ส่วนที่ 2 ความสามารถ

---------------------------

               มาตรา 19  บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์

               มาตรา 20  ผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะเมื่อทำการสมรส หากการสมรสนั้นได้ทำตามบทบัญญัติมาตรา 1448

               มาตรา 21  ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน การใด ๆ ที่ผู้เยาว์ได้ทำลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

               มาตรา 22  ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น หากเป็นเพียงเพื่อจะได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่ง หรือเป็นการเพื่อให้หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง

               มาตรา 23  ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการต้องทำเองเฉพาะตัว

               มาตรา 24  ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการสมแก่ฐานานุรูปแห่งตน และเป็นการอันจำเป็นในการดำรงชีพตามสมควร

               มาตรา 25  ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่ออายุสิบห้าปีบริบูรณ์

               มาตรา 26  ถ้าผู้แทนโดยชอบธรรมอนุญาตให้ผู้เยาว์จำหน่ายทรัพย์สินเพื่อการอันใดอันหนึ่งอันได้ระบุไว้ ผู้เยาว์จะจำหน่ายทรัพย์สินนั้นเป็นประการใดภายในขอบของการที่ระบุไว้นั้นก็ทำได้ตามใจสมัคร อนึ่ง ถ้าได้รับอนุญาตให้จำหน่ายทรัพย์สินโดยมิได้ระบุว่าเพื่อการอันใด ผู้เยาว์ก็จำหน่ายได้ตามใจสมัคร

               มาตรา 27  ผู้แทนโดยชอบธรรมอาจให้ความยินยอมแก่ผู้เยาว์ในการประกอบธุรกิจทางการค้าหรือธุรกิจอื่น หรือในการทำสัญญาเป็นลูกจ้างในสัญญาจ้างแรงงานได้ ในกรณีที่ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่ให้ความยินยอมโดยไม่มีเหตุอันสมควร ผู้เยาว์อาจร้องขอต่อศาลให้สั่งอนุญาตได้
               ในความเกี่ยวพันกับการประกอบธุรกิจหรือการจ้างแรงงานตามวรรคหนึ่งให้ผู้เยาว์มีฐานะเสมือนดังบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว
               ถ้าการประกอบธุรกิจหรือการทำงานที่ได้รับความยินยอมหรือที่ได้รับอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ก่อให้เกิดความเสียหายถึงขนาดหรือเสื่อมเสียแก่ผู้เยาว์ ผู้แทนโดยชอบธรรมอาจบอกเลิกความยินยอมที่ได้ให้แก่ผู้เยาว์เสียได้ หรือในกรณีที่ศาลอนุญาต ผู้แทนโดยชอบธรรมอาจร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนการอนุญาตที่ได้ให้แก่ผู้เยาว์นั้นเสียได้
               ในกรณีที่ผู้แทนโดยชอบธรรมบอกเลิกความยินยอมโดยไม่มีเหตุอันสมควร ผู้เยาว์อาจร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนการบอกเลิกความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมได้
               การบอกเลิกความยินยอมโดยผู้แทนโดยชอบธรรมหรือการเพิกถอนการอนุญาตโดยศาล ย่อมทำให้ฐานะเสมือนดังบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วของผู้เยาว์สิ้นสุดลง แต่ไม่กระทบกระเทือนการใด ๆ ที่ผู้เยาว์ได้กระทำไปแล้วก่อนมีการบอกเลิกความยินยอมหรือเพิกถอนการอนุญาต

               มาตรา 28  บุคคลวิกลจริตผู้ใด ถ้าคู่สมรสก็ดี ผู้บุพการีกล่าวคือ บิดา มารดา ปู่ย่า ตายาย ทวดก็ดี ผู้สืบสันดานกล่าวคือ ลูก หลาน เหลน ลื่อก็ดี ผู้ปกครองหรือผู้พิทักษ์ก็ดี ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่ก็ดี หรือพนักงานอัยการก็ดี ร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลวิกลจริตผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถ ศาลจะสั่งให้บุคคลวิกลจริตผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถก็ได้
               บุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถตามวรรคหนึ่ง ต้องจัดให้อยู่ในความอนุบาล การแต่งตั้งผู้อนุบาล อำนาจหน้าที่ของผู้อนุบาล และการสิ้นสุดของความเป็นผู้อนุบาล ให้เป็นไปตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายนี้
               คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

