คำสรรพนาม(Pronouns) แบ่งออกเป็นกี่กลุ่ม

สวัสดีครับนักศึกษาทุกคน หลังจากที่ผมได้ลงเกี่ยวกับคำนาม(Nouns) พอเข้าใจระดับเบื้องต้นแล้ว เราจะเข้าใจแล้วว่า คำนาม(Nouns) หมายถึง คำที่ใช้ระบุชื่อของ (คน สถานที่ สัตว์ สิ่งของ และแนวคิด) โดยคำนามนั้น ถ้าเราแบ่งตามรูปแบบ ก็จะมี 2 กลุ่มใหญ่ คือ คำนามที่จับต้องได้และคำนามที่จับต้องไม่ได้ แต่ถ้าแบ่งคำนามตามลักษณะการนับ ก็จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ คำนามที่นับได้และคำนามที่นับไม่ได้
เรื่องต่อมาที่จะพูดถึง ก็คือ คำสรรพนาม(Pronouns) ซึ่งจริง ๆ แล้ว คำสรรพนาม จัดอยู่ในกลุ่มย่อยของคำนามอีกทีหนึ่ง เพียงแต่ในตำราไวยากรณ์ของภาษาอังกฤษได้อธิบายแยกออกไปไว้อีกส่วน เพราะมีความสำคัญและมีรายละเอียดพอสมควร อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เราจะลงรายรายเอียดเกี่ยวกับคำสรรพนามนั้น เราต้องอ่านทำความเข้าใจเนื้อหาเกี่ยวกับคำนามให้ดีก่อนครับ เพราะมีเนื้อหาที่เกี่ยวเนื่องกันครับ

คำสรรพนาม(Pronoun)

นิยาม 
คำสรรพนาม(Pronoun) คือ คำที่ใช้แทนคำนาม(in place of nouns) ในประโยค ส่วนคำนามที่ถูกแทนที่ด้วยคำสรรพนามนั้น เราเรียกว่า Antecedent ของคำสรรพนาม
โดยทั่วไปแล้ว เหตุผลของการใช้คำสรรพนาม เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้คำนามที่ซ้ำกันหลายครั้ง ทำให้การพูดหรือการเขียนนั้นไม่เป็นธรรมชาติ
พิจารณาตัวอย่างประโยค
• “John said that John wants to use the computer that belongs to John.”
(จอห์น ได้กล่าวว่า จอห์นต้องการใช้คอมพิวเตอร์ที่เป็นของจอห์น)
จากประโยคดังกล่าว เราจะพบว่า มีการกล่าวถึง John ซ้ำกันหลายครั้ง ด้วยเหตุนี้เราจึงใช้คำสรรพนามแทนบุคคล(personal pronouns) เพื่อมาแทนชื่อของ John ซึ่งชื่อ John ที่กล่าวในตอนต้นเราเรียกว่า name of the antecedent (ชื่อที่กล่าวมาก่อน) และเปลี่ยนประโยคเป็นดังนี้ ครับ
• “John said that he wants to use the computer that belongs to him.”
(จอห์น ได้กล่าวว่า เขาต้องการใช้คอมพิวเตอร์ที่เป็นของเขา)
จากประโยคนี้ เราจะเห็นว่า การสร้างประโยคจะดูเรียบร้อยขึ้น นอกจากนั้น คำสรรพนาม จะบอกข้อมูลที่มีลักษณะเฉพาะมากขึ้น จากประโยคข้างต้น ทำให้เราทราบว่า John เป็นบุคคลที่ถูกกล่าวถึง หรือ เรียกว่าบุคคลที่สาม (third person)

ถ้าประโยคนั้น เป็นบุคคลที่หนึ่ง (first person) หรือหมายถึงตัวผู้พูดเอง ก็จะเป็น
• “I said that I want to use the computer that belongs to me.”
(ฉันได้กล่าวว่า ฉันต้องการใช้คอมพิวเตอร์ที่เป็นของฉัน)
จะเห็นได้ว่า เมื่อจะพูดว่าตัวเราทำอะไร เราจะใช้ I แทนชื่อของตัวของเราเองเสมอ ดังนั้น สรรพนาม I จึงเป็น antecedent ของชื่อเรานั่นเองครับ
และจากประโยคข้างต้น เราจะเห็นว่า คำสรรพนาม นั้น มีลักษณะเหมือนคำนามทุกประการ สามารถเป็นประธานของประโยค(Subject) ได้ สามารถเป็นกรรมของกริยา(Object)ได้ หรือสามารถเป็นส่วนเติมเต็มของประธาน (Subject Complement) ได้

