สวัสดีครับนักศึกษาทุกคน โพสท์ที่แล้ว ผมแค่พูดถึงหัวข้อสำคัญ ๆ เกี่ยวกับคำสรรพนาม(Pronouns) และมีตัวอย่างประกอบเพียงเบื้องต้น แต่หลังจากนี้ก็จะเป็นรายละเอียดลึกลงไปในแต่ละหัวข้อ โปรดตั้งใจอ่านดี ๆ นะครับ หลายครั้งผมมักจะใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษ เพราะไม่สามารถหาคำในภาษาไทยที่ให้ความหมายตรงกับภาษาอังกฤษ เช่น คำว่า Personal Pronouns เราจะแปลว่า คำสรรพนามที่ใช้แทนคน มันก็ผิด เพราะว่า Personal Pronouns มันไม่ได้ใช้แทนคนได้อย่างเดียว แทนสัตว์ได้ แทนสิ่งที่ไม่ใช่คนได้ด้วย มันมีกรณีพิเศษอีกมากมาย เป็นต้นครับ

สรรพนามเกี่ยวกับบุคคล (Personal Pronouns)

นิยาม
Personal Pronouns คือ คำที่ทำหน้าที่แทนคำนามในประโยค โดยปกติแล้ว Personal Pronouns มักจะใช้แทนบุคคลจริง ขณะเดียวกันยังสามารถใช้แทนสัตว์ สิ่งที่ไม่มีชีวิต หรือใช้แทนพวกแนวคิดซึ่งเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ (intangible concepts) ยกตัวอย่างคำว่า they (พวกเขา) ใช้แทนบุคคลที่ 3 ที่เป็นพหูพจน์ ที่ไม่ระบุเพศ
พิจารณาประโยคต่อไปนี้
• “As soon as John comes home, I am going to give him back his hat.”
(ทันทีที่ จอห์นมาที่บ้าน ฉันจะให้หมวกของเขาคืนแก่เขาไป)
• “My  team lost again. We really stink this year!”
(ทีมของฉันแพ้อีกแล้ว พวกเรามีผลงานแย่จริง ๆ ปีนี้)
• “He spoke to the boss yesterday and already got her approval.”
(เมื่อวานเขาได้พูดกับหัวหน้า และได้รับความเห็นชอบของหล่อนเรียบร้อย)
จากตัวอย่างประโยคเราจะพบว่า Personal Pronouns จะเปลี่ยนรูปที่แปรผันไปตาม
1. จำนวน (เอกพจน์ หรือ พหูพจน์)
2. บุคคล(ฝ่าย) (บุคคล(ฝ่าย)ที่ 1 , 2, หรือ 3)
3. เพศ (ชาย หญิง กลาง(ไม่ระบุเพศ))
4. การทำหน้าที่ของคำ(case) แบ่งออกเป็น (Subjective(ประธาน), Objective(กรรม), Possessive(เจ้าของ))
การเปลี่ยนรูปแบบไปตามบริบทต่าง ๆ ในทางไวยากรณ์นั้น เราเรียกว่า inflection

มีคำสรรพนามชนิดที่แตกต่างออกไป ที่เรียกว่า Reflexive Pronoun ที่นำมาใช้เมื่อ ประธานและกรรม เป็นคนเดียวกัน
พิจารณาประโยคต่อไปนี้
• “He looked at himself in the mirror before he left.”
(เขาได้มองตัวเขาเองในกระจกก่อนออกไป)  himself เป็นกรรมของกริยา looked และหมายถึงประธาน
• “I hurt myself on the playground today.”
(ฉันทำตัวฉันเองบาดเจ็บ ในสนามวันนี้) myself เป็นกรรมของกริยา hurt และหมายถึงประธาน
ในทางเทคนิคไม่เป็น Personal Pronouns แต่ว่า Reflexive Pronoun เป็นรูปที่เหมือนมากและใช้นำมารวมในกลุ่มนี้