               มาตรา 29  การใด ๆ อันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นเป็นโมฆียะ

               มาตรา 30  การใด ๆ อันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต

               มาตรา 31  ถ้าเหตุที่ทำให้เป็นคนไร้ความสามารถได้สิ้นสุดไปแล้ว และเมื่อบุคคลผู้นั้นเองหรือบุคคลใด ๆ ดังกล่าวมาในมาตรา 28 ร้องขอต่อศาลก็ให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งที่ให้เป็นคนไร้ความสามารถนั้น
               คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

               มาตรา 62  บุคคลใดมีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ หรือติดสุรายาเมา หรือมีเหตุอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น จนไม่สามารถจะจัดทำการงานโดยตนเองได้ หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว เมื่อบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา 28 ร้องขอต่อศาล ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้
               บุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถตามวรรคหนึ่ง ต้องจัดให้อยู่ในความพิทักษ์ การแต่งตั้งผู้พิทักษ์ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายนี้
               ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการสิ้นสุดของความเป็นผู้ปกครองในบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายนี้ มาใช้บังคับแก่การสิ้นสุดของการเป็นผู้พิทักษ์โดยอนุโลม
               คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

               มาตรา 33  ในคดีที่มีการร้องขอให้ศาลสั่งให้บุคคลใดเป็นคนไร้ความสามารถเพราะวิกลจริต ถ้าทางพิจารณาได้ความว่าบุคคลนั้นไม่วิกลจริต แต่มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อมีคำขอของคู่ความหรือของบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา 28 ศาลอาจสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ หรือในคดีที่มีการร้องขอให้ศาลสั่งให้บุคคลใดเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถเพราะมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ถ้าทางพิจารณาได้ความว่าบุคคลนั้นวิกลจริต เมื่อมีคำขอของคู่ความหรือของบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา 28 ศาลอาจสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนไร้ความสามารถก็ได้

               มาตรา 34  คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนแล้วจึงจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้
               (1) นำทรัพย์สินไปลงทุน
               (2) รับคืนทรัพย์สินที่ไปลงทุน ต้นเงินหรือทุนอย่างอื่น
               (3) กู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า
               (4) รับประกันโดยประการใด ๆ อันมีผลให้ตนต้องถูกบังคับชำระหนี้
               (5) เช่าหรือให้เช่าสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่าหกเดือน หรืออสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่าสามปี
               (6) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูป เพื่อการกุศล การสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
               (7) รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่รับการให้โดยเสน่หา
               (8) ทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจะได้มาหรือปล่อยไปซึ่งสิทธิในอสังหาริมทรัพย์หรือในสังหาริมทรัพย์อันมีค่า
               (9) ก่อสร้างหรือดัดแปลงโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือซ่อมแซมอย่างใหญ่
               (10) เสนอคดีต่อศาลหรือดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ เว้นแต่การร้องขอตามมาตรา 35 หรือการร้องขอถอนผู้พิทักษ์
               (11) ประนีประนอมยอมความหรือมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
               ถ้ามีกรณีอื่นใดนอกจากที่กล่าวในวรรคหนึ่ง ซึ่งคนเสมือนไร้ความสามารถอาจจัดการไปในทางเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว ในการสั่งให้บุคคลใดเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือเมื่อผู้พิทักษ์ร้องขอในภายหลัง ศาลมีอำนาจสั่งให้คนเสมือนไร้ความสามารถนั้นต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนจึงจะทำการนั้นได้
               ในกรณีที่คนเสมือนไร้ความสามารถไม่สามารถจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่กล่าวมาในวรรคหนึ่งหรือวรรคสองได้ด้วยตนเอง เพราะเหตุมีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ศาลจะสั่งให้ผู้พิทักษ์เป็นผู้มีอำนาจกระทำการนั้นแทนคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้นำบทบัญญัติที่เกี่ยวกับผู้อนุบาลมาใช้บังคับแก่ผู้พิทักษ์โดยอนุโลม
               คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
               การใดกระทำลงโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรานี้ การนั้นเป็นโมฆียะ