ประเภทของคำสรรพนาม (Categories of Pronouns)

คำสรรพนามนั้น มีหลายกลุ่ม ที่ใช้ในการพูดและการเขียน โดยที่คำสรรพนามจะทำหน้าที่ไม่เหมือนกันในประโยค มีการใช้คำสรรพนามที่มีวัตถุประสงค์แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับบริบทของประโยค โดยจะได้กล่าวรายละเอียดเป็นลำดับต่อไป

สรรพนามเกี่ยวกับบุคคล (Personal Pronouns)
จากประโยคที่กล่าวมา เราจะเห็นว่าการใช้คำสรรพนาม โดยคำสรรพนามที่เกี่ยวกับบุคคลนั้น จะเปลี่ยนรูปไปตามความหมายในบริบทของประโยค ซึ่งในทางไวยากรณ์คำสรรพนามจะแทนได้หลายลักษณะ เช่น
แทนบคคล (Person) ได้แก่
บุคคลที่ 1 หรือ first  person
บุคคลที่ 2 หรือ second person
บุคคลที่ 3 หรือ third person
แทนจำนวน (Number) ได้แก่
จำนวนเอกพจน์ หรือ singular
จำนวนพหูพจน์ หรือ plural
แทนเพศ (gender) ได้แก่
เพศชาย หรือ masculine
เพศหญิง หรือ feminine
เพศกลาง หรือ neuter
แทนการทำหน้าที่ของคำในประโยค (case) ได้แก่
ทำหน้าที่เป็นประธาน หรือ subjective
ทำหน้าที่เป็นกรรม หรือ objective
ทำหน้าที่แสดงความเป็นเจ้าของ หรือ possessive
สำหรับเรื่องนี้ ผมจะลงรายละเอียดเป็นเนื่อหาอีกส่วนถัดไป

สรรพนามเกี่ยวกับการสะท้อนถึงการกระทำด้วยตัวเอง (Reflexive Pronouns)
Reflexive Pronouns มีลักษณะเหมือนกับสรรพนามแทนบุคคล แต่เราจะใช้ Reflexive Pronouns เมื่อ ประธานเป็นกรรมของกริยาเสียเอง ซึ่ง Reflexive Pronouns จะเกิดขึ้นเมื่อมีการใช้กริยาที่ประธานสามารถเป็นกรรมได้ หรือที่เรียกว่า reflexive verbs โดยการเติม -self หรือ -selves ตามหลัง my, your, our, him, her, it หรือ them
พิจารณาตัวอย่างประโยค
• “I saw myself in the mirror.”
(ฉันได้เห็นตัวของฉันเองในกระจก)
จะเป็นได้ว่า คำว่า myself เป็นกรรมของกริยา saw และหมายถึง ประธาน
• “She imagined herself on a tropical beach.”
(หล่อนได้จินตนาการถึงตัวหล่อนเองในชายหาดเขตร้อน)
• “They consider themselves to be above the law.”
(พวกเขาคิดว่า ตัวพวกเขาเองจะอยู่เหนือกฎหมาย)
• “One should not concern oneself with the business of others.”
(เราไม่ควรนำตัวเราเองไปยุ่งกับเรื่องของคนอื่น)

สรรพนามที่เกี่ยวกับการเน้นย้ำการกระทำของตัวเอง (Intensive Pronouns)
Intensive Pronouns มีรูปเหมือนกับ Reflexive Pronouns แต่ต่างกันที่ Intensive Pronouns ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นกรรมของกริยา แต่ Intensive Pronouns ทำหน้าที่เน้นย้ำหรือกล่าวซ้ำการกระทำของประธาน
พิจารณาตัวอย่างประโยค
• “I checked over these documents myself.”
(ฉันได้ตรวจเอกสารเหล่านี้ด้วยตัวของฉันเอง)
ในกรณีนี้ myself เป็นคำที่เน้นย้ำว่าประธานเป็นผู้กระทำเอง
• “The president himself will be in attendance.”
(ประธานาธิบดีจะเข้าร่วมด้วยตัวของท่านเอง)
กรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน himself เป็นการกล่าวซ้ำถึงประธาน