เราจะมาดูการแจกแจง Personal Pronouns ดังตารางต่อไปนี้ ครับ

Person
Number
Gender
Subjective Case
Objective Case
Possessive Determiners
Possessive Pronouns
บุรุษที่ 1
เอกพจน์
ชาย/หญิง
I
Me
My
Mine
บุรุษที่ 1
พหูพจน์
ชาย/หญิง
We
Us
Our
Ours
บุรุษที่ 2
เอกพจน์/พหูพจน์
ชาย/หญิง
You
You
Your
Yours
บุรุษที่ 3
เอกพจน์
หญิง
She
Her
Her
Hers
บุรุษที่ 3
เอกพจน์
ชาย
He
Him
His
His
บุรุษที่ 3
เอกพจน์
กลาง
It
It
Its
Its
บุรุษที่ 3
พหูพจน์
กลาง
They
Them
Their
Theirs

คำอธิบายจากตาราง
1. คำว่า Person ในทางไวยากรณ์ เราหมายถึง "ฝ่าย" ในการสนทนาหรือสื่อสาร ไม่จำเป็นจะต้องหมายถึงคนเสมอไป โดย Person เราจะแบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย ซึ่งได้แก่
1. ฝ่ายที่หนึ่ง (first-person) เราหมายถึง ฝ่ายที่เป็นตัวผู้พูด (speaker)
2. ฝ่ายที่สอง (second-person) เราหมายถึง ฝ่ายที่เรากำลังพูดด้วย (addressee)
3. ฝ่ายที่สาม (third-person) เราหมายถึง ฝ่ายอื่นที่ผู้พูดกล่าวถึง (others beyond that)
ในตำราภาษาไทย แบ่งออกเป็น บุรุษที่ 1 บุรุษที่ 2 และบุรุษที่ 3 แต่นักเรียนมักเข้าใจผิดว่า บุรุษ แปลว่าเพศชาย ผมจึงไม่ใช้คำนี้ครับ
ในขณะเดียวกัน ถ้าใช้คำว่า บุคคลที่ 1 บุคคลที่ 2 และ บุคคลที่ 3 นักเรียนก็จะเข้าใจผิดอีกว่าหมายถึงแต่คน ผมจึงตัดคำพวกนี้ไป
เพื่อป้องกันความกำกวมในการตีความและเข้าใจที่ถูกต้อง จำใช้คำว่า "ฝ่าย" ในตำราภาษาอังกฤษบางตำราจะใช้คำว่า participant แปลว่า ฝ่าย เช่นเดียวกันครับ
***ต้องขออภัย หากผมนิยามผิด เพราะความรู้ภาษาไทยยังไม่ลึกซึ้งสักเท่าไร

2. จำนวนของฝ่ายแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ เอกพจน์(หนึ่ง) กับ พหูพจน์ (มากกว่าหนึ่ง)

3. คำว่า Gender ในภาษาอังกฤษ เราหมายถึง สถานภาพเกี่ยวกับเพศ มีความหมายต่างจากคำว่า Sex ซึ่งหมายถึงแบ่งตามลักษณะอวัยวะเพศ โดยที่ Sex จะแบ่งออกเป็น male(ชาย) กับ female(หญิง)
แต่ คำว่า Gender แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1. สถานภาพที่เป็นเพศหญิง หรือ เรียกว่า Feminine
2. สถานภาพที่เป็นเพศชาย หรือ เรียกว่า Masculine
3. สถานภาพที่เป็นเพศกลาง หรือ เรียกว่า Neuter (Gender Neutral)*
สำหรับคำว่า Neuter เราหมายถึง สิ่งที่ไม่แบ่งเป็นเพศ เช่น สิ่งของ หรือ หมายถึงคนที่เราไม่สามารถระบุเพศได้ชัด เราจะเห็นได้ว่าในภาษาอังกฤษ เมื่อกล่าวถึงฝ่ายที่ 3 รูปพหูพจน์ จะใช้ They แทน

4. คำว่า Case เราหมายถึง การทำหน้าที่ของคำในประโยค แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ
1. ทำหน้าที่เป็นประธาน เราเรียกว่า Subjective Case
2. ทำหน้าที่เป็นกรรม เราเรียกว่า Objective Case
*ในภาษาอื่นอาจจะมีการแบ่ง Case มากกว่านี้ เช่น ภาษารัสเซียจะแบ่งออกเป็น 6 Case

