------------------------------

ลักษณะ 3 ทรัพย์