สรรพนามที่แสดงถึงการไม่ชี้เฉพาะ (Indefinite Pronouns)
สรรพนามไม่ชี้เฉพาะ ใช้แทนคำนามที่ไม่ระบุเฉพาะ ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้แทน คน สิ่งของ  หรือจะใช้แทนคำนามที่อยู่ในรูปเอกพจน์หรือรูปพหูพจน์
พิจารณาตัวอย่างประโยค
• “Is everyone here?” (ทุกคนอยู่ที่นี่ไหม)
• “I hope all is going well.” (ฉันหวังว่าทั้งหมดจะดี)
• “Whatever you decide is fine with me.” (สิ่งใดก็ตามที่คุณตัดสินใจเป็นสิ่งที่ดีกับฉัน)
• “Many are coming to the show tonight.” (หลาย ๆ(คน) จะมาดูการแสดงในคืนนี้)

สรรพนามที่แสดงถึงการชี้เฉพาะ (Demonstrative Pronouns)
เป็นคำสรรพนามที่ใช้ระบุว่า คน สิ่งของ นั้นอยู่ใกล้หรือไม่ใกล้กับผู้พูด โดยปกติคำสรรพนามกลุ่มนี้ได้แก่ this, that, these, และ those
พิจารณาตัวอย่างประโยค
• “This isn’t mine.” (แทนเอกพจน์ อยู่ใกล้ผู้พูด)
(นี้ไม่ใช่ของฉัน)
• “Give me that.” (แทนเอกพจน์ ไม่อยู่ใกล้ผู้พูด)
(ให้อันนั้นแก่ฉันหน่อย)
• “These are really gross.” (แทนพหูพจน์ อยู่ใกล้ผู้พูด)
(เหล่านี้คือยอดรวมจริง ๆ)
• “I forgot to bring those.” (แทนพหูพจน์ ไม่อยู่ใกล้ผู้พูด)
(ฉันลืมนำเหล่านั้นมา)

สรรพนามเกี่ยวกับการถาม (Interrogative Pronouns)
เป็นคำสรรพนามที่ใช้ในการถาม ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นประธานหรือกรรมของประโยคก็ได้ ได้แก่สรรพนามพวก who, whom, whose, which, และ what
พิจารณาตัวอย่างประโยค
• “Who is coming to the party tonight?” (เป็นประธาน)
• “So, which will it be: $10,000, or a new sports car?” (เป็นกรรม)
• “Could you tell me whose these are?” (เป็นประธาน)
• “Do you know what we’re doing here?” (เป็นกรรม)

สรรพนามเกี่ยวกับการเชื่อมความสัมพันธ์ภายในประโยค (Relative Pronouns)
คำว่า Relative Pronouns หมายถึง สรรพนามที่ใช้เพื่อเชื่อมโยงกับ relative clauses (ที่เรียกว่า adjective clauses) พูดง่าย ๆ ก็คือ Relative Pronouns คือ คำที่ใช้เชื่อมระหว่างประโยคย่อยกับประโยคหลักนั่นเอง โดยที่ประโยคย่อย(relative clauses) หมายถึง ส่วนที่ขยายหรือบอกข้อมูลเพิ่มเติม
ถ้าข้อมูลเพิ่มเติมนั้นมีความจำเป็นต้องระบุ เราเรียกว่า Restrictive clauses
ถ้าข้อมูลที่เพิ่มเติมนั้น ไม่ถือว่าเป็นส่วนสำคัญ เราเรียกว่า Non-restrictive clauses
Relative Pronouns จะทำหน้าที่ออกเป็น 3 ลักษณะดังนี้
1. เป็นประธาน (Subject) ของประโยคย่อย
2. เป็นกรรม (Object) ของกริยาในประโยคย่อย
3. เป็นตัวบอกแสดงความเป็นเจ้าของ (possessive determiner)

