การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 เป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งที่ 59 ซึ่งจัดให้มีการเลือกตั้งทุกสี่ปีโดยไม่มีข้อยกเว้นแม้แต่ประเทศจะอยู่ในสถานะสงครามก็ตาม โดยชาวอเมริกันผู้ออกเสียงเลือกตั้งจะเลือกคณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งจะเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 14 ธันวาคม 2563 โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดได้รับเสียงของคณะผู้เลือกตั้งขั้นต่ำ 270 เสียง จาก 538 เสียง ก็ชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดี

ย้ำนะครับ! ชาวอเมริกันผู้ออกเสียงเลือกตั้งจะเลือกคณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี ไม่ได้เลือกตั้งตัวประธานาธิบดีโดยตรง

เริ่มต้นนะครับ ต้องทำความเข้าใจชัดเจนเสียก่อนว่า สหรัฐอเมริกาเป็นรัฐรวม ไม่ใช่รัฐเดี่ยวเหมือนราชอาณาจักรไทย ดังนั้น ต้องอย่าพยายามนึกเอาประเทศไทยไปเทียบเคียงจะทำให้สับสนเพราะประเทศสหรัฐอเมริกาก็เปรียบเสมือนการมีประเทศ 50 ประเทศเข้ามารวมกันโดยความสมัครใจเป็นประเทศเดียว ดังนั้น มลรัฐทั้ง 50 มลรัฐของอเมริกานั้นก็มีวัฒนธรรม ระเบียบแบบแผน กฎหมาย ความเชื่อ วิธีคิด ฯลฯ ที่แตกต่างกัน นึกเอาง่ายๆ ก็เหมือนกับเอาประเทศในกลุ่มอาเซียนของเราที่มีสมาชิก 10 ประเทศ อันได้แก่ ไทย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, บรูไน, เวียดนาม, ลาว, เมียนมา และกัมพูชา มารวมกันเป็นสหรัฐเป็นประเทศเดียวกันนั่นแหละ จะแตกต่างกันขนาดไหน จากการที่เคยเป็นประเทศเอกราชกันมาก่อนย่อมมีวัตรปฏิบัติอะไรที่ไม่เหมือนกัน ดังกฎหมายเลือกตั้งของแต่ละมลรัฐของสหรัฐอเมริกานี่ไม่เหมือนกันนะครับ ยกตัวอย่างเช่นการนับบัตรลงคะแนนว่าเสียหรือใช้ไม่ได้นั้นก็ไม่เหมือนกันทุกมลรัฐ ต่างกับประเทศที่เป็นรัฐเดี่ยวเช่นประเทศไทยที่มีกฎหมายเลือกตั้งฉบับเดียวเหมือนกันทั่วประเทศ

การใช้ระบบคณะผู้เลือกตั้งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกานั้นมาจากความไม่ไว้วางใจในคุณภาพของประชาชนทั่วไปในการที่จะใช้วิจารณญาณในการเลือกตั้งผู้นำว่าจะขายเสียงเพื่อแลกกับเงินโดยไม่คำนึงถึงว่าผู้ที่ตนเลือกนั้นจะไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหรือไม่ พูดง่ายๆ ก็คือคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญอเมริกานั้นเขาไม่ไว้ใจคนธรรมดาสามัญในการให้ความรับผิดชอบในการเลือกคนไปบริหารบ้านเมืองนั่นแหละ ดังนั้น จึงให้คนธรรมดาสามัญนี่เลือกคนที่จะไปเลือกประธานาธิบดีอีกทีหนึ่ง

นัยว่าต้องใช้ตะแกรงร่อนเอาคนที่รู้จักคิด รู้จักใช้เหตุผล มีความรับผิดชอบไปทำหน้าที่เลือกผู้นำ (ประธานาธิบดี) ที่จะกำชะตาชีวิตของชาติเป็นเวลา 4 ปี ดูออกจะปลอดภัยกว่าให้ประชาชนตัดสินกันเอง

