ส่วนที่ ๑ การออกและสลักหลังตั๋วแลกเงิน

-------------------------

               มาตรา ๙๐๘  อันว่าตั๋วแลกเงินนั้น คือหนังสือตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้สั่งจ่าย สั่งบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จ่าย ให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งแก่บุคคลคนหนึ่ง หรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลคนหนึ่งซึ่งเรียกว่าผู้รับเงิน

               มาตรา ๙๐๙  อันตั๋วแลกเงินนั้น ต้องมีรายการดังกล่าวต่อไปนี้ คือ
               (๑) คำบอกชื่อว่าเป็นตั๋วแลกเงิน
               (๒) คำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้จ่ายเงินเป็นจำนวนแน่นอน
               (๓) ชื่อ หรือยี่ห้อผู้จ่าย
               (๔) วันถึงกำหนดใช้เงิน
               (๕) สถานที่ใช้เงิน
               (๖) ชื่อ หรือยี่ห้อผู้รับเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ
               (๗) วันและสถานที่ออกตั๋วเงิน
               (๘) ลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย

               มาตรา ๙๑๐  ตราสารอันมีรายการขาดตกบกพร่องไปจากที่ท่านระบุบังคับไว้ในมาตราก่อนนี้ ย่อมไม่สมบูรณ์เป็นตั๋วแลกเงิน เว้นแต่ในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
               ตั๋วแลกเงินซึ่งไม่ระบุเวลาใช้เงิน ท่านให้ถือว่าพึงใช้เงินเมื่อได้เห็น
               ถ้าสถานที่ใช้เงินมิได้แถลงไว้ในตั๋วแลกเงิน ท่านให้ถือเอาภูมิลำเนาของผู้จ่ายเป็นสถานที่ใช้เงิน
               ถ้าตั๋วแลกเงินไม่แสดงให้ปรากฏสถานที่ออกตั๋ว ท่านให้ถือว่าตั๋วเงินนั้นได้ออก ณ ภูมิลำเนาของผู้สั่งจ่าย
               ถ้ามิได้ลงวันออกตั๋ว ท่านว่าผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคนใดทำการโดยสุจริตจะจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้

               มาตรา ๙๑๑  ผู้สั่งจ่ายจะเขียนข้อความกำหนดลงไว้ว่าจำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้นให้คิดดอกเบี้ยด้วยก็ได้ และในกรณีเช่นนั้น ถ้ามิได้กล่าวลงไว้เป็นอย่างอื่น ท่านว่าดอกเบี้ยย่อมคิดแต่วันที่ลงในตั๋วเงิน

               มาตรา ๙๑๒  อันตั๋วแลกเงินนั้นจะออกสั่งให้ใช้เงินตามคำสั่งของผู้สั่งจ่ายก็ได้
               อนึ่ง จะสั่งจ่ายเอาจากตัวผู้สั่งจ่ายเอง หรือสั่งจ่ายเพื่อบุคคลภายนอกก็ได้

               มาตรา ๙๑๓  อันวันถึงกำหนดของตั๋วแลกเงินนั้น ท่านว่าย่อมเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวต่อไปนี้ คือ
               (๑) ในวันใดวันหนึ่งที่กำหนดไว้ หรือ
               (๒) เมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้นับแต่วันที่ลงในตั๋วนั้น หรือ
               (๓) เมื่อทวงถาม หรือเมื่อได้เห็น หรือ
               (๔) เมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้นับแต่ได้เห็น

               มาตรา ๙๑๔  บุคคลผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังตั๋วแลกเงินย่อมเป็นอันสัญญาว่า เมื่อตั๋วนั้นได้นำยื่นโดยชอบแล้วจะมีผู้รับรองและใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋ว ถ้าและตั๋วแลกเงินนั้นเขาไม่เชื่อถือโดยไม่ยอมรับรองก็ดี หรือไม่ยอมจ่ายเงินก็ดี ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังก็จะใช้เงินแก่ผู้ทรง หรือแก่ผู้สลักหลังคนหลังซึ่งต้องถูกบังคับให้ใช้เงินตามตั๋วนั้น ถ้าหากว่าได้ทำถูกต้องตามวิธีการในข้อไม่รับรองหรือไม่จ่ายเงินนั้นแล้ว