พิจารณาตัวอย่างประโยค ประกอบคำอธิบาย
• “There’s the woman who always sits next to me on the bus.”
(มีผู้หญิงคนนั้น ผู้ซึ่งนั่งถัดจากฉันเสมอบนรถประจำทาง)
คำว่า who (ผู้ซึ่ง) ทำหน้าที่เป็นประธานของประโยคย่อย
ประโยคย่อย(relative clauses) ในที่นี้ คือ who always sits next to me on the bus
และ ประโยคย่อยในที่นี้เป็น restrictive clause (ส่วนที่จำเป็นต้องระบุ)
ประโยคหลัก คือ There’s the woman (มีผู้หญิงคนนั้น)
ประโยครอง(ย่อย) คือ who always sits next to me on the bus (ผู้ซึ่งนั่งถัดไปจากฉันเสมอบนรถประจำทาง)
กรณีนี้ เราเรียก who ว่าเป็น Relative Pronouns และทำหน้าที่เป็นประธานของ relative clauses
(สำหรับเนื้อหาที่เกี่ยวกับ clauses คืออะไร มีกี่ชนิด ผมจะเขียนแยกไว้อีกบทครับ)

พิจารณาตัวอย่างประโยค ประกอบคำอธิบาย
• “The book that I wrote is being published in January.”
(หนังสือเล่มที่ฉันได้เขียน จะถูกตีพิมพ์ในเดือนมกราคม)
คำว่า that เป็น Relative Pronouns  ซึ่ง that ใช้แทนสิ่งของ แปลว่า อันที่ หรือ อันซึ่ง
และ that ในประโยคนี้ ทำหน้าที่เป็นกรรม ของกริยา wrote และจัดเป็น restrictive clause
นักศึกษาลองพิจารณาประโยคเดิม เป็นแบบนี้
• “The book is being published in January.”
(หนังสือเล่มนั้นจะถูกตีพิมพ์ในเดือนมกราคม)
ประโยคใหม่
• “The book [that I wrote] is being published in January.”
(หนังสือเล่มที่ฉันได้เขียน จะถูกตีพิมพ์ในเดือนมกราคม)
จะเห็นได้ว่า that I wrote (ที่ฉันได้เขียน) เป็นประโยคย่อย that จึงเป็นกรรมของกริยา wrote
สำหรับส่วนกริยาหลักของประโยคนี้ คือ is being published
(หวังว่าคงไม่สับส่วนนะครับ ว่า กริยาตัวไหนเป็นกริยาของประโยคย่อย หรือ ตัวไหนเป็นกริยาของประโยคหลัก)

พิจารณาตัวอย่างประโยค ประกอบคำอธิบาย
• “The escaped giraffe, which had been on the loose for weeks, was finally captured.”
(ยีราฟตัวที่ได้หนีไป ,ตัวที่ได้หลบหนีไปนานหลายสัปดาห์, ในที่สุดถูกจับได้แล้ว)
นักศึกษาลองพิจารณาประโยคเดิม เป็นแบบนี้
• “The escaped giraffe was finally captured.”
(ยีราฟที่หนีไปนั้น ถูกจับได้แล้วในที่สุด)
ประโยคใหม่
• “The escaped giraffe, which had been on the loose for weeks, was finally captured.”
มีประโยคย่อยที่เพิ่มเข้ามาคือ which had been on the loose for weeks (ซึ่งได้หลบหนีไปนานหลายสัปดาห์)
กรณีนี้ which (อันซึ่ง) ทำหน้าที่เป็นประธานของประโยคย่อย
และ which had been on the loose for weeks เราถือว่าเป็น non-restrictive clause หรือ ประโยคย่อยที่มีหรือไม่มีก็ได้ ก็เพราะว่า รูปประโยคเดิมก็มีความหมายสมบูรณ์แล้ว กรณีนี้ ประโยคย่อยเป็นเพียงส่วนที่เพิ่มเติมเข้ามา ไม่มีก็ได้ ซึ่งต่างจากประโยคที่ผ่านมา ถ้าไม่มี จะทำให้ความหมายของโประโยคไม่สมบูรณ์