               มาตรา 35  ในกรณีที่ผู้พิทักษ์ไม่ยินยอมให้คนเสมือนไร้ความสามารถกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 34 โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เมื่อคนเสมือนไร้ความสามารถร้องขอ ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้กระทำการนั้นโดยไม่ต้องรับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก็ได้ ถ้าการนั้นจะเป็นคุณประโยชน์แก่คนเสมือนไร้ความสามารถ

               มาตรา 36  ถ้าเหตุที่ศาลได้สั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถได้สิ้นสุดไปแล้ว ให้นำบทบัญญัติมาตรา 31 มาใช้บังคับโดยอนุโลม


----------------------------

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6522/2558  จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันสองฉบับ เพื่อค้ำประกันหนี้ที่จำเลยที่ 1 มีต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ร. เจ้าหนี้เดิม เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2540 และ 19 กุมภาพันธ์ 2540 ตามลำดับ ในขณะที่จำเลยที่ 3 อายุยังไม่ครบยี่สิบปีบริบูรณ์ จึงยังไม่บรรลุนิติภาวะตาม ป.พ.พ. มาตรา 19 เพราะจำเลยที่ 3 เกิดวันที่ 11 มีนาคม 2520 การทำสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นการประกันโดยประการใด ๆ อันอาจมีผลให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ต้องถูกบังคับชำระหนี้หรือทำนิติกรรมอื่นที่มีผลให้ผู้เยาว์ต้องรับเป็นผู้รับชำระหนี้ของบุคคลอื่น (จำเลยที่ 1) หรือแทนบุคคลอื่น (จำเลยที่ 1) จึงเป็นการทำนิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ ซึ่งตามมาตรา 1574 (10) แห่ง ป.พ.พ. ได้บัญญัติว่า ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต เมื่อโจทก์ไม่ได้แสดงพยานหลักฐานให้เห็นว่าในขณะที่จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกัน ผู้ใช้อำนาจปกครองของจำเลยที่ 3 ได้รับอนุญาตจากศาลให้จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันได้ การทำสัญญาค้ำประกัน จึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าว ตกเป็นโมฆะและไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1790/2558  แม้ผู้ร้องและผู้เยาว์เป็นอิสลามศาสนิกซึ่งมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.2489 บัญญัติให้ใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกบังคับแทนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการนั้น แต่คดีนี้เป็นกรณีที่ผู้ร้องขออนุญาตศาลทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 การขออนุญาตศาลดังกล่าว เป็นการคุ้มครองผลประโยชน์หรือส่วนได้เสียของผู้เยาว์ อันเป็นการจำกัดสิทธิของผู้ใช้อำนาจปกครอง สภาพแห่งข้อหาจึงไม่ใช่เป็นเรื่องครอบครัวและมรดกโดยตรงที่ให้ใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกการบรรลุนิติภาวะของผู้เยาว์อันเป็นเรื่องความสามารถในการทำนิติกรรมได้ด้วยตนเอง จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 19 ที่บัญญัติว่า บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์ เมื่อผู้เยาว์อายุ 19 ปี จึงยังไม่พ้นจากภาวะผู้เยาว์ ดังนั้น ผู้ร้องจึงมีเหตุต้องขออนุญาตศาลทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 ที่ศาลชั้นต้นใช้หลักกฎหมายอิสลามว่า บุคคลบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุ 15 ปี บริบูรณ์ มายกคำร้องขอของผู้ร้องจึงไม่ชอบ

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1266/2544  เด็กหญิง อ. ผู้เสียหายอายุไม่เกินสิบห้าปีอาศัยอยู่กับมารดาจนปี 2537 ผู้เสียหายทะเลาะกับมารดาจึงออกจากบ้านไปทำงานที่ร้านอาหารข้างบ้าน จากนั้นผู้เสียหายมีสามีโดยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา แต่ก็มิได้ทำการสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้เสียหายจึงยังไม่บรรลุนิติภาวะตาม ป.พ.พ. มาตรา 20 และยังคงอยู่ใต้อำนาจปกครองของมารดา เมื่อจำเลยที่ 3 พาผู้เสียหายไปพบจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพื่อพาผู้เสียหายไปค้าประเวณี การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการพรากผู้เสียหายไปเสียจากมารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1783/2558  โจทก์เป็นผู้เยาว์ได้ทำนิติกรรมสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินของตนแก่จำเลยที่ 1 เป็นกรณีที่ผู้เยาว์กระทำนิติกรรมเอง ไม่ใช่ผู้ปกครองของจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำ จึงหาใช่กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 ไม่ แต่ต้องปรับตามมาตรา 21 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้เยาว์จะกระทำนิติกรรมใดต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน มิฉะนั้นนิติกรรมนั้นจะเป็นโมฆียะ เมื่อมีการบอกล้างก็ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง สัญญาจึงไม่ผูกพันโจทก์ กรณีมิใช่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโดยหลีกเลี่ยงกฎหมาย

