'วิรุตม์'ชี้พิรุธตร.ตั้งข้อหาออกหมายจับ'ลุงพล'สะท้อนความล้าหลังกระบวนการยุติธรรม
3 มิ.ย.64-พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจและเลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม(สป.ยธ.) กล่าวว่า คดีน้องชมพู่เสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำจนสุดท้ายนำไปสู่การออกหมายจับ 'ลุงพล' ผู้เป็นลุงเขยนี้ ถือเป็นคดีที่ท้าทายประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรมอาญาของไทยในชั้นสอบสวนอย่างยิ่ง
การตั้งข้อหาและการออกหมายจับลุงพลมีข้อสงสัยมากมายว่า ตำรวจใช้พยานหลักฐานอะไรไปรายงานต่อศาล ซึ่งก็ไม่เห็นตำรวจผู้ใหญ่คนใดออกมาชี้แจงให้ประชาชนหายสงสัยข้องใจแต่อย่างใด และถ้ามีหลักฐานชัดว่าลุงพลเข้าไปเกี่ยวข้องมีเจตนาทำให้น้องชมพู่ตาย ไม่ว่าจะโดยการอุ้มหรือเดินนำไปบนภูเขาแล้วทิ้งไว้ตามที่ตำรวจตั้งสมติฐานจริง เหตุใดจึงไม่มีข้อหา 'ฆ่าผู้อื่น' ด้วยนั่นแสดงว่า แท้จริงพยานหลักฐานไม่มีความชัดเจนเลย! จึงทำเพียงแจ้งข้อหา 'พรากเด็กไปจากผู้ปกครอง' เท่านั้น แต่ก็มีปัญหาว่าพรากด้วยวิธีใดและอย่างไร จนเป็นเหตุทำให้น้องถึงแก่ความตาย? ก็ไม่มีใครออกมาอธิบายหรือชี้แจงเช่นกัน?
"นอกจากนั้น หลังเกิดเหตุ ลุงพลก็ไม่ได้หนีไปไหน คงอยู่ที่บ้านพักกับภรรยาที่ "บ้านกกกอก" แทบจะตลอดเวลา ตำรวจจะออกหมายเรียกหรือแค่โทรศัพท์แจ้งให้ไปรับทราบข้อหาก็ยังทำได้ ไม่จำเป็นต้องไปเสนอศาลออก "หมายจับ" ทำให้เขาเกิดความเดือดร้อนเสียหาย นำตำรวจคอมมานโดจำนวนมากไปล้อมบ้านตอนเช้ามืดด้วย อีกทั้งเมื่อเขาไปติดต่อขอมอบตัวกับตำรวจไม่ว่าระดับใด ก็ไม่มีใคร "รับ" จ้องแต่จะ 'จับตามหมายใส่กุญแจมือ!' อย่างเดียว ถือเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดอย่างหนึ่งของโลก!การอ้างกันแต่ว่า เป็นความผิดที่มีโทษจำคุก 3 ปีขึ้นไป สามารถเสนอศาลออกหมายจับได้ทันที หากมีพฤติการณ์หลบหนี ไม่ต้องมีหมายเรียก 2 3 ครั้งนั้น ข้อเท็จจริง เขามีพฤติการณ์ดังกล่าวตามที่มีการรายงานหรือไม่ และถ้าหนี เขาจะไปขอพบ ผบ.ตร.ให้ถูกจับทำไม!?"
เลขาธิการสป.ยธ. กล่าวต่อว่า ในความเป็นจริง ตำรวจผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ต้องการให้ศาลออกหมายจับผู้ต้องหาคดีสำคัญๆ กันทั้งนั้น เพื่อจะได้นำมาถือไว้ และตามจับตัวกันที่ไหน เมื่อไหร่ แกล้งทำให้บุคคลนั้นเดือดร้อนเสียหายและเข็ดหลาบอย่างไรก็ได้! รวมทั้งเป็นการลดความเชื่อถือต่อสังคมและใช้เป็นเหตุในการ "คัดค้านการประกันตัว" เมื่อฝากถึงเวลาขังต่อศาล โดยอ้างว่ามีพฤติการณ์หลบหนี ต้องสืบจับมาตามหมายด้วยความยากลำบาก! 'ไม่ใช่การมารับทราบข้อหาตามหมายเรียก' หรือ 'การมอบตัว' ซึ่งจะทำให้ตำรวจไม่อำนาจควบคุมตัวบุคคลนั้นไว้ เมื่อสอบปากคำเสร็จแล้ว ก็ต้องปล่อยตัวไปทันที "
"และเมื่อเป็นการจับตามหมายและตำรวจค้านประกันโดยอ้างว่ามีพฤติการณ์หลบหนี ส่วนใหญ่ "ศาลไทย" ก็มักไม่อนุญาตตามที่ค้านนั้นด้วย ทำให้ผู้ต้องหาถูก "ขังล่วงหน้า" อย่างไม่เป็นธรรม! โดยที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาว่ากระทำความผิดเลยนอกจากนั้น ก็เป็นการลดทอนความสามารถในการต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนหรือการรวบรวมพยานหลักฐานติดต่อบุคคลต่างๆการออกหมายเรียกผู้ต้องหาหรือเสนอศาลออกหมายจับถือเป็น "ความล้าหลัง" ของกระบวนการยุติธรรมอาญาไทยอีกเรื่องที่ต้องได้รับการแก้ไขและปฏิรูปโดยเร็ว."พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวทิ้งท้าย
ที่มาข้อมูล
https://www.thaipost.net/main/detail/105160
0 ความคิดเห็น