               มาตรา ๙๑๕  ผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินและผู้สลักหลังคนใด ๆ ก็ดี จะจดข้อกำหนดซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้ลงไว้ชัดแจ้งในตั๋วนั้นก็ได้ คือ
               (๑) ข้อกำหนดลบล้างหรือจำกัดความรับผิดของตนเองต่อผู้ทรงตั๋วเงิน
               (๒) ข้อกำหนดยอมลดละให้แก่ผู้ทรงตั๋วเงินซึ่งหน้าที่ทั้งหลายอันผู้ทรงจะพึงต้องมีแก่ตนบางอย่างหรือทั้งหมด

               มาตรา ๙๑๖  บุคคลทั้งหลายผู้ถูกฟ้องในมูลตั๋วแลกเงินหาอาจจะต่อสู้ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้สั่งจ่ายหรือกับผู้ทรงคนก่อน ๆ นั้นได้ไม่ เว้นแต่การโอนจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล

               มาตรา ๙๑๗  อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่งก็ตาม ท่านว่าย่อมโอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ
               เมื่อผู้สั่งจ่ายเขียนลงในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินว่า “เปลี่ยนมือไม่ได้” ดังนี้ก็ดี หรือเขียนคำอื่นอันได้ความเป็นทำนองเช่นเดียวกันนั้นก็ดี ท่านว่าตั๋วเงินนั้นย่อมจะโอนให้กันได้แต่โดยรูปการและด้วยผลอย่างการโอนสามัญ
               อนึ่ง ตั๋วเงินจะสลักหลังให้แก่ผู้จ่ายก็ได้ ไม่ว่าผู้จ่ายจะได้รับรองตั๋วนั้นหรือไม่ หรือจะสลักหลังให้แก่ผู้สั่งจ่าย หรือให้แก่คู่สัญญาฝ่ายอื่นใดแห่งตั๋วเงินนั้นก็ได้ ส่วนบุคคลทั้งหลายเหล่านี้ก็ย่อมจะสลักหลังตั๋วเงินนั้นต่อไปอีกได้

               มาตรา ๙๑๘  ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ท่านว่าย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กัน

               มาตรา ๙๑๙  คำสลักหลังนั้นต้องเขียนลงในตั๋วแลกเงินหรือใบประจำต่อ และต้องลงลายมือชื่อผู้สลักหลัง
               การสลักหลังย่อมสมบูรณ์แม้ทั้งมิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ด้วย หรือแม้ผู้สลักหลังจะมิได้กระทำอะไรยิ่งไปกว่าลงลายมือชื่อของตนที่ด้านหลังตั๋วแลกเงินหรือที่ใบประจำต่อก็ย่อมฟังเป็นสมบูรณ์ดุจกัน การสลักหลังเช่นนี้ท่านเรียกว่า “สลักหลังลอย”

               มาตรา ๙๒๐  อันการสลักหลังย่อมโอนไปซึ่งบรรดาสิทธิอันเกิดแต่ตั๋วแลกเงิน
               ถ้าสลักหลังลอย ผู้ทรงจะปฏิบัติดังกล่าวต่อไปนี้ประการหนึ่งประการใดก็ได้ คือ
               (๑) กรอกความลงในที่ว่างด้วยเขียนชื่อของตนเองหรือชื่อบุคคลอื่นผู้ใดผู้หนึ่ง
               (๒) สลักหลังตั๋วเงินต่อไปอีกเป็นสลักหลังลอย หรือสลักหลังให้แก่บุคคลอื่นผู้ใดผู้หนึ่ง
               (๓) โอนตั๋วเงินนั้นให้ไปแก่บุคคลภายนอกโดยไม่กรอกความลงในที่ว่าง และไม่สลักหลังอย่างหนึ่งอย่างใด