สรรพนามที่ใช้แทนประธานหลายคนและรับผลจากกริยาเหมือนกัน (Reciprocal pronouns)
คำว่า Reciprocal pronouns เราจะใช้ในกรณีที่คนทั้ง 2 หรือมากกว่านั้น ทำหน้าที่เป็นประธานและเป็นกรรมของกริยาเช่นเดียวกัน ซึ่ง Reciprocal pronouns สามารถเป็นได้ทั้งกรรมของกริยา หรือกรรมของบุพบทก็ได้
พิจารณาตัวอย่างประโยค ประกอบคำอธิบาย
• “Jake and I call each other every day.”
(Jakeและฉัน โทรหาซึ่งกันและกันทุกวัน)
เราจะเป็นว่า สรรพนาม each other ใช้แทน Jake and I และทำหน้าที่เป็นกรรมของกริยา call ทั้งคู่

สรรพนามที่ไม่มีการอ้างถึงคำนามอื่น (Dummy Pronouns)
โดยทั่วไปแล้วคำว่า Dummy Pronouns เราเรียกว่า expletive  pronouns ถือว่าเป็นคำสรรพนามเพียงแต่ไม่มีการอ้างถึงคำนามที่มีอยู่ก่อน(Antecedents) และไม่ได้ใช้แทนคำนาม วลี หรือ ประโยคย่อย ดังนั้นสรรพนามชนิดนี้จึงไม่ได้อ้างถึงสิ่งใดโดยเฉพาะ เป็นเพียงคำช่วยให้ประโยคมีความสมบูรณ์ในเชิงไวยากรณ์เท่านั้นครับ
พิจารณาตัวอย่างประโยค ประกอบคำอธิบาย
• “There is a ship in the harbor.”
(มีเรือลำหนึ่งในท่าเรือ)
• “There were flowers in the meadow.”
(มีดอกไม้ในทุ่งหญ้า)
• “It looks like it may snow tonight.”
(มันดูเหมือนว่าหิมะอาจจะตกคืนนี้)
• “Could you tell me what time it is?”
(คุณช่วยบอกฉันได้ไหมว่าเป็นเวลากี่นาฬิกา)
เราจะเห็นได้ว่าจากประโยคทั้งหมดที่ผมยกมานั้น คำสรรพนาม there และ it ไม่ได้ใช้แทนสิ่งใด เราเรียกว่า คำสรรพนามสมมุตินั่นเองครับ

สำหรับโพสท์นี้ เป็นเพียงการกล่าวย่อ ๆ ของคำสรรพนามเท่านั้น นะครับ สำหรับโพสท์ถัดไปผมก็จะลงรายละเอียดเรื่องคำสรรพนามแต่ละประเภทที่กล่าวมา นักศึกษาจำเป็นต้องจำคำศัพท์ที่สำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ดี มีอยู่หลายคำ เช่น
  • Antecedent
  • Personal Pronouns
  • Reflexive Pronouns
  • Intensive Pronouns 
  • Indefinite Pronouns 
  • Demonstrative Pronouns 
  • Interrogative Pronouns 
  • Relative Pronouns 
  •      - Relative clauses
  •      - Restrictive clauses
  •      - Non-restrictive clauses
  • Reciprocal Pronouns 
  • Dummy Pronouns

ขอให้ทุกคนโชคดี สวัสดีครับ

เรียบเรียงโดย
  • ติวเตอร์แบงค์
  • สถาบันติว PERFECT ซ.รามคำแหง 43/1
  • ติวเตอร์ประจำวิชา ENG, ENS, CEN2101, CEN2102, APR2101
  • ติดต่อติวเตอร์ โทร. 081-7269394 Line ID : sjbank
เอกสารอ้างอิง
  1. Brinton, Laurel J. & Donna M. Brinton. 2010. The linguistic structure of Modern English, 2nd edn. Amsterdam: John Benjamins Publishing Company.
  2. Hopper, Paul J. 1999. A short course in grammar. New York: W. W. Norton & Company.
  3. Huddleston, Rodney. 1984. Introduction to the grammar of English. Cambridge: Cambridge University Press.
  4. Raymond Murphy. 2019. English Grammar in Use, Cambridge University Press; 5 edition (24 Jan. 2019).
ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด 3 ธ.ค. 2562