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3184/2550  โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยฐานกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยมี ท. บิดาโจทก์เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทนในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม แต่โจทก์เป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้วในขณะฟ้อง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เยาว์ที่ต้องอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1566 วรรคหนึ่ง โจทก์ย่อมสามารถทำการใด ๆ ได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 21 แต่ขณะฟ้องโจทก์เป็นคนพิการทุพพลภาพ พูดและเดินไม่ได้ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เลย ท. ชอบที่จะไปดำเนินการร้องขอต่อศาลขอให้โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถและตั้งผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์แล้วแต่กรณีก่อน ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งศาลก็ต้องถือว่าโจทก์เป็นบุคคลที่มีความสามารถทำการใด ๆ ได้ด้วยตนเองตามกฎหมาย ซึ่งรวมทั้งการฟ้องและดำเนินคดีต่อศาล การที่ ท. ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความให้ฟ้องคดีแทนโจทก์ โดยยังไม่มีคำสั่งศาลจึงเป็นความบกพร่องในเรื่องความสามารถตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 จึงต้องทำการแก้ไขข้อบกพร่องเสียก่อน แต่ศาลชั้นต้นไม่ปฏิบัติกลับพิจารณาคดีต่อไปจนเสร็จ ศาลฎีกาให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสั่งให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถให้บริบูรณ์เสียก่อน

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3727/2561  โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถอยู่ในความอนุบาลของ ช. ผู้อนุบาลตามคำสั่งศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครราชสีมาและคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์ฟ้องคดีนี้ให้จำเลยทั้งสามรับผิดตาม ป.อ. มาตรา 83, 350 โดยทำหนังสือมอบอำนาจให้ ม. เป็นผู้ฟ้องคดีแทนในขณะที่โจทก์ยังเป็นคนไร้ความสามารถและอยู่ในความอนุบาลของ ช. เป็นการกระทำโดยโจทก์ไม่มีอำนาจ ต้องให้ ช. ผู้อนุบาลเป็นผู้กระทำการแทน กรณีหาใช่เป็นการบกพร่องในเรื่องความสามารถของโจทก์และจำต้องแก้ไขข้อบกพร่องนั้นเสียให้บริบูรณ์ภายในกำหนดเวลาอันสมควรตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ดังที่โจทก์อ้าง เพราะเป็นกรณีที่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องมาแต่ต้นแล้ว

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 516/2551  อำนาจฟ้องในคดีนี้เป็นของโจทก์ซึ่งเกิดจากการกระทำละเมิดของลูกจ้างในทางการที่จ้างหรือตัวแทนของจำเลย แต่เนื่องจากโจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัสกายพิการและสมองได้รับการกระทบกระเทือนจนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้จนถึงวันฟ้อง ว. ภริยาโจทก์จึงฟ้องคดีนี้แทนในนามของโจทก์ซึ่งก็ปรากฏตามคำฟ้องว่า ก่อนฟ้องคดีนี้ ว. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางขอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ และตั้ง ว. เป็นผู้พิทักษ์ แต่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางยังไม่ได้มีคำสั่ง และต่อมาหลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้วศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้มีคำสั่งว่า อาการของโจทก์ไม่ใช่เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ แต่เข้าลักษณะบุคคลวิกลจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 28 จึงมีคำสั่งว่า โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความอนุบาลของ ว. ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์เป็นคนวิกลจริตมาตั้งแต่ ว. ยื่นคำร้องขอดังกล่าว ดังนั้น ขณะฟ้องคดีนี้โจทก์จึงเป็นบุคคลวิกลจริตซึ่งถือว่าเป็นผู้ไร้ความสามารถตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 โจทก์จะเสนอข้อหาต่อศาลได้ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวโดยต้องมีผู้อนุบาลเป็นผู้ทำการแทน แต่ตอนยื่นฟ้องยังไม่มีคำสั่งศาลตั้ง ว. เป็นผู้อนุบาลโจทก์ ว. จึงไม่มีสิทธิทำการแทนเท่ากับโจทก์เสนอข้อหาเอง อันเป็นการบกพร่องในเรื่องความสามารถเท่านั้น มิใช่ไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อต่อมาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งตั้ง ว. เป็นผู้อนุบาลโจทก์ ว. จึงมีอำนาจที่จะทำการแทนโจทก์ในการเสนอข้อหาของโจทก์ได้ การบกพร่องในเรื่องความสามารถนี้แก้ไขให้บริบูรณ์ได้ตามมาตรา 56 เมื่อได้แก้ไขโดยร้องขอต่อศาลและศาลมีคำสั่งตั้งให้ ว. เป็นผู้อนุบาลมีอำนาจทำการแทนโจทก์แล้ว เหตุบกพร่องในเรื่องความสามารถก็หมดไป ทำให้การฟ้องคดีแทนโจทก์ที่บกพร่องมาแต่ต้นเป็นอันสมบูรณ์ด้วยการแก้ไขนี้แล้ว