อีกอย่างหนึ่งคือ คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญของอเมริกานั้นรังเกียจพรรคการเมืองเนื่องจากพรรคการเมืองคือ “การเล่นพวกอย่างเปิดเผย” จึงไม่ได้ใส่เรื่องพรรคการเมืองลงในรัฐธรรมนูญเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดี ดังนั้น “ระบบการเลือกตั้งคณะผู้เลือกตั้ง” นั้นในการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2 ครั้งแรกจึงไม่มีพรรคการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อคณะผู้เลือกตั้งที่ได้รับเลือกตั้งในวันอังคารแรกของเดือนพฤศจิกายนแล้ว ก็จะเดินทางไปยังเมืองหลวงของมลรัฐของตนในวันจันทร์แรกของเดือนธันวาคมเพื่อทำการหย่อนบัตรลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีเสร็จแล้วก็หมดหน้าที่ กลับบ้านได้ ส่วนทางมลรัฐก็จะส่งผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีไปให้ประธานวุฒิสภาสหรัฐ ซึ่งประธานวุฒิสภาก็จะนำคะแนนเสียงของแต่ละมลรัฐไปนับกันอย่างเปิดเผยในที่ประชุมร่วมของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในต้นเดือนมกราคมแล้วก็ประกาศผลอย่างเป็นทางการว่าใครคือผู้ได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไป

ผู้ที่ได้คะแนนเสียงรวมทั่วประเทศมากกว่าคู่ต่อสู้ก็ไม่จำเป็นจะเป็นผู้ชนะได้เป็นประธานาธิบดีเสมอไปเนื่องจากระบบไม่ไว้ใจในความสามารถของการตัดสินของประชาชนโดยทั่วไป และการที่มลรัฐต่างๆ มีประชากรไม่เท่ากัน จำนวนของคณะผู้เลือกตั้งจึงไม่เท่ากันเช่นมลรัฐแคลิฟอร์เนียมีคณะผู้เลือกตั้งถึง 55 คน ส่วนมลรัฐมอนตานา มลรัฐไวโอมิง มลรัฐนอร์ท ดาโกตา และมลรัฐเซาท์ดาโกตาทั้ง 4 มลรัฐมีคณะผู้เลือกตั้งเพียง มลรัฐละ 3 คนหรือ 3 เสียงเท่านั้นเอง

การแพ้ชนะในการเลือกตั้งคณะผู้เลือกตั้งนี้ใช้เพียง “หนึ่งคะแนน” เท่านั้นเอง เช่นที่มลรัฐแคลิฟอร์เนียมีคนไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง 10 ล้านคน โดยแบ่งออกเป็นเลือกนายไบเดนห้าล้านหนึ่งคน ส่วนอีกสี่ล้านเก้าแสนเก้าหมื่นเก้าพันเก้าร้อยเก้าสิบเก้าคนเลือกนายทรัมป์ ผลก็คือนายไบเดนได้คะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งไปเลย 55 คะแนน โดยที่นายทรัมป์ไม่ได้เลยแม้แต่คะแนนเดียว

ชัดแล้วนะครับ! คราวนี้เมื่อเกิดมีพรรคการเมืองเพื่อแข่งขันกันขึ้นมาเมื่อมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ 3 ก็ไม่มีพรรคการเมืองใดจะยอมไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้ง-คณะผู้เลือกตั้ง ดังนั้น ทั้งพรรค เดโมแครต พรรครีพับลิกันหรือพรรคอิสระ ต่างก็ต้องส่งคนของพรรคไปเป็นคณะผู้เลือกตั้งทุกพรรคนั่นแหละ
คราวนี้ก็ถึงวิธีการเลือกตั้งคณะผู้เลือกตั้ง ทุกมลรัฐก็มีรูปแบบที่แตกต่างกันไป บางมลรัฐก็จะพิมพ์ชื่อผู้สมัครเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีไว้ที่หัวแถวตามด้วยชื่อของคณะผู้เลือกตั้ง บางมลรัฐก็จะพิมพ์ชื่อผู้สมัครเป็นคณะผู้เลือกตั้ง (ที่พรรคต่างๆ จัดมา) เท่านั้น บางมลรัฐก็กาบัตรเลือกตั้งทีเดียว บางมลรัฐก็กาบัตรหลายครั้ง ฯลฯ แล้วแต่ครับ ทำได้ตามใจ บ้านใครบ้านมัน มลรัฐของใครของมัน มันถึงสนุกยังไงละครับ !

ผู้เขียนออกจะแน่ใจว่าการที่คนไทยจำนวนมากสับสนเรื่องคณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีนั้นมาจากภาษาอังกฤษที่ว่า “Electoral College” ซึ่งศัพท์คำว่า “College” คนไทยเรามักแปลว่า “วิทยาลัย” คำเดียวเท่านั้นแต่ความจริงในภาษาอังกฤษยังมีอีกคำแปลหนึ่งคือ “a group of persons considered by law to be a unit” แปลเป็นไทยก็คือ “กลุ่มบุคคลที่รับรองโดยกฎหมายว่าเป็นคณะบุคคล”
ดังนั้น Electoral College ก็คือคณะผู้เลือกตั้งนั่นเอง

ขอขอบคุณที่มาบทความ
https://www.matichon.co.th/politics/news_2393135