               มาตรา ๙๒๑  การสลักหลังตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่าย

               มาตรา ๙๒๒  การสลักหลังนั้นต้องให้เป็นข้อความอันปราศจากเงื่อนไข ถ้าและวางเงื่อนไขบังคับลงไว้อย่างใด ท่านให้ถือเสมือนว่าข้อเงื่อนไขนั้นมิได้เขียนลงไว้เลย
               อนึ่ง การสลักหลังโอนแต่บางส่วน ท่านว่าเป็นโมฆะ

               มาตรา ๙๒๓  ผู้สลักหลังคนใดระบุข้อความห้ามสลักหลังสืบไปลงไว้แล้ว ผู้สลักหลังคนนั้นย่อมไม่ต้องรับผิดต่อบุคคลอันเขาสลักหลังตั๋วแลกเงินนั้นให้ไปในภายหลัง

               มาตรา ๙๒๔  ถ้าตั๋วแลกเงินสลักหลังต่อเมื่อสิ้นเวลาเพื่อคัดค้านการไม่รับรองหรือการไม่ใช้เงินนั้นแล้วไซร้ ท่านว่าผู้รับสลักหลังย่อมได้ไปซึ่งสิทธิแห่งการรับรองตามแต่มีต่อผู้จ่าย กับสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บรรดาผู้ซึ่งสลักหลังตั๋วเงินนั้นภายหลังที่สิ้นเวลาเช่นนั้น
               แต่ถ้าตั๋วเงินนั้นได้มีคัดค้านการไม่รับรองหรือการไม่ใช้เงินมาแต่ก่อนสลักหลังแล้วไซร้ ท่านว่าผู้รับสลักหลังย่อมได้ไปแต่เพียงสิทธิของผู้ซึ่งสลักหลังให้แก่ตนอันมีต่อผู้รับรองต่อผู้สั่งจ่าย และต่อบรรดาผู้ที่สลักหลังตั๋วเงินนั้นมาก่อนย้อนขึ้นไปจนถึงเวลาคัดค้านเท่านั้น

               มาตรา ๙๒๕  เมื่อใดความที่สลักหลังมีข้อกำหนดว่า “ราคาอยู่ที่เรียกเก็บ” ก็ดี “เพื่อเรียกเก็บ” ก็ดี “ในฐานจัดการแทน” ก็ดี หรือความสำนวนอื่นใดอันเป็นปริยายว่าตัวแทนไซร้ ท่านว่าผู้ทรงตั๋วแลกเงินจะใช้สิทธิทั้งปวงอันเกิดแต่ตั๋วนั้นก็ย่อมได้ทั้งสิ้น แต่ว่าจะสลักหลังได้เพียงในฐานเป็นตัวแทน
               ในกรณีเช่นนี้ คู่สัญญาทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดอาจจะต่อสู้ผู้ทรงได้แต่เพียงด้วยข้อต่อสู้อันจะพึงใช้ได้ต่อผู้สลักหลังเท่านั้น

               มาตรา ๙๒๖  เมื่อใดความที่สลักหลังมีข้อกำหนดว่า ”ราคาเป็นประกัน” ก็ดี “ราคาเป็นจำนำ” ก็ดี หรือข้อกำหนดอย่างอื่นใดอันเป็นปริยายว่าจำนำไซร้ ท่านว่าผู้ทรงตั๋วแลกเงินจะใช้สิทธิทั้งปวงอันเกิดแต่ตั๋วนั้นก็ย่อมได้ทั้งสิ้น แต่ถ้าผู้ทรงสลักหลังตั๋วนั้น ท่านว่าการสลักหลังย่อมใช้ได้เพียงในฐานเป็นคำสลักหลังของตัวแทน
               คู่สัญญาทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดหาอาจจะต่อสู้ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้สลักหลังนั้นได้ไม่ เว้นแต่การสลักหลังจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล
----------------------------------

ส่วนที่ ๑ การออกและสลักหลังตั๋วแลกเงิน