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13652/2558  ผู้พิทักษ์มิใช่เป็นผู้แทนของคนเสมือนไร้ความสามารถ ดังเช่นในกรณีของคนไร้ความสามารถที่ต้องให้ผู้อนุบาลกระทำการแทน ซึ่งการเสนอคดีต่อศาลหรือดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ถือเป็นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่คนเสมือนไร้ความสามารถต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 34 (10) ดังนี้ แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถโดยมี อ. เป็นผู้พิทักษ์ตามกฎหมาย แต่เมื่อปรากฏว่า อ. เป็นผู้ลงชื่อแต่งทนายความ และทนายความลงชื่อในคำฟ้องในฐานะโจทก์และผู้เรียงพิมพ์ ทั้งโจทก์ก็ไม่ได้มาเบิกความต่อศาล โดย อ. เบิกความแทน จึงเท่ากับเป็นการที่ผู้พิทักษ์เป็นโจทก์ฟ้องคดีแทนคนเสมือนไร้ความสามารถโดยไม่ได้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทน ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์และบกพร่องในเรื่องความสามารถของผู้ที่จะมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ เมื่อโจทก์มิได้แก้ไขเพื่อให้คำฟ้องสมบูรณ์เสียแต่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นจนคดีล่วงเลยมาสู่ศาลฎีกาเช่นนี้แล้ว จึงต้องถือว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12634/2558  บุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถนั้น มีความสามารถที่จะทำนิติกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้ในมาตรา 34 วรรคหนึ่ง ได้เอง โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์แต่ประการใด โดยจัดว่าเป็นผู้หย่อนความสามารถเฉพาะการทำนิติกรรมต่าง ๆ ซึ่งระบุไว้เท่านั้นที่จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน จึงจะมีความสามารถทำได้ ส่วนมาตรา 34 วรรคสาม บัญญัติว่า "ในกรณีที่คนเสมือนไร้ความสามารถไม่สามารถจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่กล่าวมาในวรรคหนึ่งหรือวรรคสองได้ด้วยตนเอง เพราะเหตุมีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ศาลจะสั่งให้ผู้พิทักษ์เป็นผู้มีอำนาจกระทำการนั้นแทนคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ให้นำบทบัญญัติที่เกี่ยวกับผู้อนุบาลมาใช้บังคับแก่ผู้พิทักษ์โดยอนุโลม" ตามบทบัญญัติในวรรคสามนี้ หมายถึงกรณีที่คนเสมือนไร้ความสามารถไม่สามารถจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดใน (1) ถึง (11) หรือวรรคสองด้วยตนเอง เพราะเหตุมีกายพิการหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ดังนั้น เมื่อโจทก์เป็นบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถโดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้พิทักษ์ ได้ทำนิติกรรมการจำนองที่ดินพิพาทและการโอนที่ดินพิพาทชำระหนี้จำนองซึ่งเป็นนิติกรรมดังได้ระบุไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 34 (4) โดยได้รับความยินยอมของจำเลยที่ 1 ผู้พิทักษ์แล้ว จึงเป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 34 วรรคหนึ่งแล้ว นิติกรรมดังกล่าวย่อมมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

--------------------------