5. คำว่าสรรพนามแสดงความเป็นเจ้าของ (Possessive Case) เราแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. คำคุณศัพท์แสดงความเป็นเจ้าของ หรือเรียกว่า Possessive Determiners
2. คำสรรพนามแสดงความเป็นเจ้าของ หรือเรียกว่า Possessive Pronouns

สรรพนามเกี่ยวกับบุคคล (Personal Pronouns) เรื่อง จำนวน

เมื่อเราพูดถึงจำนวนในทางไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสิ่งของ แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ เอกพจน์ (singular) หรือ พหูพจน์ (plural) และเราสามารถตอบได้ว่าคำนามที่เราใช้แทนนั้นเป็นเอกพจน์หรือพหูพจน์ได้โดยดูจากคำสรรพนาม
โดยปกติแล้ว คำนามทั่วไป เราสามารถเปลี่ยนเป็นรูปพหูพจน์ได้โดยการเติม "-s" แต่คำสรรพนามนั้นจะเปลี่ยนรูปที่มีลักษณะเฉพาะ ไม่มีกฎตายตัว ดังนั้น นักศึกษาต้องอาศัยความจำอย่างเดียวครับ

พิจารณาตัวอย่างประโยคต่อไปนี้
• “I am meeting my writing club this afternoon. We always meet on Wednesdays after class.”
(ฉันจะพบปะชมรมการเขียนของฉันในบ่ายนี้ พวกเราพบปะกันเสมอในวันพุธหลังจากเลิกเรียน)
I (ฉัน) ใช้แทนฝ่ายที่ 1 รูปเอกพจน์
my (ของฉัน) ใช้แทนฝ่ายที่ 1 รูปเอกพจน์
We (พวกเรา) ใช้แทนฝ่ายที่ 1 รูปพหูพจน์

พิจารณาตัวอย่างประโยคต่อไปนี้
• “I really envy you!” (ฉันอิจฉาคุณจริง ๆ!)
I (ฉัน) ใช้แทนฝ่ายที่ 1 รูปเอกพจน์
you (คุณ) ใช้แทนฝ่ายที่ 2 รูปเอกพจน์

พิจารณาตัวอย่างประโยคต่อไปนี้
• “They can’t tell you what it will be like; you will  just  have to  find out  for yourselves.”
(พวกเขาไม่สามารถบอกพวกคุณว่ามันจะเหมือนอะไร พวกคุณจะต้องหาคำตอบด้วยตัวของพวกคุณเอง)
They (พวกเขา) ใช้แทนฝ่ายที่ 3 รูปพหูพจน์
you (พวกคุณ)  ใช้แทนฝ่ายที่ 2 รูปพหูพจน์
yourselves (ด้วยตัวพวกคุณเอง) ใช้แทนฝ่ายที่ 2 รูปพหูพจน์ ในลักษณะเน้นย้ำ(Reflexive)

พิจารณาตัวอย่างประโยคต่อไปนี้
• “The main reason Martha is so beautiful is because she is so tall.”
(เหตุผลหลักที่ Martha เป็นคนสวยมาก เป็นเพราะว่าหล่อนเป็นคนที่สูงมาก)
she (หล่อน) ใช้แทนฝ่ายที่ 3 รูปเอกพจน์

สำหรับโพสท์นี้ จะขยายความเรื่องคำสรรพนามไว้เพียงแค่นี้ก่อน โปรดติดตามตอนต่อไป สวัสดีครับ

เรียบเรียงโดย
  • ติวเตอร์แบงค์
  • สถาบันติว PERFECT ซ.รามคำแหง 43/1
  • ติวเตอร์ประจำวิชา ENG, ENS, CEN2101, CEN2102, APR2101
  • ติดต่อติวเตอร์ โทร. 081-7269394 Line ID : sjbank
เอกสารอ้างอิง
  1. Brinton, Laurel J. & Donna M. Brinton. 2010. The linguistic structure of Modern English, 2nd edn. Amsterdam: John Benjamins Publishing Company.
  2. Hopper, Paul J. 1999. A short course in grammar. New York: W. W. Norton & Company.
  3. Huddleston, Rodney. 1984. Introduction to the grammar of English. Cambridge: Cambridge University Press.
  4. Raymond Murphy. 2019. English Grammar in Use, Cambridge University Press; 5 edition (24 Jan. 2019).
ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด 4 ธ.ค. 2562